
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) กำลังเป็นโจทย์ท้าทายของโลก ที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น จากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น รวมถึงการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงมากยิ่งขึ้น
เมื่อกลางปี 2566 ที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติ ส่งสัญญาณเตือนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่รุนแรงขึ้นว่า ภาวะ “โลกร้อน” (Global Warming) ได้สิ้นสุดลงแล้ว และกำลังเข้าสู่ยุค “โลกเดือด” (Global Boiling) ซึ่งสาเหตุหลักก็มาจากกิจกรรมของมนุษย์ และภาคธุรกิจทั้งรายใหญ่และรายเล็ก ทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น ผลที่ตามมาคือ อุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงขึ้น เกิดเป็นภาวะโลกร้อน
และประเทศไทยมีความเสี่ยงจาก Climate Change อยู่ในอันดับ 9 จากประเทศทั่วโลก (อ้างอิงข้อมูลดัชนีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศโลก : CRI ประจำปี 2021)
ปัญหา Climate Change ไม่ใช่เรื่องไกลตัว และไม่ใช่ผลกระทบแค่อุณหภูมิที่เราสัมผัสได้ แต่ภาวะร้อนแล้งรุนแรงที่เกิดขึ้นกระทบต่อภาคการเกษตรมหาศาล ทำให้เกิดความเสียหายและผลผลิตลดน้อยลง จนถึงคุณภาพ เช่น กรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทยทั้งผลผลิต ข้าว ทุเรียน มะพร้าว เมล็ดกาแฟ ที่ลดลงอย่างมากทำให้ผลผลิตทั้งเพื่อการบริโภคในประเทศและการส่งออกลดลง กระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ดังนั้นไม่ว่าเราจะอยู่จุดใดในวงจรเศรษฐกิจไทย ก็ได้รับผลกระทบไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
“เศรษฐกิจสีเขียว” (Green Economy) ได้ชื่อว่าจะเป็นเมกะเทรนด์เปลี่ยนโลก ที่เป็นหนทางที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (SUSTAINABLE DEVELOPMENT) ในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน แน่นอนว่าจะเป็นทั้ง “โอกาส” และ”ความท้าทาย” ของภาคธุรกิจที่ต้องปรับตัว
ทั้งนี้ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ให้ความหมายของ “เศรษฐกิจสีเขียว” คือระบบเศรษฐกิจที่มี “คาร์บอนต่ำใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างโอกาสที่ทั่วถึงในสังคม”
ขณะนี้เศรษฐกิจยักษ์ใหญ่หลายประเทศ เช่น สหภาพยุโรป ได้เริ่มบังคับใช้กฎหมายการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) รวมถึง กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation Regulation: EUDR)
นอกจากนี้สหรัฐอเมริกาเตรียมออกกฎหมาย Clean Competition Act มาบังคับใช้เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนเช่นกัน ซึ่งหากประเทศเศรษฐกิจใหญ่เหล่านี้มีการบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบ อาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกของไทยประมาณ 216,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.1% ของจีดีพีไทย
หมายความว่าสินค้าที่ไทยส่งออกไปอียู หรือสหรัฐอเมริกาจะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการต่าง ๆ ตั้งแต่วัตถุดิบ และตลอดจนซัพพลายเชน ที่จะต้องอยู่ในมาตรฐานลดการปล่อยคาร์บอน ไม่เช่นนั้นก็จะต้องเจอมาตรการกีดกันต่าง ๆ ทั้งกำแพงภาษีและต้นทุนที่สูงขึ้น รวมถึงปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนก็จะยากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ดี หากธุรกิจสามารถปรับตัวทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน ก็สามารถคว้าโอกาสจากการเติบโตของเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ที่กำลังเป็นเทรนด์ของโลก และพฤติกรรมผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ใส่ใจและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
แนวทางการพัฒนา “เศรษฐกิจสีเขียว” จึงได้ชื่อว่าเป็นเกมเปลี่ยนอนาคตที่เป็นทั้ง “โอกาส” ที่จะสร้างการเติบโตธุรกิจในอนาคต และ “ความท้าทาย” ที่ทุกองค์กรต้องเผชิญเพื่อเดินหน้าต่อ
และในอนาคตอันใกล้ยังมีอีกหลายประเทศรวมถึงไทย ก็จะมีกฎกติกาต่าง ๆ ออกมาบังคับใช้เพื่อร่วมลดอุณหภูมิของโลก รวมถึงเทรนด์ผู้บริโภครักษ์โลกที่เติบโตขึ้น คงทำให้ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการ ได้รับแรงกดดันให้ต้องเร่งปรับตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยขณะนี้ประเทศไทย ก็กำลังจัดทำ ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ พ.ร.บ. Climate Change ที่คาดว่าการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้จะผลักดันให้ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่า ภายในปี 2040
ขณะเดียวกันก็มีการประเมินว่า 14 อุตสาหกรรมไทยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ซึ่งมีมูลค่าราว 6.5 ล้านล้านบาท หรือ 37% ของจีดีพีไทย จะต้องเผชิญกับต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น จากการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ ที่ทำให้ต้องมีต้นทุนจากการซื้อคาร์บอนเครดิต และภาษีคาร์บอน
อย่างไรก็ดี PwC ประเทศไทย ที่ปรึกษาธุรกิจระดับโลก ได้มีการจัดทำรายงานผลสำรวจความเชื่อมั่นของซีอีโอไทยปี 2567 ผลสำรวจระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมาซีอีโอไทยได้เร่งดำเนินการในด้านต่าง ๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่นเดียวกับซีอีโอทั่วโลก และในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
ทั้งนี้ แม้ว่าผลสำรวจ 79% ของซีอีโอไทยจะระบุว่า ตนกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานสู่พลังงานสะอาดมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่ยอมรับยังไม่มีแผนที่จะนำความเสี่ยงด้าน Climate Change มาผนวกเข้ากับการวางแผนทางการเงิน
ยิ่งไปกว่านั้น พบว่าซีอีโอไทยมากกว่าครึ่ง (58%) ยังไม่ยอมรับผลตอบแทนจากการลงทุนที่จะลดลง เพราะต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศ
นี่คือโจทย์ท้าทายของภาคธุรกิจมี “ราคา” ที่ต้องจ่ายในการทรานส์ฟอร์มสู่ “เศรษฐกิจสีเขียว” ที่เป็นเกมเปลี่ยนอนาคต