
หลายครั้งที่คนเราดื่มน้ำ นอกจากจะได้ความสดชื่นและแร่ธาตุต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบแล้ว ยังมีภัยเงียบที่มองไม่เห็นอีกอย่างหนึ่งนั่นคือ การบริโภค “ไมโครพลาสติก” ที่เป็นสิ่งปนเปื้อนเข้าไปในร่างกายพร้อมกับการดื่มน้ำโดยที่เราไม่รู้ตัว ทำให้หลายคนกังวลและมีคำถามว่า ไมโครพลาสติกในน้ำดื่ม อันตรายจริงไหม? ซึ่งแม้ว่าทางองค์การอนามัยโลก (WHO) จะรายงานว่าไมโครพลาสติกนั้นสามารถพบได้จากขวดน้ำดื่มที่เป็นบรรจุภัณฑ์และระบบประปาพื้นฐาน แม้ยังคงไม่มีหลักฐานใดที่ชี้ชัดได้ว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่เพื่อเป็นการป้องกันและดูแลสุขภาพ เรามาศึกษาและทำความเข้าใจกันก่อนดีกว่า ว่าไมโครพลาสติกคืออะไร ผลกระทบของไมโครพลาสติกมีอะไรบ้าง และจะสามารถหาวิธีหลีกเลี่ยงไมโครพลาสติกในน้ำได้อย่างไร
ไมโครพลาสติกคืออะไร แบ่งได้กี่ประเภท
ไมโครพลาสติก (Microplastics) คืออนุภาคของพลาสติกขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร มักเกิดจากการแตกหัก ย่อยสลายมาจากพลาสติกชิ้นใหญ่ หรือบางทีก็เป็นพลาสติกที่ถูกสร้างมาให้มีขนาดเล็ก อาจพบได้ทั้งในทะเล ทะเลสาบ แม่น้ำ หิมะและเมฆฝน แต่ที่พบได้ในชีวิตประจำวันมักเป็นไมโครพลาสติกในน้ำและไมโครพลาสติกในอาหาร ซึ่งไมโครพลาสติกสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ Primary Microplastics และ Secondary Microplastics ดังนี้
Primary Microplastics
ไมโครพลาสติกประเภทนี้ถูกผลิตมาให้มีขนาดเล็กตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เช่น เม็ดพลาสติกที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดหน้า ยาสีฟัน เครื่องสำอาง เป็นต้น หรือที่เรียกกันว่าเม็ดสครับ สามารถแพร่กระจายไปสู่ธรรมชาติได้โดยการทิ้งของเสียจากบนบกลงสู่มหาสมุทร แม่น้ำและแหล่งน้ำทั่วโลก
Secondary Microplastics
มาจากพลาสติกขนาดใหญ่ที่กลายเป็นขยะแล้วสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมเกิดการแตกหัก หรือย่อยสลายได้ทั้งกระบวนการทางกายภาพ ชีวภาพ และทางเคมี เช่น แสงยูวี ความร้อน และปฏิกิริยาออกซิเดชัน จนกลายเป็นไมโครพลาสติกในน้ำ ลอยปะปนอยู่ในมหาสมุทร แม่น้ำ หรือแหล่งน้ำอื่นๆ มากมาย
การปนเปื้อนของไมโครพลาสติก
ไมโครพลาสติกไม่ได้ถูกพบแค่ในแหล่งน้ำตามธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังพบในผลิตภัณฑ์ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น ถุงขนม ขวดน้ำ ฝาขวดพลาสติก หลอด ช้อน ส้อม มีด ไม้จิ้มพลาสติก เป็นต้น นอกจากนี้ น้ำประปาที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพแล้วหรือในน้ำดื่มในขวดพลาสติกก็ยังสามารถพบเจอไมโครพลาสติกได้เช่นกัน การปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในอาหารจึงมักมาจากน้ำและอาหารทะเล เช่น ปลา กุ้ง ปู หอย หมึก แพลงก์ตอน เป็นต้น โดยสัตว์ทะเลเหล่านี้ได้กินแพลงก์ตอนและสัตว์หน้าดินที่ในตัวมีไมโครพลาสติกสะสมอยู่ หลังจากนั้น เมื่อสัตว์ต่างๆ และมนุษย์ได้กินสัตว์หรืออาหารทะเลเข้าไป จึงได้รับไมโครพลาสติกมาอีกทอดหนึ่งด้วย
ผลกระทบของไมโครพลาสติก
เป็นที่รู้กันว่าไมโครพลาสติกมีหลายรูปแบบ ทั้งชิ้นส่วน เม็ดพลาสติก เส้นใย โฟม ไมโครบีดส์ และแผ่นฟิล์ม ซึ่งไม่สามารถย่อยสลายในกระเพาะอาหารของสิ่งมีชีวิตได้ ทำให้การปนเปื้อนไมโครพลาสติกได้เดินทางไปทั่วโลกได้อย่างอิสระผ่านสิ่งมีชีวิต คลื่นลม และกระแสน้ำ แผ่ขยายออกสู่สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติอย่างระบบนิเวศทางทะเลและสัตว์น้ำ และตอนนี้ได้ย้อนกลับมาสู่มนุษย์ ผ่านการบริโภคอาหารและน้ำดื่มในชีวิตประจำวัน นั่นทำให้เห็นว่าผลกระทบของไมโครพลาสติกนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ด้าน ดังนี้
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ส่งผลต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล สิ่งมีชีวิตในน้ำหลายชนิดถูกพบว่าไมโครพลาสติกในน้ำได้เข้าไปสะสมในเนื้อเยื่อ ซึ่งมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบย่อยอาหาร ระบบสืบพันธุ์ และการเจริญเติบโตของปลาชนิดต่างๆ และหอยแมลงภู่ นอกจากนี้ ไมโครพลาสติกที่สามารถดูดซับโลหะหนักและสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน เช่น สารกำจัดศัตรูพืช ก็ยังอาจทำให้น้ำทะเลปนเปื้อนได้
ขยะพลาสติกจำนวนมหาศาล การผลิตและใช้งานพลาสติกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งผลให้ไมโครพลาสติกซึ่งมีขนาดเล็กและจำนวนมหาศาลกระจายออกสู่สิ่งแวดล้อมธรรมชาติทั่วโลก ผ่านการระบายน้ำและการทิ้งขยะลงสู่ทะเล ก่อให้เกิดปัญหาขยะพลาสติกและมลพิษทางทะเล ยิ่งไปกว่านั้น ไมโครพลาสติกในน้ำยังยากต่อการเก็บและกำจัดทิ้ง อีกทั้งยังย่อยสลายยาก ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศและปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารของสิ่งมีชีวิต อย่างการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในอาหารและน้ำดื่ม เป็นต้น
ผลกระทบต่อมนุษย์
มนุษย์รับไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายจำนวนมากผ่านการบริโภคอาหารและน้ำดื่ม ซึ่งมีปริมาณมากถึง 5 กรัมต่อสัปดาห์ หรือเทียบเท่าบัตรเครดิต 1 ใบเลยทีเดียว และถึงแม้ไมโครพลาสติกในอาหารจะยังไม่ส่งผลอันตรายต่อมนุษย์อย่างชัดเจน แต่การบริโภคอาหารทะเลและน้ำดื่มจากขวดพลาสติกที่ปนเปื้อนไมโครพลาสติก ก็อาจทำให้มีการสะสมและมีศักยภาพพอที่จะก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพและร่างกายในระยะยาวได้ เช่น ผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก ระบบไหลเวียนเลือด รบกวนการทำงานของฮอร์โมน และอาจเป็นสารก่อมะเร็ง เป็นต้น
เราจะหลีกเลี่ยงและช่วยลดไมโครพลาสติกในน้ำได้อย่างไร
เราสามารถช่วยกันเป็นส่วนหนึ่งในการลดไมโครพลาสติกในทะเลและสิ่งแวดล้อมธรรมชาติได้ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และแก้ไขปัญหาจากต้นเหตุ ดังนี้
นำพลาสติกมาใช้ซ้ำ
การนำพลาสติกมาใช้ซ้ำ โดยต้องเป็นพลาสติกประเภทใช้ซ้ำได้ เพราะพลาสติกบรรจุอาหารและเครื่องดื่มบางชนิดก็ปล่อยไมโครพลาสติกออกมา หลังจากบรรจุไปเกินระยะเวลาหนึ่ง หรือลดปริมาณการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวแล้วทิ้ง จะช่วยลดขยะพลาสติกได้มากขึ้น รวมถึงช่วยลดการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ได้ดีขึ้นอีกด้วย
คัดแยกขยะพลาสติก
การคัดแยกขยะพลาสติกที่ถูกต้องก่อนทิ้งขยะ จะช่วยทำให้สามารถนำไปรีไซเคิลได้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีขยะพลาสติกลงสู่แหล่งน้ำต่างๆ จนส่งผลกระทบทางอ้อมมาสู่มนุษย์ได้อีก
ดื่มน้ำจากเครื่องกรองน้ำ
อีกหนึ่งวิธีใกล้ตัวที่ทำได้ทันที และช่วยให้คนในบ้านปลอดภัยขึ้นจากการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในน้ำก็คือ การดื่มน้ำจากภาชนะที่ใช้ซ้ำได้ โดยอาจหันมาดื่มน้ำจากเครื่องกรองน้ำที่สามารถกรองไมโครพลาสติกได้ เพราะนอกจากจะได้น้ำสะอาดที่ผ่านการกรองอีกชั้นแล้ว ยังช่วยลดการใช้ขวดพลาสติกได้อีกด้วย
ทั้งหมดนี้คือข้อมูลเกี่ยวกับไมโครพลาสติกที่ควรรู้ แม้จะเป็นเพียงอนุภาคขนาดเล็กที่อาจส่งผลต่อสุขภาพร่างกายมากหรือน้อย แต่ทางที่ดีก็ควรป้องกันและหลีกเลี่ยงไว้ก่อน เพราะร่างกายมนุษย์นั้นสามารถรับไมโครพลาสติกได้จากทั้งในน้ำและในอาหาร โดยเฉพาะน้ำที่เราต้องดื่มเป็นประจำทุกวัน หากดื่มน้ำจากขวดพลาสติกบ่อยๆ อาจเป็นตัวการที่ทำให้ร่างกายได้รับไมโครพลาสติกจำนวนมากโดยไม่รู้ตัว สำหรับใครที่อยากเปลี่ยนมาดื่มน้ำจากเครื่องกรองน้ำ ขอแนะนำ eSpring™ เครื่องกรองน้ำที่ได้รับการรับรองจาก NSF ว่าสามารถกรองเชื้อโรคและเชื้อไวรัสได้ 99.99% และยังสามารถกรองไมโครพลาสติกและสิ่งปนเปื้อนอื่นๆ ได้ถึง 170 ชนิด โดยที่ยังคงแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเอาไว้ได้ มั่นใจได้เลยว่าจะสามารถดื่มน้ำได้อย่างปลอดภัย รสชาติดี และไม่มีการปนเปื้อน ที่สำคัญยังช่วยลดการใช้ขวดพลาสติกได้ถึง 5,000 ขวดต่อปีอีกด้วย!