4 วิธีคุมกำเนิดที่ผิด ไม่ได้ผล ต้องเลิกทำ

คอลัมน์ สุขภาพดีกับรามาฯ โดย อ.พญ.อรวี ฉินทกานันท์

ปัญหา “ท้องไม่พร้อม” มีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการขาดความรู้และความเข้าใจในเรื่องวิธีคุมกำเนิด ทำให้ไม่สามารถป้องกันการคุมกำเนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหากใครยังไม่พร้อมจะเป็นคุณพ่อคุณแม่วัยใส ขอเตือนว่า ให้เลิกใช้วิธีคุมกำเนิดเหล่านี้

หลั่งนอก กลั้นอสุจิ

การหลั่งนอกและการกลั้นอสุจิไม่ให้ไหลเข้าไปในช่องคลอด เป็นวิธีคุมกำเนิดที่นิยมทำกันมากในหมู่วัยรุ่น เพราะสะดวกไม่เสียค่าใช้จ่าย และทำได้ทุกเมื่อ แต่การกลั้นไม่ให้อสุจิหลั่งเข้าไปในช่องคลอด ไม่มีอะไรสามารถรับประกันได้เลยว่าจะกลั้นได้ทั้งหมด เพราะอสุจิบางตัวอาจจะติดมากับสารหล่อลื่นที่ออกมาในขณะที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว ฉะนั้นแล้วการหลั่งนอกหรือการกลั้นอสุจิจึงเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพต่ำมาก

ปัสสาวะทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์

การปัสสาวะทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์นั้น แท้จริงแล้วจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของท่อปัสสาวะ เพราะหลังการมีเพศสัมพันธ์จะมีโอกาสติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะสูง การที่ปัสสาวะออกมาทันทีจะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้ แต่ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงในการตั้งครรภ์อย่างที่หลายคนเข้าใจ

สวนล้างช่องคลอด

การสวนล้างช่องคลอด คือการใช้น้ำสวนเข้าไปในช่องคลอดเพื่อชำระคราบอสุจิออกมา ซึ่งวิธีคุมกำเนิดนี้เป็นวิธีที่ไม่แนะนำที่สุด เพราะจะทำให้ภายในช่องคลอดได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ ยังทำให้สภาพแวดล้อมในช่องคลอดเปลี่ยนไป เพิ่มโอกาสการติดเชื้อต่าง ๆ อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นยังมีความเชื่อที่ว่า หากใช้น้ำที่มีด่างผสมเข้าไปล้างช่องคลอดจะช่วยให้ไม่ท้อง ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดมาก เพราะน้ำที่เป็นด่างจะทำให้สมดุลในช่องคลอดเสีย แถมยังอันตรายและไม่ได้ลดความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ลงเลย

หน้า 7 หลัง 7

หน้า 7 หลัง 7 หรือในทางการแพทย์ เรียกว่า fertility awareness method คือการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวันที่จะมีประจำเดือน 7 วัน และหลังวันแรกที่มีประจำเดือนอีก 7 วัน แม้จะเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ดีกว่าวิธีอื่นที่กล่าวมาข้างต้น แต่ก็มีความเสี่ยงในการตั้งครรภ์สูงเหมือนกัน เพราะวิธีนี้เหมาะสำหรับคนที่สุขภาพร่างกายแข็งแรงและประจำเดือนมาอย่างสม่ำเสมอเท่านั้น ไม่เหมาะกับคนที่ประจำเดือนมาคลาดเคลื่อน และต้องให้แน่ใจว่า เลือดที่ออกมาคือประจำเดือนจริง ๆ ไม่ใช่เลือดที่เกิดจากแผลหรือเลือดที่ออกอย่างผิดปกติ

หมายเหตุ : อ.พญ.อรวี ฉินทกานันท์ สาขาวิชาอนามัยการเจริญพันธุ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล