แฟนคลับ Seventeen ท้อ หลังร้านกดบัตรด้วย “บอท” ผุดกลาง X

seventeen-follow-to-bangkok-concert
Background Image by vecstock

แฟนคลับ “Seventeen” ชาวไทยปั่นป่วน เมื่อร้านจองบัตรคอนเสิร์ตด้วย “บอท” ประกาศรับลูกค้าอย่างเปิดเผยบน X พร้อมเรียกร้องให้ผู้จัดออกมาตรการจัดการ และสร้างความโปร่งใสในการจำหน่ายบัตรคอนเสิร์ต

วันที่ 30 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า การประกาศจัดคอนเสิร์ต “SEVENTEEN FOLLOW TO BANGKOK” ของบอยแบนด์ชื่อดังจากเกาหลีใต้อย่าง “เซเว่นทีน” (Seventeen) ในวันที่ 23 ธ.ค. 2566 ณ สนามราชมังคลากีฬาสถาน ย่อมทำให้ “กะรัต” (ชื่อแฟนคลับของวง Seventeen) ชาวไทยรู้สึกดีใจอย่างมากที่ศิลปินที่ตนรักจะมาจัดคอนเสิร์ตในไทย รวมถึงเตรียมพร้อมกับการจองบัตรคอนเสิร์ตรอบ CARAT Membership Presale วันที่ 13 ต.ค. 2566 เวลา 11.00 น. และรอบทั่วไปวันที่ 14 ต.ค. 2566 เวลา 16.00 น.

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการประกาศผังที่นั่งและราคาบัตรคอนเสิร์ต ก็เกิดการถกเถียงในหมู่กะรัตชาวไทยบน X (Twitter ในอดีต) อย่างเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะราคาบัตรคอนเสิร์ตที่ดูจะแพงเกินความจำเป็น และการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเปิดเผยรายละเอียดของคอนเสิร์ตให้ชาวต่างชาติรับรู้ก่อน เพราะก่อนหน้านี้มีการดีลบัตรคอนเสิร์ตในหมู่กะรัตต่างชาติบน X อย่างเปิดเผย ทั้งที่ยังไม่มีการประกาศจัดคอนเสิร์ตในไทยอย่างเป็นทางการ

นอกจากนี้ แฟนคลับบางส่วนยังพบโพสต์ประกาศจำหน่ายบัตรคอนเสิร์ตในไทยของ Seventeen ที่มีเนื้อหาว่าทางร้านการันตีการได้รับบัตรคอนเสิร์ตแบบ VIP เนื่องจากมีการใช้ “บอท” (bot-robot) เข้ามาจองบัตรในระบบ ซึ่งโพสต์ดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจให้กับกะรัตชาวไทยเป็นอย่างมาก จนเกิดการเรียกร้องให้ผู้จัดคอนเสิร์ตออกมาตรการควบคุมการใช้บอท เพราะถือเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้ใช้งานด้วยกันในรูปแบบหนึ่ง และทำให้การจำหน่ายบัตรคอนเสิร์ตเป็นไปอย่างไม่ยุติธรรม

ทั้งนี้ การใช้บอทเพื่อจองบัตรคอนเสิร์ตเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงมาอย่างยาวนาน เพราะการจองบัตรคอนเสิร์ตเปรียบเสมือนการต่อสู้ในสงครามขนาดย่อมของเหล่าแฟนคลับ ทำให้มีกลุ่มคนที่พยายามพัฒนาบอทมาเป็นตัวช่วยในการชิงความได้เปรียบ และสามารถจองบัตรได้มากกว่าคนอื่นโดยที่ใช้เวลาน้อยกว่า

ตัวอย่างเช่น การฝังบอทบนเว็บไซต์เพื่อให้บอทเข้าไปจองบัตรช่วงที่เปิดระบบหรือก่อนหน้านั้นประมาณ 1-2 นาที ซึ่งเวลาที่บอทใช้ในการจองบัตรจะน้อยกว่าวิธีการแบบออแกนิกมาก ๆ หรือการใช้ “Bypass Link” ที่ให้บอทช่วยสร้างลิงก์ข้ามการเข้าคิวบนเว็บไซต์ และเมื่อผู้ใช้งานคลิกลิงก์ดังกล่าว จะเข้าสู่หน้าการจองบัตรทันที ทำให้สามารถจองบัตรได้ก่อนผู้อื่น

ADVERTISMENT

นายโจเอล โค (Joel Koh) รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยีของ One X Group บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีในสิงคโปร์ กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNA Insider ว่า Bypass Link ทำงานผ่านการฝังพารามิเตอร์เพื่อสั่งการให้ข้ามขั้นตอนบางอย่างใน URL หลัก โดยวิธีการสร้าง Bypass Link ที่เป็นที่นิยม คือการให้บอทหลายร้อยตัวเข้าไปอยู่ในระบบคิว และสร้างลิงก์จากบอทเหล่านั้น

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังพบว่ามีการแจกซอร์สโค้ดบอทที่ใช้ในการจองบัตรคอนเสิร์ตในคอมมิวนิตี้ของนักพัฒนาอย่างแพร่หลาย สะท้อนให้เห็นว่าการพัฒนาบอทสำหรับจองบัตรคอนเสิร์ตยังคงมีอย่างต่อเนื่อง และเติบโตตามความต้องการของตลาดคอนเสิร์ตที่มีแต่จะปรับตัวสูงขึ้นหลังจากการระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย ซึ่งนี่อาจเป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญของผู้จัดที่ต้องสร้างความโปร่งใสในการจัดคอนเสิร์ต

ADVERTISMENT

บอทกดบัตร