ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย จับมือศิลปินไทยแปลงชุดยูนิฟอร์มเก่าเป็นผลงานศิลปะ

ธนาคารยูโอบี

ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ร่วมกับ วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินหญิงแถวหน้าของไทยผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากวัสดุเหลือใช้ เปิดตัวแคมเปญ “Turning Trash to Treasured Art” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเพื่อความยั่งยืน Waste to Wonder ของธนาคารยูโอบี ประเทศไทย โดยนำชุดยูนิฟอร์มสาขาเก่าจำนวน 4,903 ชุดมาอัปไซเคิลเป็นผลงานศิลปะจัดวางที่มีชื่อว่า “Clothespocalypse” และกระเป๋าใบใหม่หลากหลายแบบ ด้วยความคิดสร้างสรรค์และดีไซน์พิเศษโดยมีชุมชนผู้ตัดเย็บจากจังหวัดสมุทรสาครเป็นผู้ผลิต อาทิ กระเป๋าเป้ กระเป๋าถือ ถุงผ้าพกพา เคสสาหรับโน๊ตบุ๊ก กระเป๋าใส่ขวดน้ำ และกระเป๋าอเนกประสงค์ เป็นต้น พนักงาน ลูกค้าและผู้ที่สนใจสามารถเลือกซื้อสินค้าแบบที่ชื่นชอบได้ โดยรายได้ทั้งหมดจากการจำหน่าย จะมอบให้กับมูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก

นางสาวปิยพร รัตน์ประสาทพร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือข่ายสาขาและบริการดิจิทัล ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า “เรามุ่งมั่นที่จะจัดการผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนชุมชนของเรา การทำงานร่วมกับ WISHULADA ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการให้ชีวิตใหม่กับชุดยูนิฟอร์มแทนที่จะปล่อยทิ้งไปให้เป็นขยะในหลุมฝังกลบ ยังเป็นการสร้างโอกาสการจ้างงานให้กับชุมชนท้องถิ่นอีกด้วย นับเป็นการตอกย้ำถึงความมุ่นมั่นของธนาคารในการส่งเสริมผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในเชิงบวกเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ในขณะเดียวกันก็นับเป็นการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ”

นางสาววิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากวัสดุเหลือใช้ กล่าวว่า “เอ๋สร้างสรรค์ผลงานศิลปะทุกชิ้นจากวัสดุเหลือใช้ทุกประเภทเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพราะเอ๋เชื่อว่าพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ประกอบกับการวางแผนการดำเนินงานที่เหมาะสมตั้งแต่ต้นน้ำ เช่น กระบวนการผลิต จนถึงปลายน้ำ เช่น ผู้บริโภค เพื่อนำวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่จะช่วยลดปริมาณวัสดุเหลือใช้ที่ถูกทิ้งให้เหลือน้อยที่สุด เอ๋รู้สึกดีใจมากที่ได้ร่วมทำงานกับยูโอบีในโครงการนี้ เพราะนอกจากเอ๋จะรู้จักยูโอบีมานานในฐานะผู้สนับสนุนวงการศิลปะและศิลปินไทยแล้ว ยูโอบีเองยังให้ความสำคัญและช่วยสร้างความตระหนักรู้ในการดูแลสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนทั้งภายในและภายนอกองค์กร เอ๋หวังว่าความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนในการใช้วัสดุเหลือใช้รอบๆ ตัวให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

ผลงานศิลปะจัดวาง ได้รับการสร้างสรรค์ภายใต้แนวคิด “Clothespocalypse” แสดงให้เห็นถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงประมาณ 1.2 พันล้านตันต่อปี[1] โดยศิลปินต้องการสื่อความว่า เราทุกคนต้องคิดและมีสติในการใช้ทรัพยากรทุกประเภทอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด ผลงานศิลปะ “Clothespocalypse” จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ถึง 9 มิถุนายน 2566 ที่ชั้น 1 อาคาร ทาวเวอร์ ยูโอบี พลาซา กรุงเทพ สามารถเข้าชมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ ชุมชนผู้ตัดเย็บจากจังหวัดสมุทรสาคยังได้ผลิตสินค้าอัปไซเคิล 8 แบบจากชุดยูนิฟอร์มเก่าในครั้งนี้ โดยผู้ที่สนใจสามารถชมผลงานตัดเย็บที่พิถีพิถัน ดีไซน์สวยและเลือกเป็นเจ้าของในแบบที่ชื่นชอบได้โดยรายได้ทั้งหมดจากการจำหน่าย จะมอบให้กับมูลนิธิโรงพยาบาลเด็กเพื่อสมทบโครงการ Angel Miracle ปาฏิหารย์ต่อลมหายใจ เพื่อจัดซื้อตู้อบช่วยเหลือทารกคลอดก่อนกำหนดให้แข็งแรงและปลอดภัย สามารถซื้อสินค้าอัปไซเคิลได้ที่บริเวณนิทรรศการและทางออนไลน์ ผ่าน www.uob.co.th จนกว่าสินค้าจะหมด

ความร่วมมือกับ WISHULADA ในโครงการนี้ คาดว่าจะมีค่าก๊าซเรือนกระจกที่สามารถหลีกเลี่ยงได้จากหลุมฝังกลบเป็นจำนวน 1,965.30 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 137.646 ต้น ความพยายามนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการด้านความยั่งยืนของธนาคารยูโอบี ซึ่งมุ่งจัดการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อประโยชน์ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายของธนาคารและคนรุ่นต่อไปในอนาคต