
ผลสำรวจของ Deloitte ระบุว่า การยอมรับความแตกต่างหลากหลายในที่ทำงานเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับคนรุ่นใหม่ ยิ่งเฉพาะ Gen Z และมิลเลนเนียล โดยเฉพาะ กลุ่ม LGBTQ+ ดังนั้น ในช่วงของเดือนแห่งเทศกาลไพรด์ หรือ Pride Month จึงทำการสำรวจถึงเรื่องนี้ ซึ่งมีคะแนนถึง 75% เชื่อว่าการเปิดเผยตัวตนเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศมีความสำคัญ แต่เหตุผลที่ทำให้พวกเขาไม่เปิดเผยตัวตนกลับเป็นความกังวลว่าจะได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม
“กิตติ พีรธนารัตน์” สายงานทรัพยากรบุคคลของทรู คอร์ปอเรชั่น คือหนึ่งในตัวแทนของกลุ่ม LGBTQ+ ที่มาบอกเล่าเรื่องราวความหลากหลายในเดือนแห่งความภาคภูมิใจ เขาคือคนรุ่นใหม่ที่กล้าเปิดเผยความเป็นตัวเองอย่างแท้จริง ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการสร้าง Business Inclusion Toolkit กับทาง UNDP และองค์กรชั้นนำในประเทศไทยที่ช่วยให้บริษัทต่าง ๆ มีกลยุทธ์สนับสนุนการมีส่วนร่วมในการทำงานอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ เขายังเป็นกระบอกเสียงบอกต่อให้พนักงานที่มีความแตกต่างหลากหลายตระหนักรู้ถึงสิทธิต่าง ๆ ของตัวเอง
“ผมเติบโตมาในยุคที่ยังไม่เปิดรับความหลากหลายทางเพศมากนัก ยิ่งเราเป็นลูกชายที่เกิดมาในครอบครัวคนจีน ยิ่งมีความคาดหวัง แม้พ่อแม่จะแยกทางกันตั้งแต่เด็ก ๆ และเติบโตมากับฝั่งแม่ที่เป็นคนไทย แต่ผมก็เลี่ยงที่จะยอมรับกับตัวตนที่เราแสดงออก โดยมองว่าเราเป็นเด็กผู้ชายเรียบร้อย ตอนไปเจอญาติ ต้องเก็บความเป็นตัวเองไว้ ไม่แสดงออกให้ใครเห็น”
“พอเรียนมัธยมปลาย แม่ไปทำงานต่างประเทศ ทำให้เราต้องรับผิดชอบ และตัดสินใจทุกเรื่องในชีวิตด้วยตัวเอง พร้อมกับดูแลความรู้สึกตัวเองด้วย จุดนี้ทำให้มีความมั่นใจว่าเรารับผิดชอบตัวเองได้ทุกเรื่อง เมื่อเข้าสู่สังคมมหาวิทยาลัย เราก็แสดงความเป็นตัวของตัวเองออกมา เปิดตัวแบบไม่ปิดเลย
เพราะเราเคารพตัวตนของตัวเองมาก และเชื่อว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้องแล้ว และไม่เคยเสียความมั่นใจเลยสักครั้ง ตอนนั้นทำกิจกรรมเยอะมาก ทำทุกอย่างที่ทำให้เราโดดเด่น เรียกว่ามั่นหน้ามาก ๆ แต่ไม่ใช่โลกกว้างที่เราอยากเจอ”
“กิตติ” เล่าต่อว่า ตอนย้ายมาทำงานในองค์กรที่ค่อนข้าง Conservative มีวันหนึ่งต้องไปประชุมกับผู้บริหาร หัวหน้างานบอกเราว่าเวลาเจอผู้ใหญ่ พยายามอย่าแสดงออกเยอะนะ ทำตัวแมน ๆ ตอนนั้นเกิดคำถามทันทีเลยว่าทำไมเราเป็นตัวเองไม่ได้ล่ะ แต่ก็ไม่ได้ตอบโต้อะไรออกไป ได้แต่นิ่ง
จากนั้นก็คิดว่านี่เป็นหนึ่งบทเรียนเล็ก ๆ ที่ไม่ใช่ว่าทุกที่ หรือทุกคนจะถูกใจ หรือยอมรับการเปิดเผยตัวตนของเราทั้งหมด แต่ถ้ามองกลับไปจากวัยที่เติบโตขึ้นก็คิดว่าหัวหน้าหวังดี เพราะเขาทำงานในองค์กรนั้นมานาน เขาย่อมรู้ว่าแบบไหนที่จะทำงานได้ง่ายกว่า
สุดท้ายมาทำงานในสายของ HR ที่ dtac ซึ่งการแสดงตัวตนชัดเจนแบบนี้ทำให้เรามีโอกาสเป็นตัวแทนขององค์กรเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้าง Business Inclusion Toolkit ที่ทาง UNDP ร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้บริษัทต่าง ๆ มีกลยุทธ์ในการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่สนับสนุนให้ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่
ตอนนั้นเราคุยกับผู้นำองค์กรที่ทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง ก่อนจะตกผลึกว่านี่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย เมื่อเราตระหนักรู้และเข้าใจแล้วก็ต้องเป็นหนึ่งเสียงที่พูดเรื่องนี้ออกไป ให้คนเห็นความสำคัญ ให้ผู้คนเชื่อเราให้ได้
“พอกลับมาจากงานนั้น เราก็ทำงานรณรงค์ และสนับสนุนเรื่องการโอบรับความแตกต่างหลากหลายมาตลอด ยิ่งในฐานะ HR เราพยายามบอกให้พนักงานทุกคนรู้ว่าพวกเขามีสวัสดิการอะไรบ้าง ไม่เฉพาะแค่กลุ่ม LGBTQ+ เท่านั้น แต่เป็นสวัสดิการสำหรับทุกคน ซึ่งตอนนี้ทรูมีสวัสดิการ และสิทธิของพนักงานที่ค่อนข้างครอบคลุมกับความหลากหลาย”
สำหรับสวัสดิการสำหรับพนักงาน LGBTQ+ และคู่สมรสเพศเดียวกันของทรูในปัจจุบัน “กิตติ” บอกว่า พนักงานสามารถลาผ่าตัดแปลงเพศได้ 30 วัน ลาเพื่อเข้าพิธีสมรสได้ 6 วัน (รวมวันหยุด) หรือสามารถเบิกสวัสดิการเงินช่วยเหลืองานแต่งงานของพนักงานได้ 5,000 บาท
นอกจากนี้ ยังมีสวัสดิการที่ครอบคลุมความหลากหลาย เช่น คุณแม่สามารถลาคลอดได้สูงสุด 180 วัน (เมื่ออายุงานเกิน 2 ปี) ฝั่งคุณพ่อก็สามารถลาเมื่อภรรยาคลอดบุตรได้ 7 วัน (รวมวันหยุด) ต่อครั้ง เราพยายามบอกให้เขารับรู้ในสิทธิที่ตัวเองมี
นอกจากนี้ ในมุมมองของคนทำงาน HRBP (Human Resources Business Partner) การส่งเสริมความหลากหลายให้ดีขึ้นคือต้องฟังเสียงพนักงานให้มาก ต้องถามตัวเองตลอดว่าเราฟังลูกค้าคนสำคัญของเรามากพอหรือยัง
เพื่อจะนำความคิดเห็น หรือฟีดแบ็กมาปรับปรุงพัฒนาให้เกิดประสบการณ์ที่ดีในการทำงาน เพื่อองค์กรจะได้ไม่หยุดนิ่งในการส่งเสริม และโอบรับกับความหลากหลาย ที่สำคัญ ต้องทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกปลอดภัยทางใจในที่ทำงาน รวมถึงความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งก็คือตัว B (Belonging) ตามหลัก DEI&B”
นอกจากนั้น สังคมมักจะตีตราว่าถ้าเราเป็น LGBTQ+ จะต้องเป็นคนตลก หรือทำตัวเด่น จริง ๆ ไม่ใช่เลย อย่างการที่เราชอบเต้นก็เป็น Passion อย่างหนึ่ง เพราะนอกจากจะได้ปลดปล่อยความเป็นตัวเองออกมา เรายังแกะท่าเต้นตาม YouTube จนถึงขนาดไปเรียน และกลายเป็นงานอดิเรกแบบจริงจัง แม้แต่การทำงาน หรือร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น พิธีกร ตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของความชอบ เป็นตัวตนของคน Extrovert ที่ชอบอยู่ท่ามกลางผู้คน
“เชื่อไหมว่าไม่มีสักครั้งเลยที่เราจะนำคำพูดไม่ดีเหล่านั้นมาบั่นทอนจิตใจตัวเอง เราก็แค่ไม่สนใจ และคิดว่าพวกเขาคงไม่ได้รับรู้แง่มุมอื่น ๆ หรือเรื่องที่เราต้องฝ่าฟัน เขาไม่ได้มาอยู่ในหน้าที่ของเรา ไม่รู้ว่าเราเจองานที่ท้าทายอย่างไรบ้าง
จริง ๆ ชีวิตเราก็เหมือนกับทุกคนที่ไม่ได้มีแค่เรื่องสนุกอย่างเดียว ถ้าเป็นคำติแบบสร้างสรรค์ ก็ยินดีรับไว้ปรับปรุงพัฒนาตัวเอง แต่ถ้าเป็นการตัดสินเราจากอคติ เราไม่สนใจคำพูดเหล่านั้นเลย”
“ทุกคนจะเป็นอะไรก็ได้ ขอให้เป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดก็พอ”