ส่องตลาด Biomass ‘ทีพีเอ็น กรีน’ ผู้เปลี่ยนขยะเกษตรเป็นเชื้อเพลิง

ข้อสันนิษฐานของนักโบราณคดีระบุว่า ‘ไม้’ คือเชื้อเพลิงชนิดแรกที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์เป็นแหล่งพลังงาน แต่อีกข้อสันนิษฐานหนึ่งที่ใกล้เคียงกว่าบอกว่า ‘แสงแดด’ แต่ไม่ว่าข้อใดจะถูกต้อง เรื่องนี้ก็มีบทสรุปว่า มนุษย์อยู่รอดได้ด้วยพลังงาน

ในขณะที่โลกปัจจุบันกำลังแสวงหาพลังงานสะอาดหรือลดการปล่อยของเสียให้น้อยที่สุด ‘เชื้อเพลิงชีวมวล’ หรือ Biomass Fuel ที่เกิดจากการนำของเหลือทิ้งจากภาคเกษตรมาสับ ย่อย ลดความชื้น ผลิตเป็นเชื้อเพลิงอัดก้อน ให้ความร้อนใกล้เคียงกับถ่านหิน แต่เป็นมิตรต่อโลกมากกว่า และยังมีต้นทุนที่ต่ำกว่าเหมาะสำหรับภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งแนวโน้มตลาดมีความต้องการสูง นี่จึงเป็นธุรกิจดาวรุ่งที่น่าสนใจ

ธุรกิจเราเป็นตัวกลางในการเอา Waste ของคนที่ไม่เห็นประโยชน์ เอาไปขายให้กับคนที่คิดจะเอาไปใช้ประโยชน์ 

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

‘คุณณัฏฐพล พฤกษ์สถาพร’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีพีเอ็น กรีน อินโนเวชั่น จำกัด โรงงานผลิตเชื้อชีวมวลอัดก้อน (Briquette) และอัดแท่ง (Pellet) กล่าวถึงรูปแบบธุรกิจที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 โดยก่อนหน้านั้นเขาบอกว่าที่บ้านทำโรงสีข้าวในจังหวัดเชียงราย เลยคุ้นเคยกับ ‘แกลบ’ วัสดุเหลือทิ้งจากการสีข้าวซึ่งมีปริมาณเยอะมาก แต่จะขายก็ติดปัญหาค่าขนส่งไม่คุ้มทุน เลยเป็นที่มาของการนำแกลบมาอัดเป็นก้อนเชื้อเพลิง แต่พอทำไปสักระยะก็เจอปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก

“แกลบไม่ได้มีให้ใช้พอทั้งปี” แต่กำลังการผลิตต้องการทุกวัน นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นในการแสวงหาวัสดุชีวมวลทดแทนชนิดใหม่ ไม่ว่าจะเป็น เปลือกและใบข้าวโพด ซังข้าวโพด ฟางข้าว เหง้ามันสำปะหลัง เศษไม้ มะพร้าว และใบอ้อย ซึ่งสามารถนำมาทดแทนแกลบเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งได้

ตัวแปรแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5  

‘คุณณัฏฐพล บอกว่า เริ่มต้นคือการประสานกับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร เครือข่ายเกษตรต่างๆ ในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ ด้วยเหตุนี้ต้องมีวิธีการเก็บรวบรวมวัตถุดิบ อย่างกรณีไร่อ้อยก็ซื้อตรงจากเกษตรกร โดยเพิ่มราคาต่อไร่ขึ้นเพื่อแลกกับการจูงใจให้เกษตรกรไม่เผา หรือการไปคุยกับชุมชนเลยว่าทั้งเศษเหลือทิ้งจากผลผลิตเกษตรสามารถส่งขายที่โรงงานที่เปิดรับซื้อ

ยิ่งพอมีปัญหาควันไฟจากการเผาเกิดฝุ่น PM 2.5 ทุกคนต่างตระหนักถึงปัญหามลภาวะที่เกิดจากการเผาภาคเกษตร การนำเศษเหลือทิ้งจากภาคเกษตรมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล รวมถึงช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรให้สามารถเก็บรวบรวมได้อย่างมีระบบ ลดต้นทุนการขนส่ง สามารถนำไปใช้งานได้อย่างมีคุณภาพ

เชื้อเพลิงชีวมวลใช้ในต่างประเทศอย่างแพร่หลายมาหลายสิบปี และกำลังได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นเนื่อง อาทิ การใช้ทำความร้อน (Heater)ในครัวเรือนและสํานักงาน รวมถึงการใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ก็ขยายตัวอย่างรวดเร็วจากประเด็นพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งโรงงานอุตสาหกรรมก็มีการเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงชีวมวล นี่จึงเป็นโอกาสดีทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและธุรกิจ

ชีวมวลเหมือนกัน ค่าความร้อนต่างกัน

คุณสมบัติทั่วไปของเชื้อเพลิงที่ใช้กำหนดราคาซื้อขาย คือ ‘ค่าความร้อน’ โดยมีเกณฑ์อยู่ที่ 3,000–5,000 Kcal/kg ความชื้นไม่เกินร้อยละ 10 ขี้เถ้า (ash) ไม่เกินร้อยละ 5 และต้องมีปริมาณกำมะถันต่ำ

ตัวอย่างเช่น แกลบมีค่าความร้อนต่อกิโลกรัม 3,440 Kcal/kg ใบอ้อยมีค่าความร้อนอยู่ที่ 3,000-3,500 Kcal/kg เปลือกข้าวโพดมีค่าความร้อนอยู่ที่ 3,500-4,000 Kcal/kg มะพร้าวมีค่าความร้อน 4,000-4,200 Kcal/kg และไม้มีค่าความร้อนประมาณ 4,000-5,000 Kcal/kg

โดยค่าความร้อนขึ้นอยู่กับประเภทของเชื้อเพลิงที่ใช้ ถ้าใช้ไม้เป็นส่วนผสมหลัก ขี้เถ้าก็จะน้อย แต่ถ้าเราใช้แกลบเป็นส่วนผสมหลักก็จะมีขี้เถ้าเยอะ และค่าความร้อนลดลงตามไปด้วย ดังนั้นต้องทราบว่าลูกค้าคาดหวังอะไร

ลูกค้าของเราส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานที่ใช้พลังงานแรงดันไอน้ำ (Boilers) ซึ่งปกติใช้ถ่านหิน น้ำมันเตา หรือแก๊ส LPG เป็นเชื้อเพลิง แต่เลือกที่จะเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลซึ่งมีการเกิดของเสียและมลพิษต่ำกว่า แต่ปริมาณจะต้องเพียงพอด้วย เนื่องจากต้องใช้ก้อนเชื้อเพลิงเป็นจำนวนมากทุกวัน

อย่างไรก็ตามในการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงชีวมวลจะทำให้เกิดเป็นขี้เถ้าประมาณ 3-5% ซึ่งต้องดูว่าลูกค้ามีความกังวลต่อปริมาณขี้เถ้าหรือไม่ เพราะอย่างที่บอกว่า ลูกค้าของเราใช้งานทุกวันทำให้เกิดเป็นขี้เถ้าเยอะมาก ซึ่งปริมาณขี้เถ้าจะเป็นตัวแปรหนึ่งที่ต้องมีกระบวนการจัดเก็บหรือนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ เช่น เอาไปผสมทำปุ๋ย หรือต่อยอดอื่นๆ ได้

ตลาดเชื้อเพลิงชีวมวล…โตแค่ไหน  

สำหรับมูลค่าตลาดเชื้อเพลิงชีวมวลในประเทศปัจจุบันราว 3 หมื่นล้านบาท ถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น ในอนาคตนวัตกรรมและเทคโนโลยียังพัฒนาได้อีกมาก โดย ‘คุณณัฏฐพล’ เล่าอีกว่า ทางบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี ได้ทำโครงการการบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ในพื้นที่การเกษตร เพื่อแก้ปัญหาการเผาวัสดุเหลือทิ้งจากภาคเกษตร ควันไฟ และPM 2.5 อย่างยั่งยืน โดยเป็นโครงการที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลในโรงงานเครือเอสซีจี เพื่อลดปัญหามลภาวะ และ ‘ทีพีเอ็น กรีน’ ก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการนี้

อย่างไรก็ตาม เชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งเป็นพลังงานที่ถูกนำมาทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้งจากภาคเกษตร แต่โดยรูปแบบยังเป็นการเผาซึ่งหลานคนมองว่าทำให้เกิดการปล่อยของเสียเช่นกัน แต่แตกต่างตรงที่เชื้อเพลิงชีวมวลถูกนำมาแปรรูปและเผาเป็นเชื้อเพลิงในสถานประกอบการที่มีมาตรการที่มีมาตรฐาน มีนวัตกรรมเทคโนโลยีจัดการของเสียเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อหรือทำลายอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะแตกต่างจากการเผาในไร่อ้อย หรือเผาซังข้าวที่ปล่อยมลพิษสู่บรรยากาศโลกโดยตรง

‘คุณณัฏฐพล’ บอกว่า การร่วมทำโปรเจคนี้กับทางเอสซีจี ทำให้ได้มีการไปพูดคุยกับกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ โดยนำร่องที่อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย โดยประสานกับกลุ่มเกษตรกรรับซื้อวัตถุดิบชีวมวลพวกฟางข้าวและใบอ้อยมาแปรรูปที่โรงงาน เพื่อส่งขายเป็นก้อนเชื้อเพลิงพลังงานให้ทางโรงงานใช้ในกระบวนการผลิต

การจะให้ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลได้อย่างยั่งยืนมีความยากอยู่สองข้อ หนึ่งคือราคาต้องแข่งขันกับถ่านหินได้ และสองทำแล้วต้องมีกำไร ซึ่งสองข้อนี้เป็นโจทย์ที่ท้าทายมาก

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นที่ทั่วโลกมีต่อปัญหามลภาวะ จึงมีมาตรการในการผลักดันในอุตสาหกรรมหันมาให้ความสำคัญต่อการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อโลก รวมถึงข้อบังคับต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทำให้ความต้องการใช้พลังงานทดแทนคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5% และจากนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของภาครัฐอาทิการผลักดันโรงไฟฟ้าชีวมวลในภูมิภาค

ถึงตรงนี้ลองนึกภาพว่าหากทั้งประเทศหรือทั้งโลกที่อุตสาหกรรมหันมาใช้เชื้อเพลิงชีวมวลซึ่งเป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 10 ธุรกิจนี้จะโตอีกแค่ไหน

ด้วยเหตุนี้ ‘คุณณัฏฐพล’ จึงเริ่มมองถึงแผนขั้นต่อไปอย่างน้อยสองอย่าง อย่างแรกคือการผลิตที่เป็นการประหยัดต่อขนาดหรือการทำ Economies of Scale เพื่อตอบโจทย์ดีมานด์ที่สูงขึ้น และลดต้นทุนต่อหน่วยลง อย่างที่สองคือการพัฒนาต่อยอดให้ผลผลิตมีค่าความร้อนที่สูงขึ้นด้วย

ก้าวต่อไปของธุรกิจชีวมวล

พัฒนาคุณภาพเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง (Pellet) คือก้าวต่อไป โดยการมองหานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถเพิ่มคุณภาพของผลผลิตที่ให้ค่าความร้อนที่เพิ่มขึ้นอีก 30% ซึ่งก็คือ Black Pellet โดยมันมีค่าความร้อนที่อาจสูงขึ้นถึง 5,500-6,000 Kcal/kg เลยทีเดียว และยังทำให้การเก็บรักษาไม่ยุ่งยากอีกด้วยเพราะไม่ต้องกังวลเรื่องความชื้นที่อาจจะมาจากฝน ส่วนขี้เถ้าปริมาณอาจเพิ่มขึ้นบ้างแต่คงไม่มากนัก

ก้าวต่อไปเราไม่ได้มองแค่ตลาดในประเทศ แต่รวมถึงต่างประเทศอย่างญี่ปุ่น อเมริกา หรือยุโรป เพราะว่าอย่างที่บอกเนื่องจากค่าความร้อนมันเพิ่มขึ้นมา 30% ก็แลกมาด้วยน้ำหนักที่หายไปราว 30% แต่สิ่งที่ได้คือ การซื้อในราคาต่อหน่วยที่สูงขึ้น จากลูกค้าต่างชาติที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในบ้าน โรงผลิตไฟฟ้าชีวมวล หรือโรงงานอุตสาหกรรม อย่างที่บอกก็คือค่าความร้อนมันเยอะ และมันยังสามารถนำไปกองกลางแจ้งโดยที่ไม่ต้องไปกังวลเรื่องฝน 

เสริมกำลังผลิต ลดคอร์สโลจิสติกส์

คุณณัฏฐพล’ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องรีบดำเนินการในตอนนี้คือ การขยายโรงงานเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตรองรับดีมานด์ที่มองว่าจะขยายตัวมากขึ้นในอนาคต โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นโรงผลิตชีวมวลขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศไทย ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมมากกว่าแสนตันต่อปี

ขณะที่ต้นทุนในการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลในประเทศไทยที่ผ่านมายังมีต้นทุนต่อขนาดที่สูง ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนค่าเครื่องจักร ต้นทุนการผลิต ค่าบริหารจัดการและการขนส่ง ด้วยเหตุนี้การบริหารจัดการการผลิตและจัดส่งเชื้อเพลิงในแบบ Economies of Scale จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องพัฒนา

ขณะเดียวกันเงินบาทที่แข็งค่าทำให้จากที่เคยมีตลาดส่งออกไปเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ปัจจุบันต้องงดการส่งออกไปก่อน แต่มองว่าเป็นปัจจัยด้านเศรษฐกิจโลกที่เป็นผลจากโรคระบาดในช่วงสั้นๆ แต่ในอนาคตการเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าชีวมวลในต่างประเทศ การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการส่งเสริมให้ภาคการผลิตใช้พลังงานทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล จะเป็นโอกาสที่ธุรกิจนี้มีโอกาสขยายได้อีกมาก

ด้วยเหตุนี้การส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในประเทศไทย จะต้องมีการร่วมมือระหว่างภาคเกษตรที่เป็นเครือข่ายเกษตรกรแปลงใหญ่ ที่จะมีส่วนสำคัญในการรวบรวมวัตถุดิบทางการเกษตรเหลือทิ้งต่างๆ มาผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล เพื่อป้อนโรงไฟฟ้าและอุตสาหกรรมภาคการผลิต พลังงานทดแทนที่จะเป็นทั้งโอกาสทางธุรกิจและแถมยังดีต่อสภาพแวดล้อมโลกอีกด้วย

ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลของ ‘คุณณัฏฐพล’ สอดรับกับบทบาทของประเทศไทย BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy)  โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และการได้เข้าร่วมในความตกลงปารีสและมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20–25 ภายในปี พ.ศ. 2573 ในสาขาพลังงาน การคมนาคมขนส่ง กระบวนการทางอุตสาหกรรม และการจัดการของเสีย

นั่นหมายความว่าประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมทั่วโลกจะยิ่งเข้มข้นมากขึ้น ธุรกิจที่มีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ให้เป็นธุรกิจที่มีการบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อโลก หนึ่งในตัวชี้วัดมาตรฐานของสินค้าจะขายได้ หรือไม่ได้อาจต้องดูกันที่ว่าผลิตด้วยพลังงานที่เป็นมิตรต่อโลกหรือไม่

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333