เพราะรักจึงยอมจ่าย ว่าด้วยการเป็น Top Spender ในหมู่แฟนคลับ “พัคซอจุน”

พัคซอจุน

ชวนมาทำความรู้จักการเป็น “Top Spender” ผ่านปรากฏการณ์ “พัคซอจุน” ที่อาจจะไม่ได้เป็นเพียงกลยุทธ์การตลาด แต่กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในหมู่แฟนคลับ

เราจะยอมจ่ายเงินมากที่สุดกี่บาท เพื่อแลกกับการใกล้ชิดศิลปินที่รักสักครั้งในชีวิต ?

คำถามที่มักจะวนเวียนในห้วงความคิดหรือว้าวุ่นอยู่ในใจของคนเป็น “แฟนคลับ” เวลาศิลปินที่รักเตรียมจัดคอนเสิร์ตหรือกิจกรรมแฟนมีตพบปะอย่างใกล้ชิด แน่นอนว่าใคร ๆ ก็ต้องการใกล้ชิดกับศิลปินที่รักมากที่สุดเพื่อเก็บเกี่ยวช่วงเวลาแสนพิเศษ เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่ศิลปินตัวเป็น ๆ จะมาปรากฏตัวอยู่ตรงหน้า แต่ความใกล้ชิดที่ว่าต้องแลกมาด้วย “เงิน” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ยิ่งใกล้ชิดมาก ก็ยิ่งต้องใช้เงินมาก” คือสัจธรรมที่แฟนคลับรับรู้ดี ซึ่งไม่ใช่แค่การซื้ออัลบั้มจำนวนมากเพื่อลุ้นสิทธิ์เข้าร่วมกิจกรรมรับลายเซ็นจากศิลปิน และการจับจองพื้นที่โซน VIP หรือส่วนที่ติดกับเวทีมากที่สุดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเป็น “ท็อปสเปนเดอร์” (Top Spender) หรือคนที่ยอมแลกเงินจำนวนมากผ่านการซื้อสินค้าในแคมเปญต่าง ๆ กับสิทธิที่จะได้ใกล้ชิดศิลปินที่ชื่นชอบ

จากกรณีของ “พัคซอจุน” ที่แฟนคลับหลายรายยอมจ่ายหลักสิบล้านเพื่อสินค้าหมวดหมู่ต่าง ๆ ผ่านแคมเปญ “The Golden Moment ฟินไม่พักกับพัคซอจุน” ของโลตัส (Lotus’s) เพื่อลุ้นรับสิทธิเป็นท็อปสเปนเดอร์ 2,500 คนแรกที่จะได้เข้าร่วมงาน “Meet & Greet ช่วงเวลาพบพัค” ใกล้ชิดกับนักแสดงหนุ่มสัญชาติเกาหลีใต้ที่มีผลงานเด่น คือ Itaewon Class, What’s Wrong with Secretary Kim และอื่น ๆ อีกมากมาย ในวันที่ 21 ต.ค. 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

Advertisment

ซึ่งแคมเปญครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากโค้งสุดท้ายของแคมเปญจะมีการเพิ่มยอดใบเสร็จเข้ามาอีกเป็นจำนวนมาก ผลรวมของยอดจากท็อปสเปนเดอร์อันดับที่ 1 และ 2 ของแคมเปญมีมูลค่ามากกว่า 120 ล้าน รวมถึงยังทำให้ “เขมจิรา อรรถอนุกูล” ท็อปสเปนเดอร์อันดับสองของแคมเปญกลายเป็นที่รู้จักบนโลกออนไลน์จากการสะสมยอดใบเสร็จผ่านการซื้อทองแล้วขายคืนไปเรื่อย ๆ ทำให้สามารถสะสมยอดได้ในมูลค่าที่สูงโดยไม่จำเป็นต้องใช้จำนวนเงินตามจริงที่ปรากฏเป็นยอดสะสม

โดยสิทธิพิเศษที่ท็อปสเปนเดอร์แต่ละอันดับจะได้รับจากการร่วมกิจกรรมเป็นดังนี้

Advertisment
  • อันดับที่ 1-5 (VVIP) : ที่นั่ง exclusive front row, ถ่ายภาพคู่ 1 : 1 กับพัคซอจุน, รูปภาพพร้อมลายเซ็น, โปสเตอร์ และสุ่มรางวัล Lucky Fan
  • อันดับที่ 6-12 (VVIP) : ที่นั่ง exclusive front row, ถ่ายภาพกลุ่ม 1 : 7 (พัคซอจุนกับแฟนคลับ 7 คน), รูปภาพพร้อมลายเซ็น, โปสเตอร์ และสุ่มรางวัล Lucky Fan
  • อันดับที่ 13-50 (VIP) : ที่นั่ง exclusive front row, ถ่ายภาพกลุ่ม 1 : 8 (พัคซอจุนกับแฟนคลับ 8 คน), รูปภาพพร้อมลายเซ็น, โปสเตอร์ และสุ่มรางวัล Lucky Fan
  • อันดับที่ 51-100 : ถ่ายภาพกลุ่ม 1 : 8 (พัคซอจุนกับแฟนคลับ 8 คน), รูปภาพพร้อมลายเซ็น, โปสเตอร์ และสุ่มรางวัล Lucky Fan
  • อันดับที่ 101-2,500 : โปสเตอร์ และสุ่มรางวัล Lucky Fan

ก่อนหน้านี้ ในปีที่ผ่านมาโลตัสเคยจัดกิจกรรมในลักษณะนี้มาแล้ว คืองาน Meet & Greet กับ “คิมซูฮยอน” นักแสดงหนุ่มสัญชาติเกาหลีใต้อีกราย แลกสิทธิจากยอดสะสมบนใบเสร็จผ่านการลงทุนทองและซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า ซึ่งยอดรวมจากท็อปสเปนเดอร์ 10 อันดับแรกของแคมเปญนั้นมีมูลค่ามากกว่า 28 ล้านบาท

และไม่ได้มีเพียงโลตัสเท่านั้นที่จับกระแส K-Entertainment มาพัฒนาเป็นแคมเปญท็อปสเปนเดอร์ แต่ยังมีอีกหลายแบรนด์ที่ใช้แคมเปญนี้และสามารถสร้างยอดรวมของแคมเปญเป็นมูลค่าหลายล้านบาท เช่น งาน Meet & Greet ที่เกาหลีใต้กับ “แบมแบม-กันต์พิมุกต์ ภูวกุล” สมาชิกชาวไทยวง GOT7 ของ YSL Beauty และ moonshot x Lisa 1st Fan sign in Bangkok หรือกิจกรรมแจกลายเซ็นของ “ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล” สมาชิกวง BLACKPINK กับแบรนด์เครื่องสำอาง moonshot เป็นต้น

โดยปัจจัยที่ทำให้แคมเปญท็อปสเปนเดอร์ยังคงเป็นกลยุทธ์การตลาดที่ประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่อง คือสายสัมพันธ์ที่แฟนคลับมีต่อศิลปินอย่างเหนียวแน่น ซึ่งสำนักข่าว Hindustrian Times สื่อหนังสือพิมพ์ในอินเดีย นิยามความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินและแฟนคลับว่าเป็น “A different kind of love” หรือ “ความรักที่แตกต่าง” เป็นความผูกพันที่ก่อตัวจากการรับรู้เรื่องราวและติดตามผลงานของศิลปิน จนพัฒนาเป็นสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น

ทั้งนี้ พื้นฐานของอุตสาหกรรม K-Entertainment ยังเน้นสร้างความผูกพันระหว่างศิลปินและแฟนคลับตั้งแต่ “วันแรก” ของการเป็นศิลปินอย่างเต็มตัว เพื่อสร้างความมั่นใจว่าศิลปินจะได้รับการสนับสนุนจากแฟนคลับไปตลอด และเมื่อแฟนคลับเห็นการเติบโตของศิลปินจากอดีตมาถึงปัจจุบัน ย่อมต้องเกิดความผูกพันเป็นเรื่องธรรมดา

และคงปฏิเสธไม่ได้ว่า “ท็อปสเปนเดอร์” คือกลยุทธ์ที่เข้ามาตอบสนองความต้องการของแฟนคลับจากสายสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งในหมู่แฟนคลับยังมีประโยคที่นิยมแซวกันในโลกออนไลน์ว่า “เสียเป็นแสนแขนไม่ได้จับ” หรือการสนับสนุนผลงานของศิลปินเป็นเงินจำนวนมากแต่ไม่เคยพบกัน ซึ่งแคมเปญท็อปสเปนเดอร์คงทำให้ประโยคดังกล่าวพลิกมาสู่ความเป็นไปได้ทันที

อย่างไรก็ตาม แคมเปญท็อปสเปนเดอร์ยังคงเป็นที่ถกเถียงในหมู่แฟนคลับว่าเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะทำให้แฟนคลับบางส่วนยิ่งห่างไกลจากการพบศิลปินที่ชื่นชอบ แต่บางฝ่ายกลับมองว่าเป็นแคมเปญแบบ “วิน-วิน” แบรนด์สร้างรายได้จากยอดขาย ศิลปินเป็นที่รู้จักมากขึ้น ส่วนแฟนคลับได้พบศิลปินตามที่ต้องการ