ถอดกลยุทธ์ ‘ไทยเบฟ’ มุ่งสู่ผู้นำความยั่งยืนระดับโลก

ต้องใจ ธนะชานันท์
ต้องใจ ธนะชานันท์

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่มบริษัทไทยเบฟ นอกจากจะเป็นบริษัทเครื่องดื่มรายใหญ่สุดในไทย และบริษัทอุตสาหกรรมเครื่องดื่มชั้นนำในภูมิภาคอาเซียนแล้ว ยังถือเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนอีกด้วย ทั้งนั้นจากการได้รับคะแนนสูงสุด 91 คะแนน จาก 100 คะแนน ในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มระดับโลกจากดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) ประจำปี 2023 เป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน พร้อมได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนีโลก (World Index) และกลุ่มดัชนีตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets Index) เป็นปีที่ 7 และ 8 ติดต่อกันตามลำดับ

ที่สำคัญ ไทยเบฟเวอเรจ ยังเป็นบริษัทเครื่องดื่มเพียงแห่งเดียวที่ได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกกลุ่มดัชนีตลาดเกิดใหม่ในปี 2023

ทั้งนั้นเพราะ DJSI ประเมินผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทที่เลือกมา โดยใช้เกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (ESG) 30 ข้อ และในปีนี้ไทยเบฟได้รับคะแนนสูงสุดในมิติการกำกับดูแลและเศรษฐกิจ รวมถึงมิติสังคม ทั้งยังได้คะแนนสูงสุดเป็นอันดับสองในมิติสิ่งแวดล้อม เมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรม ยิ่งไปกว่านั้นยังได้รับคะแนนเต็ม 100 คะแนน จากเกณฑ์การประเมิน 6 ข้อ และอยู่ในเปอร์เซ็นไทล์ที่ 100 จากเกณฑ์ 13 ข้อ

กลยุทธ์ความยั่งยืน 3 ระดับ

“ต้องใจ ธนะชานันท์” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานความยั่งยืนและกลยุทธ์ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในฐานะแม่ทัพใหญ่ผู้ดูแลเรื่องกลยุทธ์ความยั่งยืน ฉายภาพเรื่องนี้ให้ฟังว่า ไทยเบฟมีกลยุทธ์การดำเนินงานด้านความยั่งยืน 3 ระดับ

คือ 1.ภายในองค์กรทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นโรงงาน ทีมขาย ทีมจัดซื้อ พนักงาน ฯลฯ 2.การร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ ทั้งรายเล็กรายใหญ่ เช่น เครือข่าย Thailand Supply Chain Network (TSCN), Connext ED, มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ฯลฯ และ 3.การสร้างแพลตฟอร์มสาธารณะ อย่างเช่น การจัดงาน Sustainable Expo, โครงการประชารัฐสามัคคี ฯลฯ

กล่าวกันว่า ทุก 3 ระดับความยั่งยืนดำเนินกิจการโดยยึดหลัก ESG โดยในด้านสิ่งแวดล้อมนั้น อย่างแรกคือเรื่องของน้ำ เนื่องจากธุรกิจไทยเบฟเป็นธุรกิจที่มีการใช้น้ำสำหรับผลิตเครื่องดื่มปริมาณมาก และการผลิตน้ำ 1 ลิตร เราไม่ได้ใช้น้ำแค่ 1 ลิตร เพราะมีน้ำทิ้งจากการผลิต จากการใช้ล้างบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ

ADVERTISMENT

“ฉะนั้น เราต้องลดการใช้น้ำลง โดยใช้น้ำแต่ละหยดให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด พร้อมกับคืนน้ำกลับสู่ธรรมชาติ ผ่านการสร้างเขื่อน ฝาย ปลูกต้นไม้ในโครงการต่าง ๆ ซึ่งในส่วนนี้ตั้งเป้าว่าจะคืนน้ำกลับคืนสู่ธรรมชาติให้ได้ 100% ภายในปี 2040 ดิฉันมองว่าเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย เพราะปีหนึ่งใช้น้ำค่อนข้างเยอะ เราเริ่มทำงานเรื่องนี้แล้ว โดยร่วมมือกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) ซึ่งปีที่ผ่านมาก็คืนน้ำ 5% คืนสู่ธรรมชาติได้แล้ว”

ส่งแผนงานไทยเบฟให้ SBTi

“ต้องใจ” กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ทั้งทางตรงในขอบเขตที่ 1 และทางอ้อมในขอบเขตที่ 2 (Scope 1 และ 2) ภายในปี 2040 พร้อมกับการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น 50% ดังนั้นความก้าวหน้าปีนี้ เรากำลังจะนำแผนงานไทยเบฟส่งไปให้ Science Based Targets Initiative หรือ SBTi เครือข่ายระดับโลกตรวจ และรับรองว่าเราทำได้จริงตามเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ เพราะ SBTi เสมือนเป็นครูตรวจข้อสอบ คาดว่า ภายใน ก.ย.นี้ถ้าทำได้ดีตามเกณฑ์ ก็จะได้รับการรับรอง

ADVERTISMENT

ส่วนเรื่องบรรจุภัณฑ์ ภาพรวมกลุ่มสินค้าเครื่องดื่มของไทยเบฟมีการผลิตต่อปี 5,000 ล้านขวด เป็นขวดแก้วมากกว่า 2,000 ล้านขวด ขวด PET กว่า 2,000 ล้านขวด สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ทั้งหมด รวมถึงยังมีขวด PET สีเขียว เป็นผลิตภัณฑ์น้ำแร่อีกจำนวนหนึ่งฉะนั้นภายในปีนี้จะมีการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ของขวด PET ใส ไปใช้ rPET โดยตั้งสัดส่วนการใช้ราว 30% ปีนี้น่าจะเริ่มทยอยออกมา

ขณะที่แพ็กเกจจิ้งต่าง ๆ ต้องยึดหลักหมุนเวียนได้ ย่อยสลายได้ สำหรับขวดพลาสติกสีเขียว ที่ผ่านมามีการถูกพูดถึงเหมือนกันว่ารีไซเคิลยาก จริง ๆ รีไซเคิลได้ แต่ต้องแยกการทิ้งจากขวดใส เพราะนำมารีไซเคิลรวมกันไม่ได้ ฉะนั้นเราจะมีการเก็บกลับคืน โดยมีการคุยกับบริษัทรีไซเคิลถ้าเก็บครบ 10-15 ตัน จะเริ่มรีไซเคิลเป็น rPET กลับคืนเข้าสู่กระบวนการ

ขณะที่ด้านสังคม และธรรมาภิบาล มีการตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มระดับความผูกพันของพนักงานให้มากกว่า หรือเท่ากับ 90% ภายในปี 2573 และภายในปี 2573 การกำหนดให้คู่ค้ากลุ่มกลยุทธ์มีการจัดทำและบังคับใช้จรรยาบรรณสําหรับคู่ค้าของตนเอง

เครือข่าย TSCN ยั่งยืนไปด้วยกัน

“ต้องใจ” เล่ารายละเอียดอีกว่า ในส่วนต่อมาเราทำงานร่วมกับเครือข่าย โดยเฉพาะเครือข่ายธุรกิจร่วมกับองค์กรเอกชนอีก 8 องค์กร ก่อตั้งเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานประเทศไทย (Thailand Supply Chain Network-TSCN) ตั้งแต่ปี 2562 เรามีเครือข่ายซัพพลายเออร์กว่า 2,000 บริษัท

นอกจากนั้น เรายังจัดทำ Thailand Sustainability Academy หลัก ๆ เป็นการเทรนเรื่องลดก๊าซเรือนกระจกที่จะสอนให้ทุกคนเข้าใจว่าก๊าซเรือนกระจกคืออะไร บัญชีก๊าซเรือนกระจกคืออะไร บริษัทของท่านปล่อยก๊าซมากน้อยแค่ไหน ลดได้อย่างไร

“การทำเรื่องนี้ไทยเบฟมองว่าสำคัญ เพราะคือ Scope 3 ที่เราไม่ได้ปล่อยเอง แต่เป็นคนอื่น หรือซัพพลายเออร์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรา ดังนั้นถ้าเราจะไปสู่ Net Zero ต้องได้รับการร่วมมือจากซัพพลายเออร์ หรือจะต้องลงมือลงแรงร่วมกันอย่างแข็งขัน”

เกาะโมเดลเพื่อแปรรูปขยะยั่งยืน

ส่วนเรื่องความร่วมมือกับชุมชน “ต้องใจ” บอกว่า เรามีโครงการที่เรียกว่า “เกาะโมเดล” เนื่องจากประเทศไทยมีปัญหาเรื่องขยะทางทะเลมากมาย ที่ผ่านมาเราร่วมมือกับเทศบาลท้องถิ่น และพันธมิตร ริเริ่ม “โครงการสมุยโมเดล” ในปี 2562 โดยร่วมกับเทศบาลนครเกาะสมุย และร้านค้าของเก่าในการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วหลังการบริโภค

ทั้งยังเริ่มขยายผลโครงการสู่เกาะสีชัง ในปี 2566 ผ่านมา และจะขยายไปยังเกาะล้าน และเกาะเสม็ดต่อไป

อีกหนึ่งโครงการหลักที่ไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะทำมากว่า 24 ปี คือ “ไทยเบฟ รวมใจต้านภัยหนาว” โดยแจกผ้าห่มจำนวน 200,000 ผืนต่อปี ให้แก่ผู้ประสบภัยหนาวในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนมาใช้ rPET เพื่อผลิตผ้าห่มผืนเขียวรักษ์โลก และนำขวดพลาสติก PET กลับมาสู่กระบวนการรีไซเคิล ผลิตเป็นผ้าห่มได้แล้วทั้งสิ้น 30,400,000 ขวด

ทั้งยังมีโครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย โดยเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2559 นอกจากจะเป็นการส่งเสริมสร้างรายได้ให้ชุมชน ด้วยการนำผ้าขาวม้ามาออกแบบสร้างสรรค์ใหม่ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ปัจจุบันมีชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้าทอมือเข้าร่วมโครงการ 40 ชุมชน จาก 30 จังหวัด มีผู้ได้รับประโยชน์ 1,561 ราย สร้างรายได้รวมกว่า 235 ล้านบาท

SX งานใหญ่ระดับภูมิภาค

“ต้องใจ” กล่าวอีกว่า ส่วนการสร้างแพลตฟอร์มสาธารณะ ไทยเบฟเป็นผู้ริเริ่ม และแกนหลักในการขับเคลื่อนการจัดงาน Sustainability Expo (SX) ประจำปี ภายใต้แนวคิด “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก” ซึ่งจัดเป็นปีที่ 4 จากการผสานความร่วมมือของเครือข่ายที่เป็นองค์กรด้านความยั่งยืนจากภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ทั้งในประเทศ และต่างประเทศที่เข้าร่วมกว่า 246 องค์กร ที่ประสบความสำเร็จ และสร้างปรากฏการณ์แห่งการปลุกจิตสำนึกด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนมาแล้ว

“งานนี้จะขับเคลื่อนไปเรื่อย ๆ เพราะเป้าหมายของเรา และพันธมิตรคือต้องการให้เป็นงานระดับภูมิภาค ไม่ใช่แค่ในประเทศ ไฮไลต์ที่เราเน้นในปีนี้ อาจจะเน้นในเรื่องของการร่วมมือกับต่างประเทศมากขึ้น เช่น มีการนำความรู้ ตัวอย่างนวัตกรรมจากประเทศที่น่าสนใจ โดยจะเน้นไปที่การหาทางออก เพราะที่ผ่านมาเราพูดแต่ปัญหา ไม่เคยพูดถึงทางออกเลยว่าจะทำอย่างไร”

ขับเคลื่อนความยั่งยืนใน ตปท.

สำหรับในต่างประเทศ ไทยเบฟเดินหน้าสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนในประเทศเมียนมา เวียดนาม และสหราชอาณาจักร ยกตัวอย่างในเมียนมา เราทำเรื่องพลังงานสะอาด มีโซลาร์เซลล์ และมีการนำตอซังข้าวมาเป็นเชื้อเพลิง ส่วนสกอตแลนด์ เราทำเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ เพาะพันธุ์ปลาแซลมอน ปลาที่อยู่รอบ ๆ โรงงาน ดูแลไม่ให้สูญพันธุ์ ส่วนเวียดนามเป็นบริษัทลูกที่ใหญ่ และมีโรงผลิตหลายแห่งที่เราต้องลงไปดู

ทั้งนี้ การทำงานกับแต่ละประเทศคือ กฎหมายของแต่ละประเทศ มีความเร็วช้า และรายละเอียดต่างกัน อย่างเวียดนาม กฎหมายเรื่องบรรจุภัณฑ์ค่อนข้างเร็ว สิงคโปร์มีเรื่องภาษีคาร์บอน ซึ่งต้องเรียนรู้และดำเนินการให้ทัน ถึงจะสัมฤทธิผลในที่สุด