วิเคราะห์ สี จิ้นผิง เยือน 3 ประเทศในยุโรป ดีลอะไร มีนัยสำคัญอย่างไรบ้าง

สี จิ้นผิง เอ็มมานูเอล มาครง
สี จิ้นผิง และเอ็มมานูเอล มาครง ระหว่างการเยือนฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2024 (ภาพโดย Aurelien Morissard/Pool via REUTERS)

สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ประธานาธิบดีจีนเดินทางเยือนยุโรป ฝรั่งเศส เซอร์เบีย และฮังการี ในวันที่ 6-10 พฤษภาคม ในช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหภาพยุโรปกำลังตึงเครียดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกของจีนที่ถล่มตลาดยุโรปจนสหภาพยุโรปต้องเปิดการสอบสวนและกำลังเตรียมตั้งกำแพงภาษี ซึ่งจะประกาศมาตรการและอัตราภาษีใหม่ในเร็ว ๆ นี้

การเดินทางของ สี จิ้นผิง ในห้วงเวลานี้ แม้ว่าจะมีวาระทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศต่าง ๆ ที่เยือน คือ วาระครบรอบ 60 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและฝรั่งเศส ครบรอบ 75 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตกับฮังการี และครบรอบ 25 ปี ที่นาโตทิ้งระเบิดใส่สถานทูตจีนในกรุงเบลเกรดของเซอร์เบียในระหว่างสงครามเซอร์เบียกับโคโซโว

แต่นัยสำคัญก็เป็นความพยายามที่จะส่งสัญญาณถึงอิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้นในยุโรป และพยายามให้คนในประเทศจีนเห็นว่าตัวเขาเองยังมีความสำคัญในเวทีโลก อีกทั้งยังมีนัยถึงความพยายามที่จะทำให้ลดความแน่นแฟ้นของความร่วมมือระหว่างยุโรปและสหรัฐ โดยใช้การเปิดกว้างทางการค้าและตลาดเป็นตัวขับเคลื่อนหลักเพื่อที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์กับยุโรป แล้วพยายามทำให้ความเชื่อใจที่สหรัฐมีต่อยุโรปลดน้อยลง

ในวันที่ 6 พฤษภาคม วันแรกที่ สี จิ้นผิง เดินทางถึงฝรั่งเศส เขากล่าวยกย่องความสัมพันธ์จีน-ฝรั่งเศส ว่า เป็น “แบบจำลองสำหรับประชาคมโลกในแง่ของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและความร่วมมือแบบได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายระหว่างประเทศที่มีระบบสังคมที่แตกต่างกัน” โดยชี้ถึงปฏิญญาจีน-ฝรั่งเศสเมื่อปีที่แล้วว่าด้วย “ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระดับโลก” ซึ่งรัฐบาลจีนสนับสนุนนโยบายเอกราชทางยุทธศาสตร์ของสหภาพยุโรป หรือ “European Strategic Autonomy” ซึ่งเป็นนโยบายที่จะเป็นอิสระและลดการพึ่งพากลุ่มประเทศมหาอำนาจของโลก โดยเฉพาะสหรัฐ

สี จิ้นผิง และเอ็มมานูเอล มาครง ขณะเยือนฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2024
เอ็มมานูเอล มาครง และภริยา กับ สี จิ้นผิง และภริยา ระหว่างการเยือนฝรั่งเศสของสี จิ้นผิง เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2024 (ภาพโดย Aurelien Morissard/ Pool via REUTERS)

จีนกับฝรั่งเศสได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือกัน 18 ฉบับ ครอบคลุมด้านต่าง ๆ เช่น การบิน เกษตรกรรม การแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน การพัฒนาสีเขียว และความร่วมมือของวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs)

Advertisment

เหล่านี้เป็น “ยาหอม” ที่สี จิ้นผิง โปรยให้ฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม มีการรายงานว่า เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีฝรั่งเศส กดดัน สี จิ้นผิง ตลอดการเยือนฝรั่งเศสให้จีนลดความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างสหภาพยุโรป (EU) กับจีน ซึ่งในปี 2023 สหภาพยุโรปขาดดุลจีน 292,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยให้บริษัทยุโรปในจีนเข้าถึงตลาดได้มากขึ้น และให้รัฐบาลจีนจ่ายเงินอุดหนุนผู้ส่งออกของจีนน้อยลง ไปจนถึงให้ สี จิ้นผิง ใช้อิทธิพลกดดัน วลาดิมีร์ ปูติน (Vlardimir Putin) ประธานาธิบดีรัสเซียให้ยุติสงครามในยูเครน

มาครงเชิญ เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน (Ursula von der Leyen) ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เข้าร่วมการประชุมไตรภาคีจีน-ฝรั่งเศส-สหภาพยุโรป ร่วมกับตัวเขาเองและสี จิ้นผิง ณ ทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศส ในกรุงปารีส ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเน้นย้ำความสามัคคีของสหภาพยุโรปในการเรียกร้องให้ธุรกิจยุโรปเข้าถึงตลาดจีนได้มากขึ้น และเพื่อพูดคุยข้อร้องเรียนของยุโรปเกี่ยวกับกำลังการผลิตส่วนเกินในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีสีเขียวของจีน อีกทั้งผลักดันให้ สี จิ้นผิง ควบคุมการขายผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีให้แก่รัสเซีย ซึ่งสี จิ้นผิง ไม่ได้ยอมรับกับประเด็นเหล่านี้เท่าใดนัก

สี จิ้นผิง และเอ็มมานูเอล มาครง ขณะเยือนฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2024
เอ็มมานูเอล มาครง และสี จิ้นผิง ระหว่างการเยือนฝรั่งเศสของ สี จิ้นผิง เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2024 (ภาพโดย Aurelien Morissard/Pool via REUTERS)

วันเดียวกันนั้น ในการประชุมสภาธุรกิจที่สำคัญในกรุงปารีส สี จิ้นผิง ให้คำมั่นว่าจะยกระดับมิติทางเศรษฐกิจและการค้าของความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมระหว่างจีน-ฝรั่งเศส พร้อมเปิดตลาดจีนให้กว้างขึ้น เพื่อสร้างโอกาสมากขึ้นให้กับบริษัทจากฝรั่งเศส ยุโรปและประเทศอื่น ๆ พร้อมเรียกร้องให้จีนและฝรั่งเศสร่วมกันต่อต้านความพยายามเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางธุรกิจให้เป็นประเด็นทางการเมือง อุดมการณ์หรือความมั่นคง

ประธานาธิบดีจีนออกจากฝรั่งเศสในวันที่ 8 พฤษภาคม เดินทางไปประเทศเซอร์เบีย ซึ่งเขาได้รับการต้อนรับอย่างอลังการจากประธานาธิบดี อเล็กซานดาร์ วูซิซ (Aleksandar Vučić) ของเซอร์เบีย

Advertisment

ประธานาธบดีเซอร์เบียได้ลงนามในวิสัยทัศน์ของสี จิ้นผิง เกี่ยวกับ “ชุมชนระดับโลกที่มีอนาคตร่วมกัน” และพวกเขายกย่อง “ความร่วมมืออันแข็งแกร่ง” พร้อมประกาศเน้นย้ำว่าข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ของจีนกับเซอร์เบียที่จัดทำเมื่อปีที่แล้ว จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ และมีการทำสัญญาทางเศรษฐกิจอื่น ๆ อีก

บรรยากาศการต้อนรับ สี จิ้นผิง เยือนเซอร์เบีย เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2024
บรรยากาศการต้อนรับ สี จิ้นผิง เยือนเซอร์เบีย เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2024 (ภาพโดย Djordje Kojadinovic/REUTERS)

สำหรับการเยือนประเทศสุดท้าย “ฮังการี” ในวันที่ 9 พฤษภาคม สี จิ้นผิง กล่าวยกย่องความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับยุโรปตะวันออก ว่าเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของจีน

เขาลงนามข้อตกลงกว่า 10 ฉบับที่ให้คำมั่นว่าจีนจะลงทุนด้านรถไฟ ถนน และพลังงานในฮังการีเพิ่มอีก เพื่อให้ฮังการีเป็นประตูของจีนในการเข้าสู่ยุโรป ในขณะที่นายกรัฐมนตรี วิกเตอร์ ออร์บาน (Viktor Orban) ของฮังการี ซึ่งให้การสนับสนุนเขาในการตอบโต้ข้อกล่าวหาจากชาติตะวันตกว่าจีนผลิตสินค้าล้นเกินความต้องการของตลาด ก็กำลังมองหาแหล่งเงินทุนเช่นกัน หลังจากที่ได้รับเงินลงทุนหลายพันหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐจากบริษัทจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นบริษัทในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

ทารา วาร์มา (Tara Varma) นักวิจัยอาคันตุกะ (Visiting Fellowship) ของสถาบันคลังสมอง “บรูกกิงส์” (Brookings Institution) ในสหรัฐอเมริกาวิเคราะห์ว่า สำหรับสี จิ้นผิง การเยือนครั้งนี้มีความสำคัญภายในประเทศ เพราะเขาต้องการแสดงให้ชาวจีนเห็นว่าเขายังคงได้รับการต้อนรับอย่างดีในยุโรป ขณะเดียวกันสีพยายามส่งเสริมความทะเยอทะยานของมาครงในเรื่องนโยบายเอกราชทางยุทธศาสตร์ของยุโรป ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่มีอยู่แล้วในการเยือนจีนของมาครงเมื่อปีที่แล้ว

วาร์มาวิเคราะห์ว่า สี จิ้นผิง ตีความว่า “เอกราชทางยุทธศาสตร์” (strategic autonomy) คือการที่ยุโรปหันหลังให้สหรัฐ และขยับไปเป็นพันธมิตรกับชาติอื่น ๆ โดยเฉพาะจีน ซึ่งไม่ตรงกับการตีความของฝรั่งเศสหรือยุโรป เพราะวิสัยทัศน์ของชาวยุโรปเกี่ยวกับเอกราชทางยุทธศาสตร์คือ มุ่งหวังให้ยุโรปสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินการต่าง ๆ ได้มากขึ้น ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงและการป้องกันประเทศ เพื่อเสริมสร้างการเชื่อมโยงข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกกับรัฐบาลสหรัฐ ในทางตรงกันข้าม เป้าหมายของสี จิ้นผิง คือการผลักดันให้เกิดช่องว่างระหว่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป และเพื่อแสดงให้เห็นว่าสหรัฐกับยุโรปมีความเป็นเอกภาพอย่างจำกัดต่อประเด็น “จีน”

สำหรับมาครง วาร์มามองว่า ผลตอบแทนที่มาเขาจะได้รับอาจต่ำกว่าที่ตัวเขาคาดหวังไว้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการค้าหรือนโยบายต่างประเทศ มาครงไม่ยอมล้มเลิกความตั้งใจโน้มน้าวให้สี จิ้นผิง ลดความสนิทสนมและการสนับสนุนปูตินลง แต่ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าสีจะทำอย่างที่มาครงต้องการ

ประธานาธิบดีฮังการี ต้อนรับสี จิ้นผิง เยือนฮังการี เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2024
ประธานาธิบดีฮังการี ต้อนรับสี จิ้นผิง เยือนฮังการี เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2024 (ภาพโดย Zoltan Mathe/Pool via REUTERS)

สอดคล้องกับที่นักการทูตยุโรปคนหนึ่งกล่าวกับรอยเตอร์ (Reuters) ว่า สี จิ้นผิง เป็น “ผู้ชนะ” ของการเยือนครั้งนี้ด้วยการ “ตอกย้ำภาพลักษณ์ของเขาในฐานะ ‘ผู้ปกครองโลก’ ซึ่งชาวตะวันตกขอร้องให้เขาแก้ปัญหาของยุโรปในประเทศยูเครน”

เชอร์ลีย์ หยู (Shirley Yu) นักเศรษฐศาสตร์การเมืองและนักวิจัยอาวุโสของวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (London School of Economics : LSE) ในสหราชอาณาจักรกล่าวกับอัลจาซีรา (Al Jazeera) ว่า ทั้งเรื่องการค้าและเรื่องรัสเซียเป็นเรื่องที่ไม่สามารถเจรจาต่อรองได้สำหรับจีน มาครงไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จใด ๆ ในเรื่องเหล่านี้

ถึงอย่างนั้นก็ตาม เธอชี้ว่า การเยือนครั้งนี้เป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ส่วนตัวของมาครงกับสี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ของมาครงในการทำให้ฝรั่งเศสเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญของประเทศมหาอำนาจโลกที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ทั้งหมด

เธอบอกว่า มาครงมีวิสัยทัศน์อย่างหนึ่งที่เหมือนกันกับสี นั่นคือวิสัยทัศน์ต่อเรื่องการครองอำนาจนำของสหรัฐ ซึ่งพวกเขามองว่าโลกไม่เหมือนเดิมแล้ว ประเทศต่าง ๆ รวมทั้งสหรัฐจะต้องยอมรับหรือยอมจำนนต่อระเบียบโลกแบบหลายขั้ว โดยรองรับผลประโยชน์และข้อกังวลของมหาอำนาจใหม่ที่เกิดขึ้น ซึ่งการเยือนอินเดียกับบราซิลครั้งล่าสุดของมาครงเป็นอีกหลักฐานที่พิสูจน์ให้เห็นว่าฝรั่งเศสต้องการจะอยู่ในระดับแนวหน้าของการเปลี่ยนแปลงระดับโลกดังกล่าวนี้

อเล็กซานดาร์ วูซิซ ประธานาธิบดีเซอร์เบีย ต้อนรับ สี จิ้นผิง เยือนเซอร์เบีย เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2024
อเล็กซานดาร์ วูซิซ ประธานาธิบดีเซอร์เบีย ต้อนรับ สี จิ้นผิง เยือนเซอร์เบีย เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2024 (ภาพโดย Zorana Jevtic/REUTERS)

นอกจากนี้ เธอแสดงความเห็นว่า สี จิ้นผิง กระตือรือร้นในการรื้อฟื้นสงครามเย็นในฐานะผู้เล่นเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เธอชี้ว่า ด้วยการสนับสนุนทางเศรษฐกิจของจีน ทำให้พื้นที่รอบนอกของสหภาพยุโรปสามารถกลายเป็นผู้เล่นทางเศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรปได้มากขึ้น โดยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วยิ่งขึ้น และเป็นผู้ส่งมอบห่วงโซ่อุปทานเทคโนโลยีขั้นสูง

ส่วนในมุมมองของนักวิชาการจีน ซุย ฮงเจียน (Cui Hongjian) ศาสตราจารย์จากสถาบันศึกษาธรรมาภิบาลระดับภูมิภาคและระดับโลก (Academy of Regional and Global Governance) ของมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง (Beijing Foreign Studies University) บอกกับโกลบอลไทม์ส (Global Times) ซึ่งเป็นสื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีนว่า การเยือนยุโรปครั้งนี้ของประธานาธิบดีจีนประสบความสำเร็จอย่างมากในแง่ของการบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจและการค้า สะท้อนให้เห็นจากการยกระดับและการขยายตัวของความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการระหว่างค้าจีน-ฝรั่งเศสบนพื้นฐานที่มีอยู่แต่เดิมอยู่แล้ว

อ้างอิง :

อ่านเนื้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง