“ถนนรัชดาภิเษกโฉมใหม่” ลดอุบัติเหตุโค้ง 100 ศพ หน้าศาลอาญา

ถนนรัชดาภิเษก

กทม. ปรับปรุง “ถนนรัชดาภิเษก” ใหม่ หวังลดอุบัติเหตุช่วงโค้ง100 ศพ หน้าศาลอาญา ทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์ให้มีความสวยงาม ปรับปรุงผิวจราจร ตีเส้นจราจรให้มีความชัดเจน รวมถึงติดตั้งเพิ่มอุปกรณ์ความปลอดภั

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางสำนักการโยธากรุงเทพมหานคร(กทม.) อยู่ระหว่างปรับปรุงกายภาพถนนรัชดาภิเษก บริเวณช่วงโค้งถนนฝั่งหน้าศาลอาญา พื้นที่เขตจตุจักร หลังได้รับเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชน ซึ่งก่อให้เกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้งหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าโค้ง100ศพ

โดยเป็นการปรับปรุงแก้ไขลักษณะทางกายภาพของถนน ด้วยการดำเนินการปรับปรุงผิวจราจรและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าดำเนินการตีเส้นจราจรให้มีความชัดเจน เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนและลดการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางสัญจรให้กับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนในบริเวณดังกล่าว

นอกจากนี้ยังปรับปรุงคันหินและทางเท้าถนนรัชดาภิเษก ช่วงจากสถานีบริการน้ำมันเชลล์ ถึงสะพานข้ามคลองน้ำแก้ว เขตจตุจักร ระยะทาง 2 กม. ใช้งบประมาณ 20 กว่าล้านบาท เริ่มงานตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2563 จะสิ้นสุดสัญญาวันที่ 17 เม.ย2564

เป็นงานปรับปรุงคันหินและทางเท้าทั้งสองฝั่ง เหล็กกั้นรถ ทางลาดสำหรับคนพิการ เป็นต้น เพื่อจัดระเบียบทางเท้า ปรับปรุงภูมิทัศน์ให้มีความสวยงาม และมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย

ถนนรัชดาภิเษก

เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้สามารถรองรับการใช้งานสำหรับทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้เจ็บป่วย หรือผู้ที่มีความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันแตกต่างจากบุคคลทั่วไปด้วยข้อจำกัดทางร่างกายให้สามารถเดินทางสัญจรได้อย่างสะดวกและปลอดภัย

ปัจจุบันงานปรับปรุงคันหินและทางเท้าถนนรัชดาภิเษก คืบหน้าไปแล้วกว่า 80% คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ 100% ภายในช่วงต้นเดือน เม.ย.นี้

ถนนรัชดาภิเษก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเดือนต.ค.2563 ที่ผ่านมาทางคณะอนุกรรมการสาขาป้องกันอุบัติเหตุทางถนนและการเสียชีวิตวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ลงพื้นลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณโค้งศาลอาญา ร่วมกับกทม. โดยระบุว่าจากสถิติในรอบ 9 เดือน ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย 2563 เกิดอุบัติเหตุบนโค้งศาลอาญา 293 ครั้ง

เนื่องจากถนนรัชดาภิเษก มีขนาด 8 ช่องจราจร ไปกลับโดยในช่วงโค้งถัดจากอุโมงค์ทางลอดแยกรัชโยธิน ผ่านซอยรัชดา 36 ถึงซอยรัชดา 32 มีรัศมีโค้งกว้างมาก ความยาวร่วม 2 กม. และลักษณะของอุบัติเหตุส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในเวลากลางคืน ช่วงเวลาที่ทัศนวิสัยไม่ดี เช่น ขณะฝนตก

จากหลายปัจจัย อาทิ ทางโค้งรัชดาแบบโค้งหลังหก (Broken Back Curve) ,ไม่มีการยกโค้ง (Superelevation) ทำให้รถที่วิ่งเข้าสู่ทางโค้งด้วยความเร็วสูงกว่าความเร็วบังคับ, ขาดกลไกชะลอความเร็วของรถยนต์ (Traffic Calming) , พื้นผิวจราจรไม่เรียบ เป็นต้น