มาแล้ว! ปตท.สนใจลงทุนโปรเจ็กต์สมาร์ทซิตี้ย่านบางซื่อ รถไฟเสนอบอร์ดเคาะ ม.ค.นี้

รถไฟเตรียมเสนอแผนพัฒนาสถานีกลางบางซื่อเดือน ม.ค.2561 เปลี่ยนไรเรล เป็น บีอาร์ที นำร่องเปิดประมูลพลังงาน ปตท.สนใจร่วมแจมพลังงาน บางซื่อ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้ประชุมติดตามแนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะบริเวณโดยรอบศูนย์คมนาคมพหลโยธิน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการให้ศูนย์คมนาคมพหลโยธินเป็นโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะตันแบบ (Smart City) เป็นโครงการแรกตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

พร้อมทั้งมอบให้กระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กระทรวงพลังงาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าภาพร่วม และกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง หน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชนภายในประเทศและต่างประเทศที่สนใจเป็นหน่วยงานร่วมสนับสนุน ผลักดันให้ดำเนินงาน ในลักษณะความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน Smart City พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.เตรียมเสนอผลการศึกษาพัฒนาพื้นที่สถานีกลางบางซื่อที่องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือไจก้าศึกษา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ให้คณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. พิจารณาภายในเดือนม.ค.2561 จากนั้นจะส่งมายังกระทรวงคมนาคม ใช้เวลาในการพิจารณา 2 เดือน เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนแม่บทต่อไป

“ภายในแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ตามที่ไจก้าศึกษา จะมีรูปแบบการพัฒนาสถานีรถไฟ ระบบขนส่งมวลชน เช่น ปตท. เสนอระบบขนส่งมวลชนเป็นแบบไรเรล แต่ไจก้ามองว่ายังไม่มีความจำเป็นในระยะสั้น เปลี่ยนเป็นรูปแบบ BRT แทน โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ระบบสายอินเทอร์เน็ต และพลังงาน เช่น ท่อแก๊ส พลังงานหมุนเวียน รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ที่อยู่อาศัย ศูนย์การค้า ส่วนแปลง A จำนวน 32 ไร่ มูลค่า 11,573.56 ล้านบาท อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการ PPP สามารถดำเนินการต่อไปได้ แผนของไจก้า ไม่กระทบกับตลาดนัดจตุจักร หรือสวนสาธารณะ” นายอาคม กล่าว

รมว.คมนาคมกล่าวอีกว่า หลังจาก ครม.เห็นชอบ ก็จะเริ่มดำเนินการเป็นส่วนๆ เริ่มประกวดราคา โดยคาดว่าปีนี้น่าจะเห็นการประกวดราคาด้านพลังงาน ซึ่ง ปตท.ก็มีความสนใจเข้าร่วมด้านดิจิทัล และเชิงพาณิชย์ตามลำดับ ใช้ระยะเวลาการพัฒนา 10-15 ปี

สำหรับการร่วมทุนด้านพลังงาน ปตท.เสนอรูปแบบรัฐวิสาหกิจกับรัฐวิสาหกิจ ซึ่งกระทรวงคมนาคมต้องไปพิจารณาข้อกฎหมายอีกครั้งว่าจะดำเนินการในรูปแบบใด เพราะต้องดูผลตอบแทนของ ร.ฟ.ท. ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ด้วย