
นอกจากที่ประเทศไทยกำลังเผชิญความไม่แน่นอน จากภาวะเศรษฐกิจมีความเปราะบางในหลายมิติ เรายังต้องต่อสู้กับปัญหาจากสภาวะโลกร้อน กระทั่งกลายเป็น “โลกเดือด” ที่ทุกคนสามารถสัมผัสได้
ESG (Environmental, Social, และ Governance) ถือเป็นเมกะเทรนด์ขับเคลื่อนโลกสู่ความยั่งยืน ที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลกในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นแนวคิดที่นักลงทุนใช้ประกอบการพิจารณาลงทุนในธุรกิจที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้านหลัก
ไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อมหรือปัญหาก๊าซเรือนกระจก แต่ครอบคลุมถึงเรื่องสังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี
แนวคิด ESG ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ธุรกิจ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน สะท้อนผ่านบทบาทความรับผิดชอบของธุรกิจที่มีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการนำเสนอผลการดำเนินงานในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ขณะที่ทั่วโลก โดยเฉพาะสหภาพยุโรป (อียู) สหรัฐอเมริกา รวมทั้งจีน เดินหน้าประกาศกฎกติกาเรื่อง ESG ออกมาบังคับใช้จำนวนมาก เพื่อหวังสร้างความยั่งยืนให้กับโลก
อาทิ ระเบียบว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลการลงทุนเพื่อความโปร่งใสและให้นักลงทุนมีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจลงทุน, ระเบียบว่าด้วยการรายงานความยั่งยืนขององค์กร ฯลฯ รวมถึงการประกาศนับถอยหลังสู่ Net Zero พร้อม ๆ กับกฎกติกาการค้าโลกใหม่อย่างเรื่องกลไกการปรับคาร์บอนก่อนข้ามแดน (CBAM) ของอียู ซึ่งสหรัฐก็มีมาตรการภาษีคาร์บอนคล้ายกับยุโรปเช่นกันที่จะเริ่มบังคับใช้ในปี 2025
นี่คือความเคลื่อนไหวในวันที่ ESG กลายเป็นเมกะเทรนด์ของโลก
กฎกติกา เหล่านี้ย่อมทำให้เกิดทั้งโอกาสและความเสี่ยงของธุรกิจ ถ้าไม่สามารถปรับตัวได้
แนวคิดการทำธุรกิจแบบเดิม ๆ ย่อมไม่ตอบโจทย์กับโลกอนาคต ทุกคน-ทุกองค์กร ต้องเร่งปรับตัวและเข้าสู่ยุค “ลงมือทำ” อย่างแท้จริง
สอดคล้องกับที่ “พิพิธ เอนกนิธิ” ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า Climate Game ทำให้โลกธุรกิจมีกติกาใหม่ ความยั่งยืนกลายเป็นกติกาสากลของโลก ประเทศผู้นำอย่างสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน ทยอยออกกฎระเบียบใหม่ผลักดันด้านความยั่งยืน
หากธุรกิจไทยต้องการที่ยืนบนเวทีโลกก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจให้ตอบโจทย์ความยั่งยืน เพื่อไม่ให้ตกขบวน ไม่โดนกีดกันทางการค้า และรักษาการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลกต่อไปได้ ประกอบกับปัจจุบันเทคโนโลยีสะอาดมีราคาถูกลงมาก เช่น ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ลดลงกว่า 76% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และถูกกว่าต้นทุนไฟฟ้าจากถ่านหินและก๊าซธรรมชาติมาตั้งแต่ปี 2018
ตอนนี้จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมที่ภาคธุรกิจจะต้องเริ่ม “ลงมือทำ” อย่างจริงจัง เพื่อคว้าโอกาสธุรกิจจากเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
โดย ดร.วิรไท สันติประภพ กรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เคยกล่าวไว้ว่า ปัจจุบันเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) กลายเป็นเรื่องกลยุทธ์ของธุรกิจ ที่ต้องปรับรูปแบบการทำธุรกิจให้เท่าทันกับความท้าทายและความคาดหวังของสังคม ไม่เบียดเบียนสังคม และไม่สร้างปัญหาทิ้งไว้ให้กับคนรุ่นต่อไป
ธุรกิจใดที่ทำเรื่องความยั่งยืนได้เป็นรูปธรรม จะเห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันได้เหนือคู่แข่งแบบ “ธุรกิจชนะและสังคมวัฒนา” ไปพร้อมกัน
“ในทางตรงกันข้าม ธุรกิจที่ไม่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจัง จะเปิดความเสี่ยงทางธุรกิจหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ ความเสี่ยงด้านกฎระเบียบ หรือความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ”
ESG จึงถือเป็นเมกะเทรนด์ที่จะเปลี่ยนโลกสู่ความยั่งยืน