
อาจเป็นเพราะ “นงลักษณ์ ธนรักษ์” ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Talented Genius เผยรหัสลับ DNA คนเก่ง เปลี่ยนตัวเองสู่ยอดมนุษย์ Hi-Po” ผ่านชีวิตการทำงานมาหลากหลายทั้งในระดับองค์กรระหว่างประเทศ และองค์การข้ามชาติ
ที่สำคัญ ยังเคยดำรงตำแหน่งซีอีโอ บริษัท เฮดจ์ฮันเตอร์ ของบริษัทข้ามชาติที่ไม่เพียงสัมภาษณ์ผู้บริหารมามากกว่า 10,000 คน ให้กับองค์กรชั้นนำของไทยและต่างประเทศ หากตลอด 20 ปีที่เธอทำงานบนถนนสายนี้
ทำให้ “นงลักษณ์” ประจักษ์ชัดดีว่า “คน” แบบไหนที่องค์กรต้องการ และ “คน” แบบไหนที่จะพัฒนาตัวเองจนก้าวไปสู่การเป็น “มนุษย์” แบบ “high potential” ในที่สุด
ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ จึงบรรจุเรื่องราวทั้งหมด 17 บท รวมถึงบทส่งท้ายที่บอกหมุดหมายให้ผู้อ่านทราบถึงการก้าวข้าม comfort zone เพื่อไปสู่ action zone และภาคผนวกที่รวบรวมบทสัมภาษณ์คนเก่ง ๆ (talented genius) อาทิ ธนา เธียรอัจฉริยะ, วุฒิกร เส้า, ดร.ทายาท ศรีปลั่ง, เมธี จารุมณีโรจน์ และอรกานต์ เลาหรัชตนันท์ เพื่อให้ผู้อ่านมองเห็นมุมมอง ความคิด และการพัฒนาตัวเอง จนประสบความสำเร็จในชีวิตและการงาน
“นงลักษณ์” เขียนบอกเล่าไว้ในคำนำ “ถึงผู้อ่าน” ดังความตอนหนึ่งว่า หนังสือเล่มนี้เปรียบเสมือนคัมภีร์ชีวิตด้านการทำงาน เพื่อเป็นตัวช่วยในการกำหนดชะตากรรม ทั้งยังเป็นตัวช่วยทำให้มนุษย์ที่มี high potential หรือมนุษย์ที่มี talented genius สามารถก้าวข้ามผ่าน เพื่อกำจัดอุปสรรค และปัญหาที่ผ่านมาเข้ามาในชีวิตและการทำงาน
ยิ่งเฉพาะในช่วงมหันตภัยไวรัสร้ายครั้งนี้
นอกจากนั้น “นงลักษณ์” ยังเขียนบอกอีกว่า หนังสือเล่มนี้ถือเป็นคู่มือ และเป็นตัวช่วยสำหรับผู้ไม่มีโค้ชส่วนตัว เพราะเนื้อหาจะเกี่ยวข้องถึงหลักทฤษฎี และหลักปฏิบัติ เพื่อให้ผู้อ่านนำไปพัฒนาตนเอง และช่วยทำให้มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน จนนำไปสู่ตำแหน่งงานในระดับผู้บริหารขั้นสูงต่อไป
ที่สำคัญ หนังสือเล่มนี้ยังมีประโยชน์อย่างมากต่อฝ่ายทรัพยากรบุคคล หรือผู้ที่มีหน้าที่ค้นหาคนเก่ง และการบริหารจัดการคนเก่งในองค์กร เพราะเนื้อหาไม่เพียงพูดถึงการเฟ้นหาคนเก่งในองค์กรระดับท็อปเทนของโลก หากยังลงรายละเอียดถึงกลยุทธ์ในการรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์กรอย่างยาวนาน
ซึ่งเหมือนกับบทที่ 17 เรื่อง “มองไปข้างหน้า 5 ทักษะสำคัญที่ต้องมีนับจากนี้” “นงลักษณ์” เขียนอธิบายบอกว่า ทักษะสำคัญ และจำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ที่ควรฝึกฝน และเรียนรู้ ตั้งแต่วันนี้ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่สภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum (WEF) ประกาศว่า เป็น 10 ทักษะสำคัญที่คนทำงานในปัจจุบัน และในอนาคตต้องมี เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ได้แก่
1.ทักษะการคิดแก้ปัญหาเชิงซ้อน
2.ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์
3.ทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์
4.ทักษะการบริหารจัดการคน
5.ทักษะการทำงานร่วมกัน หรือการทำงานแบบสหวิทยาการ
6.ทักษะด้านความฉลาดทางอารมณ์
7.ทักษะการประเมิน และการตัดสินใจ
8.ทักษะในการบริการ
9.ทักษะการเจรจาต่อรอง
และ 10.ทักษะความยืดหยุ่นทางสติปัญญา
“สำหรับข้อ 6-10 ถือว่าไม่มีความซับซ้อน ยกเว้นทักษะข้อ 10 ที่ว่าด้วยความยืดหยุ่นทางสติปัญญา ซึ่งหมายถึงความสามารถในการปรับตัว เมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ที่มีความเปลี่ยนแปลง”
“ดังนั้น การเปลี่ยนจากสิ่งที่คิดแบบเดิม ๆ ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพียงแค่เปลี่ยนมุมมอง หรือเปลี่ยนตัวแปร จนนำไปสู่การคิดนอกกรอบในการปรับแผน เพื่อเผชิญกับอุปสรรค หรือข้อผิดพลาดได้ สรุปคือการปรับเปลี่ยนความคิด จากชุดความคิดเดิมสู่การปรับแผนตามสถานการณ์ และข้อมูลใหม่ที่เกิดขึ้น จะต้องใช้ชุดความคิดใหม่”
“ดังนั้น ในส่วนทักษะข้อที่ 1-5 จึงมีความน่าสนใจ และมีความสำคัญ แต่ค่อนข้างซับซ้อน และเข้าใจยาก จึงเป็นทักษะที่เรียกว่า five must-have skills และเป็นทักษะขั้นสูงสำหรับ talented genius เพราะทั้ง 5 ทักษะนี้ เป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถเอาชนะปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ได้”
“โดยเฉพาะเรื่องการบริหารคน ซึ่งเป็นทักษะที่ต้องอาศัย human touch ส่วนทักษะการคิดสร้างสรรค์ก็เช่นกัน เคยมีการทดลองป้อนภาพจำนวนมาก ๆ ให้ AI แล้วลองเขียนเรื่องราว หรือแต่งนิยายขึ้นมาสักเรื่องตามภาพที่ AI เห็น ปรากฏว่า AI เขียนออกมาได้ไม่ชวนติดตาม ขาดสีสัน และจิตวิญญาณของนักเขียนที่ดี”
เพราะมนุษย์มีจินตนาการไม่สิ้นสุด แต่ AI มีจินตนาการจำกัดขอบเขตตามสิ่งที่ถูกป้อนเข้าไปเท่านั้น ฉะนั้น ทักษะสำคัญสำหรับโลกอนาคตตั้งแต่ ค.ศ. 2020 เป็นต้นไป จึงเป็นทักษะที่มนุษย์สามารถเอาชนะปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ได้ คือ 10 ทักษะดังที่กล่าวมา
นอกจากนั้น ในหนังสือเรื่องเดียวกัน แต่มาโฟกัสเฉพาะบทส่งท้ายในชื่อเรื่องว่า “ก้าวข้าม Comfort Zone สู่ Action Zone” มีหลายเรื่องที่น่าสนใจ ดังที่ “นงลักษณ์” เขียนบอกว่า การจะก้าวออกพื้นที่ปลอดภัย (comfort zone) เพื่อไปยังพื้นที่เติบโต (growth zone) จะต้องก้าวข้ามผ่านพื้นที่แห่งความกลัว (fear zone) เพื่อไปสู่พื้นที่แห่งการเรียนรู้ (learning zone) ในที่สุด
“เพราะการจะก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัย อาจต้องพบกับความตระหนก ความกลัว ความผิดพลาด พร้อมกับกลัวว่าถ้าทำสิ่งนั้นไม่สำเร็จ อาจต้องสูญเสียสิ่งที่เคยมีอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย จนทำให้ขาดความมั่นใจ และคอยหาข้อแก้ตัวต่าง ๆ ทั้งยังมีเสียงจากคนรอบข้างที่ไม่สนับสนุนให้เราก้าวออกไปจนปล่อยให้ความกลัวครอบงำ”
“ดังนั้น เราจึงต้องลุกออกมาจัดการอะไรสักอย่าง เพื่อให้ผ่านจุดนี้ไปก่อน และเมื่อเอาชนะอุปสรรคที่คอยขัดขวาง จนสามารถก้าวพ้นพื้นที่แห่งความกลัวสำเร็จแล้ว ก้าวต่อไปคือพื้นที่แห่งการเรียนรู้”
“นงลักษณ์” บอกว่า เมื่อก้าวเข้าสู่พื้นที่แห่งการเรียนรู้แล้ว ก้าวต่อไปคือการเดินทางเข้าสู่พื้นที่แห่งการเติบโตด้วยการนำความชำนาญมาสร้างโอกาส และสร้างการเติบโตในเรื่องใหม่ ๆ
แต่กระนั้น ในลักษณะการทำงานของแต่ละคนอาจวนลูปมาที่พื้นที่ปลอดภัยอีกครั้ง เพื่อเราจะได้เกิดกระบวนการในการพัฒนาการเรียนรู้อีกครั้ง จนนำพาตัวเองก้าวสู่พื้นที่แห่งการเติบโต
เพียงแต่ครั้งนี้อาจไม่เหมือนครั้งแรก เพราะสามารถเรียนรู้อย่างยั่งยืน เพื่อก้าวไปสู่การบริหารจัดการ (action zone) อย่างแท้จริง
“ในส่วนของพื้นที่จัดการ หรือบริหารจัดการทำให้เรามีโอกาสทบทวนวิกฤตต่าง ๆ ทั้งยังเริ่มมองเห็นแนวทางที่จะทำประโยชน์ต่อสาธารณะ ด้วยทัศนคติ หรือความคิดที่ถูกต้อง ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาวิกฤตครั้งนี้ ด้วยการใช้ศักยภาพที่มีอยู่ ทั้งกำลังกาย กำลังใจ และกำลังปัญญา เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่มีความลำบากมากกว่า”
ซึ่งเหมือนกับที่ “ราห์ม เอมานูแอล” อดีตหัวหน้าคณะทำงานในรัฐบาลประธานาธิบดีบารัก โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกา เคยกล่าวว่า …อย่าปล่อยให้วิกฤตร้ายแรงที่เกิดขึ้นสูญเปล่า
ผมหมายถึงมันเป็นโอกาสที่คุณจะทำสิ่งที่คุณไม่เคยคิดว่าจะทำได้มาก่อน
เพราะดั่งที่ทุกคนทราบดี มหันตภัยไวรัสร้ายครั้งนี้สาหัสสากรรจ์มาก ทั้งยังทำลายทุกหน่วยย่อยของบางธุรกิจจนพังพินาศไปหลายธุรกิจแล้ว ไม่นับจำนวนคนที่ต้องตกงานมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น องค์ประกอบของหนังสือ “Talented Genius เผยรหัสลับ DNA คนเก่ง เปลี่ยนตัวเองสู่ยอดมนุษย์ Hi-Po” ที่มี “นงลักษณ์ ธนรักษ์” เป็นผู้เขียน อาจเป็นคำตอบให้เรา ๆ ท่าน ๆ ลองไปปรับใช้ดู
เผื่อบางทีอาจเป็นคัมภีร์ในการต่อสู้กับมหันตภัยไวรัสร้ายครั้งนี้อย่างมีชั้นเชิงมากขึ้น