ภาคการเงินบทบาท “ตัวกลาง” จิ๊กซอว์เปลี่ยนผ่าน “เศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน”

หากกล่าวในแง่ของภาคอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ หรือสร้างปัญหาก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แน่นอนว่าธุรกรรมในภาคการเงินน่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ในกลุ่มท้าย ๆ ที่ก่อปัญหา

แต่วันนี้ “ภาคการเงิน” ต้องขึ้นมาเป็นแถวหน้าของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เพราะสถาบันการเงินมีบทบาทสำคัญในฐานะ “ตัวกลาง” ในการจัดสรรทรัพยากร “เงินทุน” ในระบบเศรษฐกิจ ไปสู่อุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เป็นผู้สร้างผลกระทบเชิงลบต่อโลก

ดังนั้นการสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อโลกยั่งยืน “สถาบันการเงิน” จึงต้องเป็นตัวกลางที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนและสนับสนุน การเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนของธุรกิจและสังคม ด้วยความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ESG หรือสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และอยู่ภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดี (Governance)

จึงนำไปสู่ การตั้งคณะทำงานด้านความยั่งยืนในภาคการเงิน (Working Group on Sustainable Finance) ที่ประกอบไปด้วย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.), และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อร่วมมือกันในการกำหนด “ทิศทาง” การดำเนินการด้านการเงินไทยเพื่อความยั่งยืน

(FILES) Photo by I-Hwa CHENG / AFP

เคลื่อนทัพปรับตัว…สู่ความยั่งยืน

โดย ธปท. หน่วยงานกำกับสถาบันการเงินไทย ได้วางกรอบทิศทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้ “ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย” ที่เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนภาคการเงินให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนให้ภาคธุรกิจและประชาชนทยอยปรับตัวไปสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างราบรื่น ตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศ

Advertisment

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนการปรับตัวจะต้องคำนึงถึงบริบทและความพร้อมของแต่ละภาคเศรษฐกิจด้วย เพราะไทยยังพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิลในสัดส่วนที่สูง และใช้เทคโนโลยีแบบดั้งเดิมที่ยังไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่าที่ควร

ขณะที่กลไกในระบบการเงินที่จะสร้างแรงจูงใจให้แต่ละภาคส่วนปรับตัว โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ยังทำงานได้ไม่เต็มที่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้

ดังนั้นในการเตรียมความพร้อมของภาคการเงิน ธปท. จึงได้ออกแบบแผนดำเนินงานที่คำนึงถึงจังหวะเวลาและความเร็วของการดำเนินการที่ชัดเจน และให้มีสมดุลระหว่างการปรับตัวและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยต้องไม่เร่งรัดจนทำให้ภาคเศรษฐกิจส่วนใหญ่ปรับตัวไม่ทัน หรือไม่ช้าจนเกินไปจนทำให้เกิดการละเลยหรือเพิกเฉยที่จะปรับตัว จนส่งผลกระทบเชิงลบในระยะยาว

แผนเคลื่อนทัพสำคัญ 5 ด้าน

โดยแผนการดำเนินงานของภาคการเงิน เพื่อให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม และทำหน้าที่สนับสนุนให้ภาคธุรกิจและประชาชนปรับตัวสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลนั้น ธปท.มีแผนการดำเนินงานเพื่อวางรากฐานสำคัญ 5 ด้าน ดังนี้

Advertisment

1.ปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงิน เพื่อให้มีบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้านสิ่งแวดล้อมที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจ (Products and Services) โดยการออกแนวนโยบายการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินที่คำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อมที่มีมาตรฐาน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงาน

2.จัดทำมาตรฐานกลางที่กำหนดนิยามและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Taxonomy) ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน โดยเริ่มจากการจัดกลุ่มกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจหลักที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนที่สูง ภาคพลังงานและภาคการขนส่ง เพื่อให้แต่ละภาคส่วนนำไปใช้อ้างอิงและช่วยให้สามารถประเมินสถานะการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของตนได้

3.ร่วมพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางด้านสิ่งแวดล้อมและมีมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลของสถาบันการเงิน (Data and Disclosure) ในการพัฒนาฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการประเมินโอกาสและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ในการกำหนดนโยบาย กลยุทธ์ หรือการบริหารจัดการความเสี่ยง

4.สนับสนุนการสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสม (Incentive) เพื่อกระตุ้นให้สถาบันการเงิน ภาคธุรกิจ และผู้บริโภค เห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อม

5.ยกระดับองค์ความรู้และความชำนาญของบุคลากรในภาคการเงิน โดยพัฒนาหลักสูตรร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจ สามารถประเมินโอกาสและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมให้คำแนะนำแก่ภาคธุรกิจได้อย่างเหมาะสม

“สถาบันการเงิน” จิ๊กซอว์สำคัญ

การขับเคลื่อนให้ภาคการเงินช่วยเศรษฐกิจเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้กำกับดูแลสถาบันการเงิน และต้องการเห็นรูปธรรมที่เกิดขึ้น จึงเริ่มต้นจากการกำหนดให้ 6 แบงก์ใหญ่ ทำแผนและแนวทางการนำเสนอบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ในการสนับสนุนธุรกิจในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนอย่างไรบ้าง

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจาก ธปท.ออกมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) ไป ล่าสุดได้มีการหารือกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ (D-SIBs) 6 แห่ง เพื่อผลักดันให้ภาคการเงินเกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ด้านสิ่งแวดล้อม ให้มีการปรับตัวของภาคธุรกิจเกิดขึ้นจริง โดยกำหนดให้แบงก์ส่งแผนและแนวทางออกโปรดักต์ภายในไตรมาส 1 ปี 2567

(FILES) Photo by GUILLEM SARTORIO / AFP

“ธปท.ให้แบงก์จัดทำแผนและแนวทางการออกโปรดักต์ที่สามารถตอบโจทย์ให้ลูกค้าสามารถปรับเปลี่ยนได้จริง โดย ธปท.ต้องการเริ่มต้นให้แบงก์คัดเลือกเซ็กเตอร์ หรือพอร์ตธุรกิจที่คิดว่า ลูกค้ามีความพร้อมต้องการปรับเปลี่ยนให้เป็นธุรกิจสีเขียว อาจจะไม่ใช่แค่ 2 กลุ่ม ธุรกิจพลังงาน-ภาคขนส่ง ตามที่กำหนดให้ Taxonomy แต่อาจจะเป็นเซ็กเตอร์ที่มีความพร้อมและต้องการปรับเปลี่ยน สถาบันการเงินต้องมีผลิตภัณฑ์การเงินที่ออกมารองรับ”

สำหรับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 6 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ, กสิกรไทย, ไทยพาณิชย์, กรุงไทย, กรุงศรีอยุธยา และธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี)

ขณะที่สมาคมธนาคารไทย ก็ประกาศร่วมกับธนาคารสมาชิก เพื่อขับเคลื่อนทางด้าน ESG ที่จะเป็นการวางรากฐานและกรอบดำเนินงานในอุตสาหกรรมธนาคาร ภายใต้ “ธนาคารเพื่อความยั่งยืน”

โดยจะพบว่า ธนาคารใหญ่ 5-6 แห่ง ได้ทยอยออกมาประกาศยุทธศาสตร์และเป้าหมายไปสู่ “Net Zero” โดยนำแนวทาง “Taxonomy” เป็นหลักยึด หรือ “ไม้บรรทัด” วัดในการประเมินและจัดกลุ่มลูกค้า เช่น ธุรกิจโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่นับเป็นธุรกิจที่จัดกลุ่มในสีแดง ธนาคารได้มีการส่งสัญญาณถึงลูกค้ากลุ่มนี้ให้มีการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจ พร้อมกับการปรับลดพอร์ตธุรกิจที่เข้าข่ายไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

จังหวะเวลา-ความเร็วต้องสมดุล

“เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้น โดยธนาคารกลางในฐานะผู้ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน จำเป็นต้องเข้าใจและเตรียมรับผลกระทบ

รวมถึงเพิ่มบทบาทเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเร่งด่วน ซึ่งการรับมือการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมได้เร็ว จะช่วยให้เกิดการปรับตัวได้อย่างราบรื่นและมีต้นทุนที่ต่ำกว่า

ธปท.ได้ออก “Directional Paper ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย” เมื่อปี 2565 ภายใต้การดำเนินงาน 3 มิติ หนึ่งในนั้น คือ Transition Finance ถือเป็นโจทย์ที่มีความท้าทายที่ไทยกำลังเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว และความยั่งยืน ซึ่งไทยได้ประกาศเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2608 (ค.ศ. 2065)

ผู้ว่าการ ธปท.ระบุว่า ในการทำหน้าที่ของภาคการเงินเพื่อช่วยเศรษฐกิจเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน โดยสร้างผลข้างเคียงให้น้อยที่สุด จะต้องสร้างสมดุลระหว่างความสามารถในการปรับตัวและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นจังหวะเวลา (timing) และความเร็ว (speed) ของการดำเนินการจึงต้องพิจารณาให้เหมาะสม ไม่ให้ช้าจนเสี่ยงก่อให้เกิดความเสียหาย และไม่เร็วเกินไปจนตัดขาดธุรกิจที่ยังไม่พร้อม

(FILES) Photo by JAIME REINA / AFP

Thailand Taxonomy กติกาใหม่เพื่อโลกยั่งยืน

รากฐานสำคัญของ “ภูมิทัศน์ภาคการเงินใหม่” หนึ่งในนั้นคือ การจัดทำมาตรฐานกลางที่ใช้อ้างอิง ในการจำแนกจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทย หรือ Thailand Taxonomy

โดย Thailand Taxonomy จะแบ่งกิจกรรมต่าง ๆ ออกเป็น 3 ระดับ (ระบบ Traffic-Light System) ได้แก่ สีเขียว สีเหลือง และสีแดง

“สีเขียว” คือ กิจกรรมที่ลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิใกล้เคียงหรือเท่ากับศูนย์ในปัจจุบัน

“สีเหลือง” คือ กิจกรรมที่ยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ ไม่ใกล้เคียงหรือเท่ากับศูนย์ และอยู่ระหว่างการปรับตัวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“สีแดง” คือ กิจกรรมที่ไม่สามารถประเมินได้ว่าสามารถลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิได้ และไม่เข้าข่ายตามเงื่อนไขและตัวชี้วัดกิจกรรมในระดับสีเขียวและสีเหลือง เช่น การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ซึ่งกิจกรรมสีแดงจะต้องยุติ หรือ ยกเลิก

การทำ Thailand Taxonomy มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจและภาครัฐมีมาตรฐานเดียวกันที่เป็นแนวทางอ้างอิงในการจำแนกกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สอดคล้องกับสากลและเหมาะสมกับบริบทของไทย

ทั้งสามารถใช้เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการจัดสรรเงินทุน การบริหารจัดการความเสี่ยงและการลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงการกำหนดนโยบายและมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยการจัดทำ Thailand Taxonomy ในระยะที่ 1 เริ่มด้วยการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ “ภาคพลังงาน” และ “ภาคขนส่ง” เป็นลำดับแรก เนื่องจากเป็นภาคเศรษฐกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนสูง

Thailand Taxonomy จะมีการจำแนกกิจกรรมต่าง ๆ ในภาคพลังงานและภาคขนส่ง ว่ากิจกรรมใดอยู่ในกลุ่มสีอะไร ซึ่งในภาคการเงินก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือและแนวทางในการจัดสรรเงินทุน ปล่อยสินเชื่อ

เช่น กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งถูกจัดอยู่ในสีแดง สถาบันการเงินต่าง ๆ ก็จะไม่สนับสนุนส่งเสริมในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีธนาคารพาณิชย์หลายรายประกาศไม่ปล่อยสินเชื่อใหม่ให้กับโรงไฟฟ้าถ่านหิน

หรือกรณีกิจกรรมสีเหลือง ก็อาจจะได้รับสินเชื่อที่มีต้นทุนการเงินสูงกว่ากิจกรรมที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม สีเขียว นี่คือคำอธิบายง่าย ๆ

และล่าสุด ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกาศว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำ Thailand Taxonomy

ระยะที่ 2 เป็นการขยายขอบเขตให้ครอบคลุมภาคเศรษฐกิจอื่นที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ ภาคการจัดการของเสีย และภาคการเกษตร