เปิดค่าแรกเข้ารถไฟฟ้าหลากสี BTS จี้รัฐเคาะค่าโดยสารร่วม วิน-วิน

น่าสนใจไม่น้อยเมื่อเจ้าพ่อบีทีเอส “คีรี กาญจนพาสน์” ตั้งคำถามถึงบิ๊กคมนาคม “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ถึงความชัดเจนการกำหนดค่าแรกเข้าของรถไฟฟ้าสารพัดสีสารพัดสายที่จะเปิดบริการในปี 2563 เป็นต้นไป

ไม่ว่าสายสีเขียวต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการและหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต สายสีชมพูแคราย-มีนบุรี สายสีเหลืองลาดพร้าว-สำโรง สายสีน้ำเงินต่อขยายบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค สายสีแดงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิตและสายสีส้มศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี

หากผู้ใช้บริการหลายสายจะต้องจ่ายค่าเดินทางแพงขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ “บิ๊กบีทีเอส” ต้องการให้รัฐคอนเซียส(ตระหนัก) ได้แล้ว เรื่องค่าโดยสารร่วมรถไฟฟ้าแต่ละสาย ตอนนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ซึ่งบีทีเอสก็พร้อมที่เข้าร่วม แต่รัฐจะต้องช่วยซับซิดี้ค่าโดยสารให้เอกชนบ้าง

“ปี 2563 รถไฟฟ้าสายใหม่จะเปิดอีกหลายสาย สีเขียว น้ำเงิน แดง ชมพู เหลือง โครงข่ายการเดินทางจะสมบูรณ์ ซึ่งบีทีเอสที่เรารับสัมปทานกับ กทม.จะอยู่ตรงกลาง มีสายอื่นวิ่งเข้ามาเชื่อม หากใช้สายหนึ่งต่อไปอีกสายหนึ่ง จะต้องมีค่าแรกเข้าหรือไม่ ถ้ามีเบ็ดเสร็จแล้วค่าโดยสารจะแพงมาก รัฐก็ยังไม่มีการหารือ แต่ผมเริ่มเป็นห่วง เมื่อคนใช้รถไฟฟ้าสีต่าง ๆ ค่าแรกเข้าควรจะเท่าไหร่ บอกว่าจะมีระบบตั๋วร่วมแล้วไง ลดค่าแรกเข้าหรือเปล่า ถ้าลดแล้วรัฐจะซับซิดี้ให้ยังไง จะต้องรู้แล้ว”

ล่าสุด “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กำลังดำเนินการระบบตั๋วร่วมแมงมุม คาดว่าเดือน ต.ค.นี้จะสามารถนำมาใช้บริการกับรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน สายสีม่วง(เตาปูน-คลองบางไผ่) และแอร์พอร์ตลิงก์ เป็นรูปแบบบัตรใบเดียวใช้ได้ทั้ง 4 ระบบหรือระบบตั๋วต่อ

“ส่วนค่าโดยสารร่วม เช่น จ่ายค่าแรกเข้าครั้งเดียว จะต้องพิจารณารายละเอียด ซึ่ง สนข.ต้องไปศึกษาแต่ละสัญญามีเงื่อนไขกันยังไงบ้าง จะต้องซับซิดี้ให้เอกชนหรือไม่ ก็ยังไม่สามารถตอบได้ ขอดูรายละเอียดและการศึกษาก่อน”

นายฤทธิกา สุภารัตน์ รองผู้ว่าการและรักษาการผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า การพิจารณาค่าแรกเข้าในการใช้รถไฟฟ้าร่วมหลายระบบจะเป็นสเต็ปต่อจากที่ใช้บัตรแมงมุมใบเดียวใช้บริการรถไฟฟ้า 4 สายแล้ว เนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวพันกับสัญญาสัมปทานเดิมที่ทั้ง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC)และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)ดำเนินการอยู่ ทั้งนี้จะต้องพิจารณาว่าเมื่อรัฐให้ลดค่าแรกเข้า มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นแล้วรายได้เอกชนลดลงหรือเท่าเดิม

“ถ้าเท่าเดิมรัฐก็ไม่ต้องรับภาระให้ การที่ รฟม.รับภาระให้ BEM ในส่วนค่าแรกเข้า 14 บาทของสายสีน้ำเงินหลังเชื่อมต่อกับสายสีม่วงที่สถานีเตาปูน เพราะ BEM ยึดตามสัญญา ส่วนสีชมพูกับสีเหลืองในสัญญาสัมปทานที่ทำไว้กับ BTS กำหนดค่าแรกเข้าแล้ว 14 บาท”

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การที่ภาครัฐยังไม่เชิญ BEM ที่รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจาก รฟม. และ BTSC ผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) มาเจรจาถึงแนวทางการกำหนดค่าแรกรถไฟฟ้า เนื่องจากรัฐไม่อยากจะอุดหนุนส่วนต่างให้กับเอกชน เพราะยังไงเอกชนจะต้องให้รัฐซับซิดี้ให้ เพราะเป็นการแก้สิ่งที่นอกเหนือจากสัญญาสัมปทาน

สิ่งที่รัฐทำได้คือต้องรอให้สัมปทานของรถไฟฟ้าใต้ดินและบีทีเอสหมดก่อนถึงจะมาเริ่มหาข้อสรุปร่วมกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐที่จะต้องการลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนหรือไม่ ถ้าต้องการก็ต้องรับภาระส่วนต่างตรงนี้ไป เฉลี่ยประมาณ 100 ล้านบาทต่อเดือน

“ปัจจุบันรัฐโดย รฟม.ก็รับภาระค่าแรกเข้าของรถไฟฟ้าใต้ดินหลังมีการเชื่อมต่อกับสายสีม่วง ซึ่งสายสีน้ำเงินรัฐเป็นผู้ลงทุนงานโยธาให้ จะต่างจากบีทีเอสที่เอกชนลงทุนเองทั้งหมด ซึ่งเข้าใจว่าเอกชนคงจะมีคำถามว่า ทำไมสายสีน้ำเงินยังรับค่าใช้จ่ายให้ แล้วการที่รถไฟฟ้าสายใหม่มาเชื่อมกับบีทีเอส หากจะลดราคาแล้วทำไมรัฐจะรับภาระไม่ได้” แหล่งข่าวกล่าวและว่า รัฐสามารถกำหนดค่าแรกเข้าในรถไฟฟ้าสายใหม่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ รฟม. ได้แก่ สายสีน้ำเงิน สีม่วง สีชมพู สีเหลือง และสีส้ม ที่กำหนดไม่ได้คือสายสีเขียว ส่วนสายสีแดงอยู่ที่นโยบายจะดึงเข้าร่วมด้วยหรือไม่

สำหรับสายสีเขียวที่มีการสร้างส่วนต่อขยายจากแบริ่ง-สมุทรปราการและหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มาเชื่อมกับส่วนต่อขยายของ กทม.และส่วนที่เป็นสัมปทานของบีทีเอส ยังเป็นที่กังวลหากไม่มีการลดค่าแรกเข้า และโครงการอยู่ในความรับผิดชอบของ รฟม.จะต้องเสียค่าโดยสาร 3 ต่อ คือ จ่ายบีทีเอส กทม.และ รฟม. แต่หากอยู่ในความดูแลของ กทม.จะจ่าย 2 ครั้ง คือ บีทีเอสและ กทม. แต่ กทม.ต้องรื้อค่าโดยสารส่วนต่อขยายใหม่ทั้งหมด เนื่องจากระยะทางเพิ่มขึ้น

ด้าน “สุรพงษ์ เลาหะอัญญา” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บีทีเอสซี กล่าวย้ำว่า พร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐจัดทำระบบตั๋วร่วมเต็มที่ เพราะได้ร่วมมือกับรัฐมาตั้งแต่ต้นและเป็นรายแรกในการเซ็น MOU หรือบันทึกความร่วมมือกับรัฐเพื่อพัฒนาระบบตั๋วร่วม ซึ่งบริษัทได้พยายามจะให้บัตรตั๋วร่วมสามารถใช้ร่วมกับบัตรแรบบิทได้

อีก 3 ปีข้างหน้า เมื่อมีส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าออกไปหลายสายถ้าเป็นสายสีเขียวด้วยกันจะไม่มีค่าแรกเข้า แต่หากเข้าไปใช้ในระบบสายสีอื่น ๆ จะมีค่าแรกเข้า เช่น สายสีชมพู สีเหลือง สีน้ำเงิน ซึ่งตรงนี้บริษัทพร้อมที่จะหารือร่วมกับทุกฝ่ายและภาครัฐเรื่องค่าแรกเข้าเพื่อให้เกิดความพอดี และประชาชนไม่เดือดร้อนให้ win win ทั้ง 3 ฝ่าย