ทางหลวงทุ่ม 4.5 พันล้านต่อยอดมอเตอร์เวย์สาย 7 ถึงอู่ตะเภา สร้างปี 65

เชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา

ทางหลวงทุ่ม 4.5 พันล้านต่อยอดมอเตอร์เวย์สาย 7 เชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา เริ่มสร้างปี’65

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ว่าที่ร้อยตรีพิรุณ เหมะรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่ ครั้งที่ 2 (ปัจฉิมนิเทศโครงการ) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาของโครงการ รูปแบบรายละเอียดด้านวิศวกรรม มาตรการป้องกัน แก้ไข ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุม

ที่ปรึกษาโครงการได้นำเสนอผลสรุปการศึกษาของโครงการ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ลากเส้น 2 กม.ถึงอู่ตะเภา

แนวเส้นทางโครงการมีจุดเริ่มต้นโครงการจากทางมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 บริเวณด่านจัดเก็บค่าผ่านทางอู่ตะเภาผ่านพื้นที่ของกองพันปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน กรมทหารปืนใหญ่ กองพลนาวิกโยธิน และมีจุดสิ้นสุดโครงการที่แนวเขตทางเข้า-ออกสนามบินอู่ตะเภาแห่งใหม่ บริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) กม.189+500 รวมระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร

โดยได้มีการออกแบบเป็นทางแยกต่างระดับ เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 กับสนามบินอู่ตะเภา รวมถึงทางหลวงหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) ในบางทิศทาง

ADVERTISMENT

สำหรับรูปแบบทางแยกต่างระดับจะก่อสร้างเป็นทางแยกต่างระดับแบบ Semi-Directional with Loop Ramp โดย Semi-Directional Ramp จะรองรับการเดินทางจาก อ.สัตหีบเข้าสู่สนามบินอู่ตะเภา ส่วน Loop Ramp จะรองรับการเดินทางในทิศทางออกจากสนามบินอู่ตะเภาไป จ.ระยอง

และยังมีการก่อสร้าง On-Off Ramp อีกจำนวน 2 แห่ง เพื่อรองรับการเดินทางระหว่างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 กับทางหลวงหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) โดยสามารถเลี้ยวซ้ายได้อย่างอิสระด้วยการเชื่อมต่อระดับพื้นในทิศทางจาก อ.สัตหีบไปด่านจัดเก็บค่าผ่านทางอู่ตะเภา และทิศทางจากด่านจัดเก็บค่าผ่านทางอู่ตะเภาไป จ.ระยอง

ADVERTISMENT

สร้างปี’65 ใช้งบO 4.5 พันล้าน

ส่วนมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการจะกำหนดให้ผู้รับเหมาก่อสร้างปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันด้านต่าง ๆ ในระหว่างการก่อสร้างอย่างเคร่งครัด อาทิ การติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกด้านความปลอดภัย การติดตั้งป้ายเตือน การเพิ่มไฟส่องสว่างในบริเวณที่มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ เพื่อเพิ่มความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทางของผู้ใช้ทางในระหว่างการก่อสร้าง

ภายหลังจากการประชุมในครั้งนี้ กรมทางหลวงจะรวบรวมข้อมูล ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนเพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุงการออกแบบรายละเอียด และปรับปรุงมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งแผนปฏิบัติการด้านต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสม ประกอบการจัดทำรายงานสรุปผลการศึกษาของโครงการ

โดยกรมทางหลวงคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2565 และใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 4,508 ล้านบาท และคาดว่าสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2568