เศรษฐา ทวีสิน จุดพลุ “เขตเศรษฐกิจดิจิทัล” ภูเก็ต Asset Class

เศรษฐา ทวีสิน

เวทีสัมมนาแห่งปีหัวข้อ “สินทรัพย์ดิจิทัล Game Changer เดิมพันเปลี่ยนอนาคต” จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา มีแขกรับเชิญเป็นซีอีโอระดับประเทศ “เศรษฐา ทวีสิน” ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) โดยมี “หนุ่มเมืองจันท์-สรกล อดุลยานนท์” ร่วมสร้างสีสันในการชงคำถามและต่อยอดคำตอบบนเวที มีสาระสำคัญดังนี้

Q : เมื่อปีที่แล้วคุณเศรษฐาเคยประกาศว่า เป็นปีแห่งความหวัง ปี 2565 คือปีแห่งการปรับตัว มีที่มาอย่างไร

ปัญหาที่เราเจอมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโควิดหรือเศรษฐกิจถดถอย เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องมีการปรับตัว ใน 2 ปีที่ผ่านมา (2563-2564) โควิดเป็นปัญหาใหญ่ แต่ตอนนี้เราก็เข้าสู่ภาวะที่เรียกว่าคลี่คลายแล้ว ก็ต้องมีการปรับตัว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเรื่องของการปรับตัวเราต้องดูองค์รวมอื่น ๆ หลายอย่าง

ในธุรกิจที่เราอยู่ถือเป็นภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญ คืออสังหาริมทรัพย์ เพราะฉะนั้นการที่เราจะตัดสินใจทำอะไร ความรวดเร็ว ความฉับพลันในการตัดสินใจก็ยังเป็นเรื่องที่สำคัญอยู่ เพราะสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงตลอด ไม่ว่าจะเป็นการออกโปรโมชั่น การ work from home การที่รัฐบาลมีมาตรการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา รวมถึงนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปหลาย ๆ อย่าง ทั้งดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ปัญหาสังคม

เรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งที่เราคุยกัน 7 เดือนที่ผ่านมาคือ sustainability พลังงานบริสุทธิ์กับการที่เราจะต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมให้มากขึ้น แน่นอนว่าที่อยู่อาศัยเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เรื่องพวกนี้เยอะ เราทำอะไรต้องมีมาตรการที่จับต้องได้ มีไทม์ไลน์ที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น solar roof หรือ EV

เมื่อ 2 วันก่อนเห็นมีคนไปมอเตอร์โชว์มาแล้วบอกว่า EV ของ MG ขายไปตั้งหลายพันคัน เพราะมาตรการรัฐที่ออกมาอุดหนุน ทำให้ราคารถยนต์ถูกลงหลายแสนบาท ทำให้เข้าถึงได้ อันนี้เป็นเรื่องน่ายินดี เพราะฉะนั้นที่อยู่อาศัยเราก็ต้องปรับตัว เรื่อง EV charger ต้องมีความพร้อมให้กับที่อยู่อาศัย

เศรษฐา ทวีสิน
เศรษฐา ทวีสิน

Q : ทุกวันนี้ความเปลี่ยนแปลงมาแรงมาก ไม่ว่าจะเป็นโควิด สงครามรัสเซีย-ยูเครน มีมุมมองและการปรับตัวอย่างไร

เรื่องแรก ภาวะสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างเยอะมากพอสมควร โควิด ภาวะเศรษฐกิจ digital disruption ซึ่งโดยองค์รวมแล้วทำให้ภาพมันซับซ้อนขึ้น ปัญหาที่มีอยู่ในสังคมไทยก็มีอยู่เยอะ ไม่ว่าจะเป็นความเสมอภาค ความเท่าเทียม สิ่งเหล่านี้เป็นอะไรที่ยังขาดการดูแลเอาใจใส่ที่ชัดเจน เรื่องของความไม่เท่าเทียม เพศสภาพ ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ไม่ได้มีการหยิบยกมาพูด

Q : สินทรัพย์ดิจิทัลเป็น Game Changer ที่สำคัญ แสนสิริเข้ามาตรงไหนบ้าง

เราเข้า 2-3 เรื่อง เรื่องแรกนำคริปโตมาซื้อบ้านซึ่งก็เป็นที่กล่าวถึงเยอะพอสมควรเหมือนกัน เราเข้ามาเป็นเจ้าแรก ๆ แต่ต้องเรียนตรง ๆ ว่า มีลูกค้าเข้ามา 20 กว่าราย มีการทำจริง ๆ 13 ราย มูลค่าโครงการที่เราขายไปไม่ถึง 70 ล้านบาท จากยอดขายปีหนึ่ง 30,000 กว่าล้านบาท ถือว่าเป็นประเด็นเล็ก ทางการก็มีมาตรการออกมาว่า ห้าม

เมื่อกี้ทางผู้สื่อข่าวก็มีการถามว่า คุณเศรษฐาจะมีการผลักดันต่อไปไหม ผมไม่ผลักดันต่อหรอก ผมขายแค่ 70 ล้านบาท ถ้าไม่ทำตามกฎหมายผมก็ไม่ทำก็เท่านั้นเอง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผมก็ฝากไว้ว่า ได้ฟังท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (อาคม เติมพิทยาไพสิฐ) พูด เรื่องของการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาแลกเปลี่ยนซื้อขาย ยังไม่มีใครทำ ผมขอแย้งนะครับว่า มี อาจจะยังไม่แพร่หลาย

ผมว่า สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นแอสเสตคลาส ซึ่งมีการใช้อย่างถูกต้องในหลายประเทศ ได้รับการยอมรับ แต่ถ้าประเทศเรายังต้องมีกฎเกณฑ์ มีข้อบังคับก็ต้องว่ากันไป ทางผู้ประกอบการทั้งหลายผมเชื่อว่าก็ยินดีให้ความร่วมมือ เป็นอะไรที่เราต้องทำ

เรื่องที่ 2 คือการออกหุ้นกู้ดิจิทัล ในอดีตคนที่ซื้อหุ้นกู้ต้องมีเงินเยอะ ลอตหนึ่งที่จะซื้อก็ต้องมีเงิน 1 แสนบาท ต้องไปล็อกตามสาขาธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ หุ้นกู้ดี ๆ ที่มีความต้องการสูงก็ถูกล็อกอยู่ในมือของขาใหญ่ค่อนข้างเยอะ ก็เกิดความไม่เท่าเทียม ความไม่เสมอภาค คนอยากถือหุ้นกู้ของหลาย ๆ บริษัทก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ เพราะหุ้นกู้ได้ดอกเบี้ยสูงกว่าฝากธนาคาร ความมั่นคงหรือการเปิดเผยข้อมูลมีความชัดเจน รูปแบบเก่ารายใหญ่ได้เท่านั้น วงเงินซื้อต้องสูง

แล้วปัจจุบันนี้เราก็มีเทคโนโลยีของธนาคารพาณิชย์ อย่างเช่น แอปเป๋าตังของ ธ.กรุงไทย หรือ SCB Easy ของ ธ.ไทยพาณิชย์ เราก็ดีไซน์ฟีเจอร์มาให้เข้าถึงได้โดยขั้นต่ำซื้อที่ 1,000 บาท ทำให้ทุกคนมีสิทธิเข้ามาถือหุ้นตัวนี้ แล้วก็ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องไปกราบไหว้อ้อนวอนผู้จัดการสาขา ใช้มือถือได้เลย ไม่มีการล็อก ที่ผ่านมาได้รับการตอบรับที่ดี 2-3 นาทีก็หมดแล้ว ถือว่าเราใช้นวัตกรรมมาช่วยในแง่ fundraising

Q : คุณเศรษฐาเคยบอกว่า จริง ๆ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เหมือนกะเพราไก่ไข่ดาว

ธุรกิจที่อยู่อาศัยก็คือที่อยู่อาศัย หรือว่าคริปโตก็เป็นส่วนเรื่องของคริปโต หรือสินทรัพย์ดิจิทัลก็อาจเป็นวิธีการระดมทุนอันใหม่ซึ่งเราก็สามารถระดมทุนได้หลายแบบ สินทรัพย์ดิจิทัลก็เป็นวิธีการหนึ่ง แต่ไม่ใช่วิธีการหลักที่เราใช้ทำ เพราะฉะนั้นก็ถือว่าเป็นอะไรที่เราต้องพิจารณา เราต้องทำไหม ก็ไม่จำเป็น แต่ถ้าเกิดทำแล้วได้ประโยชน์ เราทำ เพราะฉะนั้นยังไงเสียที่อยู่อาศัยก็เป็นที่อยู่อาศัย ปัจจัย 4

Q : ถ้านำเทคโนโลยีเข้ามาทําให้ต้นทุนสูงขึ้นด้วยใช่ไหม ถ้านำมาใช้อย่างไม่เหมาะสม

ใช่ครับ คำว่าทันสมัยก็คืออาจจะเรียกว่ามาเร็วมาก่อน มาเร็วมาก่อนราคาก็แพง ถ้าเป็นภาวะเศรษฐกิจที่รุ่งโรจน์ช่วงโชติชัชวาลก็พอจะ afford ได้ แต่ปัจจุบันนี้ปัญหากำลังซื้อ หนี้ครัวเรือนเป็นเรื่องใหญ่ ทำให้กำลังซื้อถดถอย เพราะฉะนั้นของใหม่ ๆ ราคาแพง

ถามว่า มีใครอยากได้ไหมนวัตกรรมใหม่ ๆ ทั้งหลายในบ้าน ทุกคนอยากได้หมด ถามว่า afford ได้ไหม ไม่มีเงิน ไปกู้แบงก์ แบงก์ปล่อยไหม แบงก์ก็ไม่ปล่อย อันนี้เป็นสิ่งที่เวลาผลิตสินค้าออกมาต้องดูเรื่องความเหมาะสม ระหว่างเรื่องของ affordability เรื่องความทันสมัย หรือเรื่องของโอกาส

Q : แคมเปญ zero dropout แทนที่จะใช้เงินก้อนหนึ่งไปอุดหนุน กสศ. แต่ใช้วิธีออกหุ้นกู้ 100 ล้านบาท แล้วก็นำไปช่วยเหลือตรงจุดนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร

เรื่องของการออกหุ้นกู้เพื่อการศึกษา ซึ่งทาง ก.ล.ต.ไม่ค่อยแฮปปี้เท่าไหร่กับคำนี้ แต่มันเป็นคำที่เข้าใจได้ง่าย ผมมีงบอยู่ 100 ล้านบาท สนับสนุนการศึกษาภายในเวลา 3 ปี ซึ่งเรายกจำนวนเงินเหล่านี้ให้กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ก็ได้ ก็จบ แต่จะมีกี่คนที่เข้าใจ จะมีกี่คนที่รับทราบถึงปัญหาเรื่องการเข้าถึงการศึกษา

ผมว่า หลายท่านที่นั่งอยู่ในห้องนี้มีความโชคดี เพราะสามารถเลือกวิธีการเรียนของบุตรหลานของท่านได้ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนสาธิต โรงเรียน international เพราะท่านมีปัจจัยพร้อมในการที่จะส่งลูกเข้าเรียน นั่นถือว่าเป็น welcome problem จะเลือกเรียนอะไรก็มีชอยซ์

แต่ผมว่ายังมีหลายแสนคนหรืออาจจะเป็นหลักล้านต้น ๆ ของเด็กไทยที่อยู่ในจังหวัดที่ขาดแคลน ไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้ เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องพื้นฐานจริง ๆ ไม่ใช่เรื่องการศึกษาอย่างเดียว การที่เข้าไปในโรงเรียนก็จะเมกชัวร์ว่ามีการสั่งสอนเรื่องระเบียบวินัย เรื่องให้เข้าใจถึงประเทศชาติมาได้ยังไง เรื่องของอาหารกลางวัน basic

พื้นฐานของการเข้าโรงเรียนเป็นเรื่องที่สำคัญ คนเหล่านี้ไม่มีโอกาส และงบประมาณของทางการก็ไม่พอ อย่ามัวแต่บอกเลยว่า การศึกษาเมืองไทยอย่างนั้นไม่ได้ อย่างนั้นไม่ดี อย่างนี้ไม่ดี

ผมกำลังคิดว่าถึงเวลาที่เราจะต้องลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้เองให้เป็นรูปธรรม บริจาคเงิน 100 ล้านบาทก็จบ แต่ผมคิดว่าผมอยากใช้เงิน 100 ล้านบาทให้มีแวลูเยอะกว่า ผมก็เลยมาออกบอนด์ เพิ่มการสื่อสารมากขึ้น ทำให้คนที่เข้ามาซื้อหุ้นกู้ขั้นต่ำ 1,000 บาท ได้ดอกเบี้ย 3% แล้วครบ 3 ปี ผมก็จ่ายเงินคืน

ทั้งหมดนี้แสนสิริรับผิดชอบหมด ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยหรือเงินต้น เราทำ SCB Easy หมดภายใน 2 นาที แล้วก็มีคนเข้ามา subscribe 1,600 กว่าคน ซึ่งก็ได้รับการตอบสนองที่ดีมากหลาย ๆ

ผมทำเรื่องนี้ไป ผมอยากให้พนักงานแสนสิริมีส่วนร่วมด้วย อยากให้ bondholders พี่ซื้อหุ้นกู้ไปเข้าใจถึงปัญหา เพราะฉะนั้นผมวางแผนว่าทุก ๆ ไตรมาสเราจะมีการส่ง report ให้กับ bondholders ไม่ว่าคุณซื้อ 1,000-2,000-5,000 บาท เราจะมี report ส่งไปให้ว่าขณะนี้มีเด็กเข้าสู่ระบบเท่าไหร่ มีการใช้จ่ายอะไรไปบ้าง ตำบลไหน อำเภอไหน

100 ล้านบาท เราปรึกษากับ กสศ. เราคิดว่ามันเป็นเงินที่ไม่เยอะไม่น้อย เรื่องของ zero dropout หมายถึงจะให้มีเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา 0 คน ในจังหวัดนั้น ๆ ก็ใช้เงินเยอะเหมือนกัน ผมต้องหาจังหวัดที่เหมาะสม ก็ไปเลือกจังหวัดราชบุรีซึ่งมีไซซ์เหมาะสม ทำให้เงิน 100 ล้านบาท ในทางทฤษฎีสามารถทำให้เด็กทั้งจังหวัดกลับเข้ามาอยู่ในระบบการศึกษาได้

Q : เห็นว่าคิดละเอียดถึงขนาดว่าต้องเป็นจังหวัดที่ไม่มีโครงการของแสนสิริด้วย

มี 3 ข้อครับ ข้อแรก ต้องไม่เป็นจังหวัดที่มีโครงการแสนสิริ 2.อยากให้เป็นจังหวัดที่เดินทางไปมาจากกรุงเทพฯสะดวก เพราะผมจะบังคับให้พนักงานมีส่วนร่วมในการเข้าไปดูแลด้วย และ 3.ต้องไม่เป็นจังหวัดที่คนคิดว่าผมมีความสัมพันธ์ด้วยเกี่ยวเนื่องกับพรรคการเมือง เพราะเดี๋ยวจะหาว่าเป็นเรื่องของการหาเสียง อันนี้เป็นเรื่องของการเข้าพื้นที่ที่บริสุทธิ์ใจจริง ๆ

Q : เวลาเราพูดถึงสินทรัพย์ดิจิทัล ส่วนใหญ่เราจะพูดถึงการซื้อขาย แต่คุณเศรษฐาคิดว่าเรื่องนี้มันควรจะทำได้มากกว่านั้นในมุมของรัฐบาล

ในความคิดเห็นส่วนตัวของผมมองมุมกว้างว่า ในฐานะที่เราอยากเห็นสินทรัพย์ class ใหม่ตัวนี้มีผลกระทบในวงกว้างมากขึ้นกับประชาชนคนไทยทุกคน ไม่ใช่แค่คนที่อยู่ในวงการการเงิน หรือวงการคริปโต จะทํายังไงให้โรงแรม สายการบิน คนขายลูกชิ้นปิ้ง สามารถได้ผลตอบแทนสูงไปด้วย

ผมว่าเรามาถูกทาง เราเป็นประเทศที่มีหลายเมืองหลายเกาะที่เป็นที่รู้จักกันในวงกว้างของชาวต่างชาติ ประเทศที่เข้าไปศึกษาดูสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีคริปโตคอมมูนิตี้ หรือมีฟินเทคอาศัยอยู่เยอะมาก ขออนุญาตพูดอย่างตรงไปตรงมานะครับ อย่างสิงคโปร์ จะเป็นต่างชาติประเทศไหนก็ตามไปอยู่สิงคโปร์ ถ้าเกิดไปอยู่ก็สบาย ปลอดภัย แต่วันเสาร์อาทิตย์ไม่มีอะไรทำ เป็นเมืองที่สบายสะอาดแต่ไม่ตื่นเต้น ไม่สนุกสนาน

ผมว่ามันเป็นช่องทางที่รัฐบาลไทยดึงนักลงทุนมาอยู่ในประเทศไทยได้ อย่างเช่น ภูเก็ตเป็นเกาะที่รู้จักกันทั่วโลก มีคนมาเยอะเป็นเกาะที่ปัจจุบันนี้มีคนมา holiday เยอะ ก็เช่นเดียวกับเกาะทั่วโลกทั่วไป แต่ไม่มีเกาะไหนในโลกที่มีทั้ง work, live and play

รัฐบาลไทยน่าจะออกกฎหมายพิเศษเป็นเขตเศรษฐกิจเฉพาะ มีมาตรการทางด้านภาษีเพื่อดึงดูดผู้เล่นที่อยู่ในสินทรัพย์ดิจิทัล ในคริปโตคอมมูนิตี้ ในฟินเทค เพื่อให้เขามาอยู่อาศัย มาทำงาน เพราะธุรกิจเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมีออฟฟิศสำนักงาน มีแค่มือถือ คอมพิวเตอร์ iPad ก็สามารถทำงานได้

ถ้าเกิดมีคนย้ายมาอยู่ดี ๆ ธุรกิจหลายอย่างก็บูม สายการบิน โรงแรม โลจิสติกส์ การค้าขายทั้งหลาย ทำให้ player ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคริปโตคอมมูนิตี้ได้ประโยชน์ไปด้วย เป็นสิ่งที่ทางการต้องกลับไปคิด และให้การสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม เพราะทำให้เกิดรายได้กับประเทศไทยและประชาชนคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับดิจิทัลตัวนี้เขาได้ผลประโยชน์ทางอ้อมไปด้วย อันนี้ผมว่าน่าคิดและน่าสนับสนุน

Q : อยากได้มุมมองการแก้ปัญหา ทั้งค่าครองชีพ กำลังซื้อ มีข้อเสนอแนะอะไรกับเรื่องนี้บ้าง

มี 2-3 เรื่องครับ เรื่องแรกภาระหนี้สิน หนี้ครัวเรือนซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ผมได้มีการพูดคุยเป็นการส่วนตัวกับท่าน รมว.คลัง ท่านก็ถามว่าอสังหาฯ เป็นยังไงบ้าง ผมบอกก็เหนื่อยครับ เพราะดีมานด์มี แต่ความสามารถในการจ่ายหนี้ไม่มี เพราะฉะนั้นคนที่อยากมีที่อยู่อาศัย เวลาไปกู้แบงก์ส่วนมากถูกปฏิเสธสินเชื่อเยอะ

ผมก็เรียนท่านไปว่า ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ การที่เราทำประชานิยม ใส่เงินในกระเป๋าประชาชนเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การใช้จ่ายส่วนตัวก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้เงินในกระเป๋าเขาน้อยลง ถ้ายังมีรายจ่ายที่สูง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการศึกษา การกินอยู่

อีกไอเทมหนึ่งที่สำคัญมาก ดอกเบี้ย หลายท่านในที่นี้อาจโชคดีที่ไม่ต้องเป็นหนี้ของ non bank ทั้งหลาย เรารู้กันอยู่ว่าดอกเบี้ยสูงมาก 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ ทำธุรกิจอะไรถึงจะได้ผลตอบแทน 20% ทุก ๆ เดือน รัฐบาลเอาเงินใส่เข้าไปในกระเป๋าประชาชน เงินเดือนมาคุณไปจ่ายชำระดอกเบี้ย 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ ถือเป็นวงเงินที่สูงมาก เพราะฉะนั้นผมก็เสนอท่านไป

ข้อเสนอที่ค่อนข้างตรงไปตรงมา แต่ต้องการการตัดสินใจที่ฉับพลัน ก็คือว่าต้องลดเพดานดอกเบี้ยที่ 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ ลงมาเหลือที่ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์

ที่ผ่านมาเราเดือดร้อนกับปัญหาโควิด แต่บริษัทเหล่านี้มีกำไรเยอะขนาดไหน อันนี้ผมถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องของการที่อาจจะต้องมีการเสียสละ

Q : ประเทศไทยเหมือนเป็นคนไข้ที่มีปัญหาเยอะไปหมด มองสภาพยังไงบ้าง

ผมว่าคนไข้หลายคนก็ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นไข้ ยังเข้าใจอะไรผิด ๆ อยู่เยอะก็มี แล้วก็ไม่แน่ใจว่าหมอเก่งพอหรือเปล่า ผมคิดว่าความสามารถในการเข้าใจถึงปัญหาของสุขภาพและโรคร้ายที่เขาเผชิญอยู่ ผมเชื่อว่าเขาไม่เข้าใจ

Q : ถ้าคุณเศรษฐาป่วยแล้วไปรักษากับหมอคนนี้มา 8 ปี แล้วยังไม่ค่อยหายเท่าไหร่ คุณเศรษฐาทำยังไง

ผมเปลี่ยนหมอครับ แต่ผมคงไม่ไปเป็นหมอเอง