โรคจาก “ยุง” พาหะตัวจิ๋วแต่พิษภัยร้าย

สุขภาพดีกับรามาฯ 
อ.พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด


“ยุง” เป็นพาหะตัวจิ๋วที่นำโรคร้ายมาสู่มนุษย์เราหลายโรค ฉบับนี้หมอจะพาทบทวนข้อมูลความรู้กันว่า โรคที่มาจากยุงที่ยังพบมากในยุคปัจจุบันนั้นมีโรคอะไรบ้าง

โรคไข้เลือดออก หรือการติดเชื้อไวรัสเดนกี่ เป็นการติดเชื้อจากการถูกยุงที่มีเชื้อกัด มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งกัดทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน พบได้ทั้งในบ้านและนอกบ้าน นอกจากนี้ โรคนี้สามารถส่งต่อจากมารดาไปยังบุตรได้ บางครั้งพบจากการรับเลือด เข็มตำ หรือปลูกถ่ายอวัยวะ พบการติดเชื้อโรคนี้ในมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก มีคนเป็นปีละประมาณครึ่งล้านทั่วโลก และเสียชีวิตกว่า 2 หมื่นราย ประชากรที่มีความเสี่ยงกว่า 3 ล้านล้านคน ดังนั้น จึงเป็นโรคที่มีความสำคัญมาก

อาการ มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ผื่น ปวดกระบอกตา กล้ามเนื้อ กระดูก ปกติจะมีอาการประมาณ 2-7 วัน และหายภายใน 1 สัปดาห์ แต่หากมีอาการเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์โดยด่วน ได้แก่ ปวดท้องมาก คลื่นไส้อาเจียนมากกว่า 3 ครั้งใน 24 ชั่วโมง มีเลือดออกจากปากและจมูก อาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด ซึมสับสน เหนื่อยเพลีย หรือกระสับกระส่ายไม่รู้สึกตัว

การตรวจวินิจฉัย สามารถตรวจได้จากผลเลือดว่ามีความผิดปกติด้านเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือด หรือพบเชื้อไวรัสหรือภูมิต่อไวรัสเดนกี่

การรักษา ไม่มียาเฉพาะ รักษาตามอาการ ทานยาลดไข้แก้ปวด เช็ดตัวระบายความร้อน หลีกเลี่ยงการทานยาแอสไพริน หรือยาแก้อักเสบชนิด NSAIDS หากมีโรคประจำตัวหรือทานยาอื่น ๆ ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาก่อนทานยาอื่น ๆ เพิ่มเติม ในขณะนี้มีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกแล้ว

โรคไวรัสซิกา (Zika virus) ถูกค้นพบในป่าชื่อป่าซิกา ในประเทศยูกันดา เกิดจากยุงลาย ซึ่งกัดทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน

อาการไม่แตกต่างกับไข้เลือดออกหรือไข้ปวดข้อจากยุงลายมาก คือ มีไข้ มีผื่น ปวดหัว ปวดข้อ ตาแดง ปวดกล้ามเนื้อ อาการอยู่หลายวันถึงระดับสัปดาห์ ส่วนใหญ่เป็นไม่หนักและไม่ค่อยเสียชีวิต แต่บางคนอาจทำให้เกิดภาวะอ่อนแรงที่เรียกว่า Guillain-Barre syndrome ได้ โรคนี้อันตรายสำหรับคนท้องมาก เพราะว่าอาจทำให้เด็กเกิดมามีความผิดปกติได้ โดยเฉพาะในสมอง ทำให้เกิดภาวะศีรษะเล็ก และสมองผิดปกติชนิดอื่น ๆ รวมทั้งทำให้แท้งได้ด้วย

การวินิจฉัยทำได้โดยการดูประวัติการเดินทาง อาการ และผลเลือดหรือปัสสาวะซึ่งมีเชื้อซิกาได้ การรักษา ยังไม่มียาจำเพาะ รักษาตามอาการโดยการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ รับประทานยา เช่น พาราเซตามอลเพื่อลดไข้ บรรเทาปวด หลีกเลี่ยงการทานยาแอสไพริน หรือยาแก้อักเสบชนิด NSAIDS หากมีโรคประจำตัวหรือทานยาอื่น ๆ ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาก่อนทานยาอื่น ๆ เพิ่มเติม

ในขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไวรัสซิกา และหากเป็นครั้งหนึ่งแล้ว มักจะมีภูมิคุ้มกันที่สามารถป้องกันไม่ให้กลับเป็นซ้ำได้หลายปี

หมายเหตุ : อ.พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล