เปิดตัว 6 งานวิจัย ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตรด้วยนวัตกรรมและความยั่งยืน

คณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.เกษตร ชู 6 ผลงานวิจัย ตอบโจทย์ CIRCULAR AGRO-INDUSTRY พร้อมสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy

เมื่อโลกยุคใหม่ใส่ใจเรื่องความคุ้มค่าและยั่งยืน นโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนถือเป็นวาระแห่งชาติ กลายเป็นเป้าหมายสำคัญของโลก การดำเนินธุรกิจจึงมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากที่สุด

คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้นำทีมนักวิจัยระดับหัวกะทิประกาศความพร้อมก้าวสำคัญในการ “ก้าวสู่ CIRCULAR AGRO-INDUSTRY ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตรด้วยนวัตกรรมและความยั่งยืน” พร้อมจัดกิจกรรมเสวนา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2565 โดยรศ.ดร.ธัญญารัตน์ จิญกาญจน์ รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ กล่าวเปิดงานว่า วันนี้เป็นก้าวสำคัญของคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่จะประกาศความพร้อมในการสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy โดยจะเน้นเป้าหมายการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรในระบบอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศไทย ให้เกิดมูลค่าเพิ่มอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านกลไกการให้บริการวิชาการ บริการวิจัย และบริการให้คำปรึกษาในการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ พร้อมการวิเคราะห์ทดสอบขั้นสูงครบวงจร เพื่อยกระดับการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืนสำหรับภาคอุตสาหกรรม สังคม และ ชุมชน

รศ.ดร.ธัญญารัตน์ จิญกาญจน์ รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ

“การเดินหน้าตามนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนถือเป็นวาระแห่งชาติ และเป็นเป้าหมายสำคัญของโลก นับจากนี้ไป การใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่านั้นคือมาตรฐานใหม่ในการดำเนินธุรกิจ และเชื่อว่า การมุ่งเป้าให้ความสำคัญในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่านั้น ก่อให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ เราสามารถใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงมาขับเคลื่อน วัตถุดิบ ที่มาจากผลพลอยได้หรือส่วนเหลือจากอุตสาหกรรมเกษตร ให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบโจทย์อนาคต ทั้งผลิตภัณฑ์อาหาร ส่วนผสมอาหารเชิงฟังก์ชัน วัสดุและบรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เพื่ออุตสาหกรรมสิ่งทอ และแฟชั่น วัสดุทางการแพทย์ ซึ่งจะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบ Zero waste พร้อมกับการยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อการกินดีอยู่ดีและการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม งานนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำตัวอย่างทั้งแนวคิดและความสำเร็จที่เกี่ยวข้องกับผลงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศ ที่มาจากทีมคณาจารย์ที่มีศักยภาพสูงของคณะอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งท่านได้รับทุนสนับสนุนในการดำเนินงานจากหลายแหล่งทุนสำคัญ มานำเสนอต่อสาธารณะ เพื่อที่ภาคอุตสาหกรรม ชุมชน และสังคมที่เกี่ยวข้อง จะได้พิจารณานำไปต่อยอดหรือใช้ประโยชน์ และขอเชิญชวนท่านที่สนใจ มาร่วมมือกับเราในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การวิจัยหรือบริการวิชาการ ให้ความรู้ชุมชนและสังคม เพื่อจะส่งเสริมการใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าจากแหล่งทรัพยากรที่มาจากการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร” รศ.ดร.ธัญญารัตน์ กล่าว

ภายในงานยังมีการเปิดตัว 6 ผลงานวิจัยนวัตกรรมสุดล้ำแห่งยุคที่ตอบโจทย์ CIRCULAR AGRO-INDUSTRY ประกอบด้วย

  1. การขับเคลื่อนการใช้ rPET ในอุตสาหกรรมอาหาร และบรรจุภัณฑ์ โดยรศ.ดร.อำพร เสน่ห์ ภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ กล่าวว่า โดยหลักแล้วเป็นการตอบสนองนโยบายการขับเคลื่อนการใช้พลาสติกรีไซเคิลในทุกมิติ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถใช้พลาสติกได้อย่างปลอดภัยทั้งอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งทีมนักวิจัยได้พัฒนาวิธีการทดสอบวัสดุสัมผัสอาหารและการประเมินความปลอดภัยของกระบวนการรีไซเคิลพลาสติก เป้าหมายเพื่อรองรับการขับเคลื่อนการใช้ rPET ซึ่งผลิตมาจากขวดพลาสติกชนิด PET ที่ใช้แล้วด้วยกระบวนการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดสารปนเปื้อน เพื่อให้ได้ rPET ที่มีคุณภาพมาตรฐาน สามารถนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อการบรรจุอาหารและเครื่องดื่มได้อย่างปลอดภัยต่อผู้บริโภค
  2. การใช้ประโยชน์จากส่วนเหลือในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และอาหารทะเล โดยผศ.ดร.ทานตะวัน พิรักษ์ ภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์ กล่าวว่า ส่วนเหลือจากอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และอาหารทะเลนั้นมีปริมาณมาก เช่น เปลือกกุ้ง ก้างปลา หัวปลา เครื่องใน หัวและเท้า ซึ่งมีสารที่มีมูลค่าสูงอยู่ปริมาณมาก เช่น โปรตีน คอลลาเจน แอสตราแซนธิน และโอเมก้า-3 สามารถนำมาใช้ประโยชน์เป็นวัตถุดิบสำหรับสกัดสารออกฤทธิ์มูลค่าสูงได้ ด้วยเทคโนโลยีในการสกัดในปัจจุบันที่มีความก้าวหน้า จึงผลิตสารดังกล่าวได้ในปริมาณที่คุ้มค่าต่อการนำไปผลิตในระดับอุตสาหกรรม สามารถนำไปใช้เป็นส่วนผสมของอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอางได้
  3. การพัฒนาผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมน้ำตาลสู่วัสดุมูลค่าสูงเพื่อการแพทย์และอาหาร โดยรศ.ประกิต สุขใย ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ กล่าวว่า อุตสาหกรรมน้ำตาลสามารถสร้างรายได้หลักแสนล้าน ซึ่งชานอ้อยนั้นเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า อีกทั้งอนุพันธ์ของเซลลูโลสจากชานอ้อยยังพัฒนาเป็นส่วนผสมเชิงหน้าที่ในผลิตภัณฑ์อาหารและวัสดุทางการแพทย์ เช่นเดียวกับ กากตะกอนแคลเซียมคาร์บอเนตจากกระบวนการผลิตน้ำตาลรีไฟน์ สามารถพัฒนาสู่ไบโอเซรามิกเพื่อเป็นสารทดแทนกระดูก
  4. เครื่องดื่มสารสกัดเปลือกถั่วเขียวและเบคอนจากเปลือกกล้วยกรอบ Transforming food for fit and firm การพัฒนาอาหารนอกกรอบเพื่อความฟิตและดูดี โดยผศ.ดร.กฤษกมล ณ จอม ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร กล่าวว่า เปลือกถั่วเขียวนั้นเป็นของเหลือทิ้ง เมื่อนำมาสกัดด้วยความดันสูงโดยใช้สารละลายจนแห้ง ก็จะได้ปริมาณสารออกฤทธิ์ช่วยส่งเสริมสุขภาพ รวมถึงเปลือกกล้วยก็สามารถเป็นอาหารได้ ทั้งคู่จึงเป็นอาหารนอกกรอบ เพื่อหุ่นฟิต และดูดี ภายใต้โครงการวิจัยชั้นแนวหน้าด้านอาหารเพื่ออนาคต พัฒนาสูตรและการผลิตเครื่องดื่มสารสกัดเปลือกถั่วเขียว และการผลิตเบคอนกรอบจากเปลือกกล้วย สอดรับแนวคิดความมั่นคงทางอาหารและนวัตกรรมอาหารจากพืชทดแทนเนื้อสัตว์
  5. From Waste to Fashion ส่วนเหลือจากอุตสาหกรรมเกษตรสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยอาจารย์ณัฐดนย์ รุ่งเรืองกิจไกร ภาควิชาวิทยาการสิ่งทอ กล่าวว่า Waste มาจากอุตสาหกรรมอาหาร เช่น เศษอาหาร เปลือกพืช ซึ่งเมื่อมีเศษเหลือจากเปลือกพืชหรือผลไม้ มักจะนำไปเผาและกลายเป็นมลพิษ ในอุตสาหกรรมสิ่งทออย่างโรงงานทอผ้าก็มีเศษปลายผ้า หรือมีชิ้นผ้าเล็ก ๆ จึงอยากมุ่งเน้นการนำผลิตภัณฑ์ หรือวัสดุเหลือใช้นำกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการนำเส้นใยอื่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาทดแทนฝ้าย นำเศษวัสดุเหลือทิ้งมาแปรรูป ดัดแปลงเป็นวัตถุดิบใช้ในอุตสาหกรรมแฟชั่น เช่น สีย้อมผ้าจากเศษเหลือทิ้งอุตสาหกรรมเกษตร
  6. กิจกรรมส่งเสริม AI Circular สำหรับนิสิต และบุคลากร คณะฯ โดยผศ.ดร.อภิชญา ลีลาวณิชกุล กล่าวว่า กลยุทธ์การพัฒนาคุณภาพองค์กรเพื่อนำไปสู่ความเป็นเลิศ และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) จัดทำโครงการแยกและจัดการขยะ เพิ่มมูลค่าให้ขยะ สร้างความตระหนักให้แก่บุคลากร และนิสิตในคณะ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม มีการบันทึกปริมาณขยะทั้ง 5 อาคาร โดยชั่งน้ำหนักขยะทุกวันเพื่อเก็บข้อมูล สำหรับประเภทขยะมีอัตราการรีไซเคิล 7.3% โดยตั้งเป้า 15% ในปีหน้า ซึ่งได้มีการส่งเสริม อบรม แม่บ้าน บุคลากรของคณะฯ และนิสิต ให้เข้าใจถึงความสำคัญของการแยกขยะและการแปลงให้ขยะมีมูลค่าเพิ่ม เช่น มีการทำธนาคารขยะ เป็นต้น

ด้านนายณัฐนันท์ ศิริรักษ์ ผู้จัดการฝ่าย – พลาสติกรีไซเคิล บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นวิคโค จำกัด (ENVICCO) เสริมถึงแนวทางการสร้างความร่วมมือสู่ Circular Economy เพื่อความยั่งยืน ว่า รู้สึกดีใจมากที่ทางคณะฯได้ริเริ่มในการแยกขยะ คัดแยกก่อนจัดเก็บ ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพราะสถานการณ์ขยะมูลฝอยของประเทศไทย ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ แหล่งกำเนิดขยะมูลฝอยมีปริมาณเกือบ 25 ล้านตัน มีการคัดแยกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์เพียง 3.89 ล้านตัน ที่เข้าสู่ซาเล้ง ที่เหลือจะมีการจัดเก็บเพื่อนำไปแยกอีกครั้ง ณ สถานที่แยกขยะ 4 ล้านตัน ส่วนที่ยังมีปัญหา คือ ขยะมูลฝอยจัดเก็บและทำลายไม่ถูกต้อง สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคือ บ่อฝังกลบต่าง ๆ จะเริ่มเต็ม พื้นที่ลดลง อีกทั้งเกิดคาร์บอนจากการเผาไหม้ทำลายส่วนที่เหลือทิ้ง เป็นประเด็นที่ทุกคนต้องหาทางออก

“ผมซื้อขยะเหล่านี้มาเกือบปี การคัดแยกขยะของไทยดีกว่ายุโรป อเมริกา ไบโอพลาสติกของเราดีกว่า บ้านเราใช้คนคัดแยกตั้งแต่ต้น ซาเล้งแยกประเภทขยะตั้งแต่ต้นทาง สิ่งที่ยากที่สุดคือ การเปลี่ยนมายด์เซต ต้องให้ความรู้ว่าขยะที่แยกไปไหน ช่วยโลกอย่างไร อีกสิ่งที่สำคัญคือ โลจิสติกส์ ตอนนี้ยังไม่มีอะไรสู้ร้านค้าของเก่าหรือซาเล้งได้ ถ้าเมืองไทยยังไม่เปลี่่ยนโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการจัดเก็บที่คัดแยกแทบตายได้ 3-4 บาท แต่ถ้าเรามีการเปลี่ยนแปลง มีเงินมัดจำขวด มีตู้รีฟันด์ หรือจุดรับซื้อที่ดีลกับโรงงานรีไซเคิลโดยตรง จะมีแรงกระตุ้นเพียงพอให้ผู้บริโภคอยากคัดแยกขยะ ไม่ใช่แค่เรื่องของสิ่งแวดล้อม หรือข้อบังคับอย่างเดียว” นายณัฐนันท์ กล่าว

จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ จะเป็นรากฐานอันยิ่งใหญ่ การให้ความสำคัญในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าจะก่อให้เกิดโอกาสใหม่ สอดคล้องกับเจตนารมณ์ และภารกิจของคณะอุตสาหกรรมเกษตร เพื่อก้าวสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง