Voice TV-The reporter-THE STANDARD ยันทำหน้าที่สื่อตามหลักวิชาชีพ

Voice TV ยืนยัน ทำหน้าที่ตามวิชาชีพสื่อ ด้าน The reporter เตรียมปรึกษานักกฎหมายถึงการวางตัวต่อจากนี้ THE STANDARD ประกาศจะทำหน้าที่สื่อโดยยึดตามหลักกฎหมาย

วันที่ 19 ตุลาคม 2563 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาตธุรกิจ” รายงานว่า จากกรณีที่การออกคำสั่งของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) ได้ออกคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ 4/2563

เรื่อง ให้ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีลักษณะตามข้อ 2 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ทำให้มีการสั่งให้ตรวจสอบ และระงับการเผยแพร่ สื่อดังนี้ Voice TV, ประชาไท Prachatai.com, The reporter, THE STANDARD และ เยาวชนปลดแอก Free YOUTH

นายเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด แถลงผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า วอยซ์ทีวีขอยืนยันว่า สิ่งที่เรายึดถือปฏิบัติ เป็นการทำหน้าที่ตามวิชาชีพสื่อ ไม่มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิด หรือทำลายความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่อย่างใด

แถลงดังกล่าวยังระบุอีกว่า ตลอดเวลา 11 ปีที่ผ่านมา วอยซ์ทีวีเป็นสื่อที่ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย ให้พื้นที่ทางความคิดของประชาชนอย่างเปิดเผย โปร่งใส และรับผิดชอบข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายเสมอมา ขอยืนยันว่าได้นำเสนอข้อมูลที่มีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อสังคม และขอเรียกร้องต่อผู้เกี่ยวข้อง ให้มีการใช้อำนาจและรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเที่ยงธรรม

ส่วน น.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters ให้สัมภาษณ์กับ ‘มติชน’ ว่า หลังเห็นเอกสารดังกล่าว ตนยังรู้สึกไม่เข้าใจว่า การนำเสนอข่าวของตนผิดอะไร เพราะขั้นตอนการนำเสนอ ตลอดจนเนื้อหาต่างๆ ที่ออกไปนั้นทำถูกต้องตามหลักทั้งศีลธรรม จรรยาบรรณสื่อ ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อย่างไรก็ตาม น.ส. ฐปณีย์ ระบุว่า ได้ปรึกษานักกฎหมายและผู้รู้ถึงการปฏิบัติตัวต่อจากนี้ แต่ก็คงต้องรอฟังที่ทางตำรวจจะแถลงออกมาก่อนว่าเป็นอย่างไร

ด้าน นายนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหาร THE STANDARD ได้โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก ระบุว่า ขอบคุณทุกความห่วงใย พร้อมยืนยันว่า THE STANDARD จะทำหน้าที่ยึดตามหลักวิชาชีพ จรรยาบรรณ สิทธิเสรีภาพสื่อตามกฎหมาย

ขณะที่ นายพริสม์ จิตเป็นธม ผู้สื่อข่าว สำนักข่าว บีบีซี ไทย รายงานข่าวผ่านทวิตเตอร์ ระบุว่า “กอร.ฉ. ไม่มีนโยบายหรือยังไม่มีคำสั่งที่จะจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อ แล้วก็ยังไม่มีการสั่งปิดสื่อ เป็นเพียงการจัดการข้อมูลข่าวสารที่มีปัญหาเป็นชิ้นๆ ไป หรือเป็นช่วงๆ เวลาไป ซึ่งเป็นข้อมูลข่าวสารที่อาจจะก่อให้เกิดความสับสนอาจจะก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นได้”

สำหรับการดำเนินการกับสื่อได้รับให้ตรวจสอบและระงับการออกอากาศสื่อออนไลน์ที่เข้าข่ายผิด พ.ร.บ. คอมฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายภุชพงศ์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส ระบุว่า หากทางพลตำรวจเอกสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการ กอร.ฉ. มีคำสั่งให้ระงับทางกระทรวงก็พร้อมดำเนินการ ตามความผิดที่เข้าข่าย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งการดำเนินการสามารถทำได้ตั้งแต่ เรียกดูอุปกรณ์ ระงับการออกอากาศ และยึดอายัดอุปกรณ์โดยทันที ส่วนนักข่าวที่รายงานขณะนั้นต้องดูที่เจตนาว่าเข้าข่ายความผิดหรือไม่

การส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทางกระทรวงได้ดำเนินการแจ้งไปยัง 5 สื่อแล้ว กำหนด ระยะเวลา 15 วันต้องระงับทันที หากไม่ดำเนินการจะแจ้งความเอาผิดต่อพนักงานสอบสวน ปอท.