“ศักดิ์สยาม” เคาะ 3 ฟีดเดอร์ ปั้น “รังสิตโมเดล” เชื่อมสายสีแดง

“รังสิตโมเดล” ขึ้นรูป “ศักดิ์สยาม” เคาะ 3 เส้นทางฟีดเดอร์เชื่อมคน-สายสีแดง 3 จุดสำคัญ “ธัญบุรี – ธรรมศาสตร์ – แยก คปอ.”

วันที่ 14 กรกฎาคม 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เปิดเผยว่า คณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อ ได้พิจารณาโครงการจัดทำระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่รังสิตเพื่อเป็น Feeder ให้กับรถไฟฟ้าสายสีแดง 

โดยมีโครงการนำร่อง 3 เส้นทาง ประกอบด้วย สายสถานีรถไฟฟ้ารังสิต – ธัญญบุรีคลอง 7 สายสถานีรถไฟฟ้ารังสิต – ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และสายสถานีรถไฟฟ้ารังสิต – แยก คปอ. (เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว) ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม ในการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพื่อให้เป็นทางเลือกในการเดินทางเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล


โดยการทำช่องทางรถประจำทางแบบเฉพาะ (Buslane/Busway) ซึ่งจะทำให้รถประจำทางวิ่งได้อย่างต่อเนื่องลดปัญหาการจราจรติดขัด ลดการใช้พลังงาน และลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในเขตเมือง ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาถึงผลกระทบ ข้อดี – ข้อเสีย ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ และหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณาต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการและแผนการขนส่งและจราจร  (สนข.) เคยกล่าวว่า สถานีรังสิต ทางกระทรวงคมนาคมต้องการให้ออกแบบเป็นโมเดลต้นแบบ หรือ “รังสิตโมเดล”

โดยได้ขีดแนวไว้แล้ว 7 เส้นทาง คือ 1.ช่วงสถานีรังสิต-ฟิวเจอร์พาร์ค ระยะทาง 6 กม. 2.สถานีรังสิต-ฟิวเจอร์พาร์ค (ช่วงเร่งด่วน) ระยะทาง 3 กม. 3.ช่วงซอยเจริญชัย-สถานีรังสิต 4.ช่วงสถานีรังสิต-สถานี บขส.รังสิต 5.ช่วงสถานีหลักหก-แยกบางพูน 6.ช่วงซอยพหลโยธิน 87-สถานีรังสิต และ 7.ช่วงเลียบคลองเปรมประชากร-สถานีรังสิต

นายศักดิ์สยาม กล่าวเพิ่มเติมว่า พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการ แต่ละคณะ เตรียมความพร้อมก่อนการเปิดให้บริการเสมือนจริงในวันที่ 2 สิงหาคม 2564 โดยให้จัดทำเช็คลิสต์เพื่อตรวจสอบประเด็นความพร้อมที่ได้ดำเนินการไปทั้งหมด 

และในวันเปิดให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเสมือนจริงนั้น ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาถึงการใช้ประโยชน์ของพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ ทั้งในด้านการให้บริการฉีดวัคซีนแก่ประชาชน และด้านการให้บริการระบบรถไฟฟ้า ให้มีความเหมาะสม ลดผลกระทบ ทั้งด้านการจราจรที่จะเกิดขึ้น และด้านความสะดวกของประชาชน บนหลักการให้มีผลกระทบต่อประชาชนผู้มาใช้บริการให้น้อยที่สุด และให้เน้นด้านการประชาสัมพันธ์ รวมถึงการใช้สื่อ Social Media และสื่อสาธารณะทั้งภายในและภายนอกสถานี เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และให้ประชาชนรับทราบถึงข้อมูลในทุกมิติของการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงต่อไป