โรคไตเรื้อรัง

คอลัมน์ : สุขภาพดีกับรามาฯ
ผู้เขียน : รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ

โรคไต ถือเป็นโรคที่คนไทยเป็นกันมากติด 1 ใน 3 ของทวีปเอเชีย ส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมการกิน ทั้งจากการกินเค็ม เพราะโซเดียมในเกลือจะถูกขับออกโดยไต และการกินเกลือมาก ๆ จะทำให้ร่างกายบวมน้ำ เมื่อบวมน้ำก็ส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูง แรงดันสูงเหล่านี้จะไปทำให้ไตทำงานหนักและเสื่อมเร็วขึ้น

นอกจากอาหารรสเค็มแล้ว โปรตีนก็ส่งผลต่อไตเช่นกัน เนื่องจากเป็นของเสียที่ร่างกายต้องกำจัดออกผ่านทางปัสสาวะ ดังนั้นหากกินในปริมาณที่มาก จะทำให้ไตทำงานหนัก ทำให้ไตเสื่อม ไตวายได้ เช่นเดียวกับคนไข้เบาหวานก็ควรระวังเช่นกัน เพราะหากควบคุมน้ำตาลไม่ดี จะทำให้น้ำตาลสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นพิษต่อไตได้

สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ควรระวัง คือ ยาที่เป็นพิษกับไต เช่น กลุ่มยาแก้ปวด ยาแก้ปวดข้อ โดยเฉพาะที่เขียนกำกับไว้ว่าให้กินหลังอาหารทันทีและดื่มน้ำตามมาก ๆ ยาประเภทนี้ไม่ควรกินบ่อยเกินไป เพราะจะส่งผลเสียกับไตได้เช่นกัน

โรคไตเรื้อรัง คือ โรคที่เนื้อไตค่อย ๆ สูญเสียไป เริ่มจากการถูกทำลายไปทีละน้อย จนกระทั่งเกิดไตวาย ถือเป็นภัยเงียบอย่างหนึ่ง เพราะเป็นโรคที่มักไม่แสดงอาการ โดยบางรายกว่าจะมีอาการได้เห็น ไตก็เสียหายไปกว่า 70% แล้ว โดยโรคไตแบ่งออกได้เป็นระดับต่าง ๆ ดังนี้

ระยะ 1 ไตจะทำงานมากกว่า 90% ระยะนี้ถือว่าไตเริ่มเสื่อม แต่ยังไม่แสดงอาการให้เห็น

ระยะ 2 ไตจะทำงานประมาณ 60-89% ระยะนี้ไตจะเริ่มถูกทำลาย แต่ก็ยังไม่มีอาการมากนัก

ระยะ 3 ไตจะทำงานเพียงแค่ 30-59% ระยะนี้จะเข้าสู่ระยะที่เรียกว่าไตเสื่อม โดยอาจแสดงอาการบ้างเล็กน้อย

ระยะ 4 ค่าการทำงานของไตจะเหลือเพียง 15-29% เท่านั้น ถือเป็นระยะที่ไตเริ่มวาย เป็นโรคไตระยะท้าย ๆ ที่เริ่มรุนแรง

ระยะ 5 ไตจะทำงานน้อยกว่า 15% เป็นไตวายระยะสุดท้าย (ESRD) โดยระยะนี้อาจต้องพิจารณาเปลี่ยนไต หรือใช้ไตเทียมรักษาในระหว่างรอเปลี่ยนไต

ส่วนวิธีการสังเกตเบื้องต้นของคนที่เป็นโรคไต คือ มีอาการบวมที่แขน ขา เมื่อกินอาหารรสเค็ม โดยมักจะเป็นช่วงสาย ๆ และกลางคืน หลังตื่นเช้าจะมาบวมที่หน้า และตาบวมแทน บางรายปัสสาวะเปลี่ยนสีจากสีเหลืองเป็นสีชาแก่ สีส้ม ถ้าเป็นสีแดงถือว่าอันตรายมากเพราะมีเลือดแล้ว รวมทั้งปัสสาวะมีฟองมากคล้ายกับฟองเบียร์ด้วย

หมายเหตุ : รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ สาขาวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล