เปิดเส้นทางวงแหวนใหม่ พุทธมณฑลสาย3-ทางหลวง 304-ชัยนาท

กรมทางหลวงชนบทตัดถนนสายใหม่ “พุทธมณฑล สาย 3-ทางหลวงหมายเลข 340” แก้ปัญหาการจราจรโซนตะวันตก 3 จังหวัด “กทม.-เมืองนนท์-ปทุมฯ” ลดความแออัด ถ.กาญจนาภิเษก และเชื่อมโครงข่ายคมนาคมจาก ถ.บรมราชชนนี ถึง จ.ชัยนาท รองรับการเติบโตของเมือง เตรียมจัดประชาพิจารณ์พร้อมเปิดแนวเส้นทางละเอียดยิบ เผยทำคู่ขนานวงแหวนรอบ 3 ของกรมทางหลวง

นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นได้และสำรวจออกแบบรายละเอียดโครงการสำรวจออกแบบถนนต่อเชื่อม ถนนพุทธมณฑล สาย 3 กรุงเทพมหานคร (กทม.) ถึงทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 (ทล.340) จ.ปทุมธานี ระยะทาง 25.85 กม. มีเขตทางประมาณ 60 เมตร ขนาด 3 ช่องจราจรไป-กลับรวม 6 เลน

โดยได้ว่าจ้าง บจ.เอพซิลอน บจ.อินทิเกรเทด เอนจิเนียริ่ง คอนซัลแทนท์ และ บจ.ปัญญา คอนซัลแตนท์ เป็นผู้ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ภายใต้งบประมาณจำนวน 47.73 ล้านบาท กำหนดระยะเวลาศึกษาโครงการ 540 วัน เริ่มศึกษามาตั้งแต่เดือน มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จในเดือน ก.ย. 2565

แก้ปัญหาจราจรโซนตะวันตก

สาเหตุที่ต้องตัดถนนเส้นใหม่ เนื่องจากปัญหาการจราจรที่หนาแน่นในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วย กทม. นนทบุรี และปทุมธานี ซึ่งก่อนหน้านี้คณะกรรมาธิการการคมนาคม และกระทรวงคมนาคม ได้มีข้อเสนอแนะในการบรรเทาปัญหา และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและขนส่ง จากนั้นได้มอบหมายให้ ทช.พิจารณาดำเนินการเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมทางถนน

ขณะเดียวกันถนนสายนี้เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเมืองในอนาคต บรรเทาการจราจรบนถนนกาญจนาภิเษก (ทล.9) และเชื่อมต่อโครงข่ายการคมนาคมขนส่งถนนบรมราชชนนี (ทล.338) ถนนบางกรวย-ไทรน้อย (ทล.3215) และถนนบางบัวทอง-สุพรรณบุรี-ชัยนาท (ทล.340) รวมถึงถนนในความรับผิดชอบของ ทช. ในพื้นที่ จ.นนทบุรี และ จ.ปทุมธานี

นายปฐมกล่าวว่า ความคืบหน้าในการดำเนินการขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อกำหนดแนวเส้นทางที่เหมาะสม และการทำกิจกรรมการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งได้นำเสนอและปฐมนิเทศโครงการต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี และผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี รวมทั้งผู้บริหารส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แล้ว ขั้นตอนต่อจากนี้ไปจะได้นำเสนอต่อประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อไป

ทำคู่ขนานกับวงแหวน 3

นอกจากนี้ อธิบดี ทช.ระบุว่า ในส่วนของการผลักดันโครงการภายหลังการศึกษาแล้วเสร็จ จะต้องดูความคืบหน้าของการดำเนินโครงการของกรมทางหลวง (ทล.) ประกอบด้วย เนื่องจากทราบว่าทาง ทล.มีโครงการก่อสร้างวงแหวนรอบที่ 3 ระยะทาง 254 กม. วงเงินลงทุน 157,700 ล้านบาท เพื่อเชื่อมการเดินทางแนวเหนือ-ใต้ของเขต กทม.และปริมณฑล ซึ่งจะต้องถือว่าวงแหวนรอบที่ 3 เป็นเส้นทางหลักในการเดินทาง เหมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่ ขณะที่โครงการของ ทช.จะเป็นเหมือนเส้นเลือดฝอย เชื่อมการเดินทางในระดับรอง ดังนั้น นโยบายที่วางไว้ตอนนี้จะคู่ขนานไปกับการดำเนินโครงการวงแหวนที่ 3 ดังกล่าวด้วย

เปิดแนวเส้นทาง

นายปฐมกล่าวว่า รูปแบบของโครงการที่วางไว้คร่าว ๆ ขณะนี้ คือ เป็นถนนขนาด 6 เลน กำหนดเขตทางกว้างประมาณ 60-80 เมตร โดบถนนสายนี้จะครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วย กทม. 1 เขต คือ เขตทวีวัฒนา, จ.นนทบุรี ในพื้นที่ 4 อำเภอ คือ อ.บางกรวย บางใหญ่ ไทรน้อย และบางบัวทอง

ส่วน จ.ปทุมธานี 1 อำเภอ คือ อ.ลาดหลุมแก้ว แนวเส้นทางจะมีจุดเริ่มต้นที่ ถ.พุทธมณฑลสาย 3 บริเวณทางแยกจุดตัดกับ ถ.ศาลาธรรมสพน์ จากนั้นแนวเส้นทางจะตรงไปทางทิศเหนือ ข้ามทางรถไฟสายใต้ ข้ามคลองมหาสวัสดิ์ เข้าพื้นที่ จ.นนทบุรี มุ่งตรงไปทางทิศเหนือตัดกับแนวโครงการ ถ.นครอินทร์-ศาลายา จากนั้นตรงขึ้นไปอีกตัดกับมอเตอร์เวย์ สาย 81 ช่วงบางใหญ่-กาญจนบุรี ข้ามคลองประปามหาสวัสดิ์และคลองพระพิมล ไปตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3215 (บางกรวย-ไทรน้อย) ข้ามคลองลากค้อน เข้าพื้นที่ จ.ปทุมธานี ไปสิ้นสุดโครงการบริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 340 (บางบัวทอง-สุพรรณบุรี-ชัยนาท)

ดันวงแหวนรอบ 3 ปี’66

สำหรับโครงการวงแหวนรอบที่ 3 ที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของโครงการดังกล่าว แหล่งข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทล.มีแผนจะผลักดันด้านตะวันออก ระยะทาง 52 กม.ก่อน โดยขั้นตอนขณะนี้ศึกษาออกแบบความเป็นไปได้ของโครงการเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการนำเสนอโครงการ

คาดว่าจะเริ่มผลักดันจริงจังในปี 2566 เนื่องจากในช่วงปี 2564-2565 นี้ มีหลายโครงการของกรมที่ยังค้างรอการพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งโครงการทั้งหมดถูกเลื่อนการดำเนินการออกไปจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

เบื้องต้น ในฝั่งตะวันออกจะแบ่งการดำเนินการเป็น 2 ตอน ประกอบด้วย ส่วนแรก ระยะทาง 25 กม. ช่วงทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 305 (รังสิต-นครนายก)-บริเวณแขวงโคกแฝดในเขตลาดกระบัง กทม. แนวเส้นทางเริ่มต้นบริเวณทางหลวงหมายเลข 305 ประมาณ กม.25+850 ที่ ต.บึงสนั่น อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี

จากนั้นแนววิ่งมาทางทิศใต้ ผ่านพื้นที่ ต.บึงทองหลาง อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี และตัดทางหลวงหมายเลข 3312 (ถนนลำลูกกา ประมาณ กม.25+000) ที่ ต.บึงทองหลาง ทางด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้านทำเลทอง แล้วมุ่งหน้าลงไปทางทิศใต้ข้ามคลองหกวาสายล่าง เข้าสู่พื้นที่แขวงคลองสิบ เขตหนองจอก กรุงเทพฯ จากนั้นมุ่งลงไปทางทิศใต้ ผ่านแขวงคู้ฝั่งเหนือ เขตหนองจอก ข้ามคลองลำเจดีย์ คลองบึงแตงโม ตัดถนนมิตรไมตรี ข้ามคลองแสนแสบ เข้าสู่เขตพื้นที่แขวงโคกแฝด


และส่วนที่ 2 ช่วง ถ.สุวินทวงศ์-บางนา-ตราด ระยะทาง 27 กม. แนวเส้นทางเริ่มต้นจากจุดตัด ถ.สุวินทวงศ์ บริเวณ กม.ที่ 47+650 แขวงลำผักชี ทางด้านตะวันตกของหมู่บ้านซื่อตรง สุวินทวงศ์ ตัดผ่านถนนฉลองกรุง ทางด้านตะวันตกของชุมชนเคหะฉลองกรุง จากนั้นแนวมุ่งลงใต้ผ่านทางด้านตะวันออกของวัดลำพอง ผ่านแขวงทับยาว ตัดข้ามทางรถไฟ โดยห่างจากสถานีรถไฟหลวงแพ่ง มาทางทิศตะวันตก ประมาณ 2 กม. ข้ามคลองประเวศบุรีรมย์ ตัดถนนหลวงแพ่ง บริเวณบ่อตกปลานวลจันทร์ ทางด้านตะวันออกของสนามบินสุวรรณภูมิ ที่แขวงขุมทอง เขตลาดกระบัง ยกข้ามทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 บริเวณ กม.ที่ 23+900 ที่ ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ แล้ววิ่งขนานไปกับขอบพื้นที่ของสนามบินสุวรรณภูมิ และสิ้นสุดบริเวณทางหลวงหมายเลข 34 (บางนา-ตราด) กม.ที่ 23+850 ทางด้านตะวันตกของชุมชนอำเภอบางเสาธง