ศักดิ์สยาม ปักธง 2570 “ไฮสปีดเทรน-รถไฟทางคู่” ต้องถึงหนองคาย

“ศักดิ์สยาม” ปักธง 2570 ไฮสปีดเทรน-รถไฟทางคู่ ต้องถึงปลายทางที่หนองคาย

วันที่ 2 ธันวาคม 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.), กรมการขนส่งทางราง (ขร.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เดินทางไปที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อหารือและตรวจสอบข้อมูลการเดินรถของรถไฟความเร็วปานกลางช่วงเวียงจันทน์-บ่อเต็น ระยะทาง 414 กม.แล้ว

แต่ปัญหาที่เจอคือ ในประเทศลาวส่วนใหญ่ยังเป็นรถไฟทางเดี่ยวอยู่ และยังมีรอบวิ่งไม่มากเท่าใดนัก ส่วนการเขื่อมต่อกับโครงการรถไฟของประเทศไทย พบว่า เส้นทางรถไฟสายใหม่ดังกล่าวยังไม่ได้มาถึงบริเวณชายแดน ซึ่งปัจจุบันมีโครงการรถไฟทางไกลทางเดี่ยววิ่งอยู่แล้ว 1 เส้นทาง คือเส้นทางหนองคาย – ท่านาแล้ง ซึ่งก็ยังมีรอบวิ่งไม่มากนัก เพียงวันละ 2 เที่ยว (ไปกลับ) เท่านั้น

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแผนงานต่างๆ ประเทศไทยก็ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว โดยโครงการรถไฟความเร็วสูง ขณะนี้กำลังก่อสร้างช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท ส่วนรถไฟทางคู่ตอนนี้ทำถึง จ.ขอนแก่นแล้ว ในส่วนถัดไปจากขอนแก่น-หนองคาย 14 สถานี ระยะทางรวม 167 กม. วงเงิน 25,842 ล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ และคาดว่าในช่วงไตรมาส 2 ปี 2565 จะเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างได้

ขณะที่รถไฟความเร็วสูงส่วนต่อขยายช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กม. วงเงินลงทุนประมาณ 250,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างศึกษาเส้นทางและรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเสนอ ครม.พิจารณาในปี 2570 ทั้งนี้ คาดว่าภายในปี 2570 ทั้งรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงจะก่อสร้างแล้วเสร็จถึง จ.หนองคาย

นายศักดิ์สยามกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ได้สั่งการกรมทางหลวง (ทล.) สำรวจพื้นที่ชายแดน เพื่อจัดทำจุดขนถ่ายสินค้าชั่วคราวรองรับไว้ด้วย และได้เร่งให้มีการสำรวจออกแบบสะพานที่จะรับน้ำหนักรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงในอนาคตเพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันสะพานเดิม คือ สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) ใช้กับการเดินทางทั้งรถยนต์และรถไฟมานานแล้ว และรับน้ำหนักได้เพียง 15 ตัน/ตู้ จึงสั่งการให้หน่วยงานต่าง ๆ เร่งออกแบบสะพานใหม่ที่จะรองรับตู้สินค้าได้ถึง 30 ตัน/ตู้ แต่โครงการต่าง ๆ จะต้องดูให้ละเอียดก่อน และเน้นให้ไทยได้ประโยชน์สูงสุดเป็นหลัก