รฟม. ตัดหน้า BTS หั่นราคาสาย “สีน้ำเงิน-สีม่วง” ผุดตั๋วเที่ยวเก็บสูงสุด 54 บาท

รฟม. ผนึก BEM ออกจัดโปรโมชั่นสาย ”สีน้ำเงิน-สีม่วง“ ขายบัตรจำกัดเที่ยว 30 วัน ผุดบัตรเชื่อม 2 ระบบ ไม่เก็บค่าแรกเข้า จ่ายสูงสุด 54 บาท เริ่มวันที่ 1 มี.ค.นี้ โต้บลัฟค่าตั๋วสายสีเขียว 15-104 บาท จะเก็บ 16 ก.พ.นี้

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า วันที่ 20 ม.ค. 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) มีนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เป็นประธาน ให้ความเห็นชอบการออกบัตรโดยสารรถไฟฟ้าแบบจำกัดเที่ยวและจำกัดวันใช้ในเวลา 30 วันที่ได้พิจารณาร่วมกับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ผู้รับสัมปทาน สำหรับใช้เฉพาะสายสีน้ำเงินและบัตรโดยสารร่วมสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) หรือบัตร Multiline Pass

ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ

เริ่มใช้ 1 มี.ค. 2564

“จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2564 เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน เป็นทางเลือกในการเดินทางและเป็นสิ่งที่ผู้ใช้บริการเรียกร้องมานานแล้ว ตั้งแต่ที่มีการยกเลิกไปเมื่อเดือน ก.ย. ปี 2560”

สำหรับสายสีน้ำเงิน มีบัตรโดยสารแบบจำนวน 15 เที่ยว 30 วัน ราคา 450 บาท, จำนวน 25 เที่ยว 30 วัน ราคา 700 บาท, จำนวน 40 เที่ยว 30 วัน ราคา 1,040 บาท และจำนวน 50 เที่ยว 30 วัน ราคา 1,250 บาท

ผุดบัตรโดยสารเชื่อมสีม่วง-น้ำเงิน

ส่วนบัตร Multiline Pass เดินทางข้ามระบบสายสีน้ำเงินกับสายสีม่วง มีจำนวน 15 เที่ยว 30 วัน ราคา 810 บาท, จำนวน 25 เที่ยว 30 วัน ราคา 1,300 บาท, จำนวน 40 เที่ยวโดยสาร 40 เที่ยว 30 วัน ราคา 2,000 บาท และจำนวน 50 เที่ยว 30 วัน ราคา 2,250 บาท

“บัตรโดยสารทุกชนิดราคาใช้เดินทางภายใน 30 วัน นับจากวันที่ใช้เดินทางครั้งแรกตามประเภทของเที่ยวโดยสารแต่ละชนิด และต้องใช้เดินทางครั้งแรกภายใน 45 วันนับจากวันที่เติมเที่ยวโดยสาร หากพ้นกำหนดจะไม่สามารถใช้เดินทางได้ และเที่ยวโดยสารไม่สามารถเปลี่ยนหรือขอคืนเป็นเงินสดได้”

ไม่เก็บค่าแรกเข้าจ่ายสูงสุด 54 บาท

ทั้งนี้ รฟม.มีความเชื่อมั่นว่ามาตรการดังกล่าวจะจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงเพิ่มขึ้น เนื่องจากประชาชนจะใช้จ่ายค่าโดยสารลดลง อย่างเช่นคนที่ไม่ได้ซื้อบัตรโดยสารดังกล่าว รฟม.จะรับภาระค่าแรกเข้าให้ 14 บาท สำหรับคนนั่งสายสีม่วงต่อสีน้ำเงิน จะเสียสูงสุด 70 บาท หากใช้บัตรโดยสารดังกล่าว ราคาเฉลี่ยต่อเที่ยวจะถูกลงเช่นกัน โดย 50 เที่ยวราคาสูงสุดอยู่ที่ 54 บาท/เที่ยว

“การออกบัตรโดยสารดังกล่าวจะกระทบต่อรายได้ทั้ง รฟม. และ BEM บ้าง เพราะหลังเกิดโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้ปริมาณผู้โดยสารลดลง จากช่วงเวลาปกติมีผู้โดสารใช้บริการสายสีน้ำเงินเฉลี่ย 390,000-400,000 เที่ยวคนต่อวัน ปัจจุบันเหลืออยู่ที่ 170,000-180,000 เที่ยวคนต่อวัน ขณะที่สายสีม่วงจาก 60,000 เที่ยวคนต่อวัน เหลืออยู่ที่ 30,000 เที่ยวคนต่อวัน และมีบางวันไม่ถึง 10,000 เที่ยวคนต่อวัน”

โต้ออกโปรโมชั่นบลัฟสายสีเขียว

อย่างไรก็ตาม การจัดโปรโมชั่นสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงในช่วงระยะเวลาดังกล่าวไม่ได้เป็นการลดราคาแข่งกับสายสีเขียวที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะเก็บอัตราค่าโดยสารใหม่ เริ่มต้น 15-104 บาทวันที่ 16 ก.พ. 2564 นี้ เนื่องจากบัตรโดยสารดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผู้โดยสารเรียกร้องและใช้หลักการคิดตามที่เคยออกโปรโมชั่นเมื่อปี 2558

นายภคพงศ์กล่าวอีกว่า อัตราค่าโดยสารของสายสีน้ำเงินหลังบอร์ดอนุมัติแล้ว จะออกประกาศให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้า 30 วัน ซึ่งก่อนหน้านี้ รฟม.ได้แจ้งของสายสีม่วงที่จะเริ่มใช้วันที่ 1 ก.พ. 2564 ไปแล้ว

ได้แก่ เที่ยวโดยสาร 15 เที่ยว 30 วัน ราคา 450 บาท เที่ยวโดยสาร 25 เที่ยว 30 วัน ราคา 700 บาท เที่ยวโดยสาร 40 เที่ยว 30 วัน ราคา 1,040 บาท เที่ยวโดยสาร 50 เที่ยว 30 วัน ราคา 1,100 บาท เที่ยวโดยสาร 60 เที่ยว 60 วัน ราคา 1,200 บาท

เทียบชัด ๆ ระยะทาง-สถานีสีม่วง-น้ำเงิน-เขียว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับสายสีน้ำเงินมีระยะทาง 48 กม. จำนวน 38 สถานี ค่าโดยสารปัจจุบันเก็บ 17-42 บาท สายสีม่วงระยะทาง 23 กม. จำนวน 16 สถานี ค่าโดยสาร 14-42 บาท

ส่วนสายสีเขียวมีระยะทาง 68.25 กม. จำนวน 59 สถานี ค่าโดยสารใหม่ 15-104 บาท แยกเป็นส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต จำนวน 16 สถานี ราคา 15-45 บาท

ช่วงสัมปทานสถานีหมอชิต-อ่อนนุช – และสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ – สะพานตากสิน 23 สถานีและกรุงธนบุรี – วงเวียนใหญ่จำนวน 2 สถานี เก็บปกติ 16-44 บาท

ส่วนต่อขยายช่วงสถานีบางจาก – สถานีแบริ่ง -สมุทรปราการ จำนวน 13 สถานี ราคา 15-45 บาท และช่วงสถานีโพธิ์นิมิตร – บางหว้า จำนวน 4 สถานี 15-24 บาท

เทียบราคาตั๋วเที่ยวบีทีเอส

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมบอร์ดทาง รฟม.ได้มีการทำตารางเปรียบเทียบระหว่างบัตรโดยสารจำกัดเที่ยวของสายสีน้ำเงินกับบัตรโดยสารบีทีเอส (Adult Plass) โดยระบุว่าสายสีน้ำเงินจะถูกกว่าและใช้เดินทางในสายสีน้ำเงินได้ตลอดสาย แต่บัตรโดยสารบีทีเอสใช้ได้เฉพาะส่วนที่เป็นสัมปทานเดิม 23.5 กม. ไม่สามารถใช้กับส่วนต่อขยายได้

โดยสายสีน้ำเงิน จำนวน 15 เที่ยว ราคา 450 บาท ราคาอยู่ที่ 30 บาทต่อเที่ยว บีทีเอสราคา 465 บาท อยู่ที่ 31 บาทต่อเที่ยว

จำนวน 25 เที่ยว สายสีน้ำเงิน ราคา 700 บาท ราคา 28 บาทต่อเที่ยว บีทีเอส 725 บาท อยู่ที่ 29 บาทต่อเที่ยว

จำนวน 40 เที่ยว สายสีน้ำเงิน ราคา 1,040 บาท ราคา 26 บาทต่อเที่ยว บีทีเอส 1,080 บาท ราคา 27 บาทต่อเที่ยว

จำนวน 50 เที่ยว สายสีน้ำเงิน ราคา 1,250 บาท ราคา 25 บาทต่อเที่ยว บีทีเอส ราคา 1,300 บาท ราคา 26 บาทต่อเที่ยว