ไข้เลือดออก ภัยร้ายใกล้ตัว

คอลัมน์ : สุขภาพดีกับรามาฯ
ผู้เขียน : อ.พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ 
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ไข้เลือดออก หรือภาษาอังกฤษ คือ Dengue เกิดจากไวรัสเดนกี่ ซึ่งเป็นไวรัสขนาดเล็ก ที่ติดต่อมายังคนจากการโดนกัดของยุงลายที่มีเชื้อไข้เลือดออกอยู่นั่นเอง

ไข้เลือดออกจะไม่ติดจากคนสู่คนโดยการสัมผัสหรือการหายใจ ต้องผ่านยุงที่กัดคนที่ติดเชื้อแล้วมากัดอีกคน นอกจากนี้บางรายยังติดได้จากการรับเลือดที่มีเชื้อไข้เลือดออก แม้มีโอกาสน้อย แต่ยังเป็นไปได้ในบางรายที่ติดจากแม่ที่มีเชื้อสู่ทารกในครรภ์

ปัจจัยเสี่ยงของโรคไข้เลือดออก

ไข้เลือดออกมักพบในประเทศเขตร้อน เช่น ในประเทศไทย เพราะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงที่ดี ความเสี่ยงของการติดเชื้อหลัก ๆ คือมียุงที่มีเชื้อไข้เลือดออกกัด โดยคนที่ติดเชื้อแล้วมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการที่รุนแรง ได้แก่ คนที่มีน้ำหนักเกิน มีภูมิคุ้มกันที่บกพร่อง คนที่มีโรคประจำตัวต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคเลือดออกง่าย หรือคนที่กินยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวดชนิด NSAIDS ที่นิยมใช้เวลาปวดกล้ามเนื้อ หรือปวดท้องประจำเดือน

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยไข้เลือดออก มักดูจากประวัติการสัมผัสยุงที่ติดเชื้อ เช่น อยู่ในถิ่นระบาด หรือไม่

ประวัติการรับเลือดหรือทารกที่คลอดใหม่ ที่อาจมีเชื้อ

อาการและอาการแสดง ดังกล่าวข้างต้น การตรวจอาการเลือดออกง่าย เช่น การรัดต้นแขนด้วยสายรัด หรือเครื่องวัดความดัน แล้วสังเกตว่ามีจุดเลือดออกกี่จุดในระยะเวลาและบริเวณของผิวที่กำหนด หรือเรียกว่า การตรวจทูนิเก้ (Tourniquet test)

ADVERTISMENT

การตรวจเลือดพื้นฐาน มักพบความเข้มข้นของเลือดแดงสูง และเกล็ดเลือดต่ำ การตรวจเลือดจำเพาะต่อเชื้อไข้เลือดออก ได้แก่ การหาแอนติบอดี แอนติเจน หรือการทำพีซีอาร์ (การตรวจหาสารพันธุกรรมระดับโมเลกุล) เป็นต้น