ฟ้อง OpenAI ละเมิดผลงานนักเขียน

OpenAI
OpenAI
คอลัมน์ Tech Times
ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

นักเขียนชื่อดังรวมตัวกันฟ้อง OpenAI โดยกล่าวหาว่าบริษัทใช้ผลงานของตนในการเทรน ChatGPT ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิอย่างร้ายแรง

มีนักเขียนระดับตำนานหลายคนที่เข้าชื่อเป็นโจทก์ร่วมในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (class action) ครั้งนี้ อาทิ จอร์จ มาร์ติน ผู้เขียน Game of Thrones และ จอห์น กริชแชม นักเขียนนิยายสืบสวนสอบสวนเบอร์ต้น ๆ ของวงการ โดยมี Authors Guild หรือสมาคมนักเขียนเป็นผู้ยื่นฟ้องต่อศาลซานฟรานซิสโกในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ในแถลงการณ์ของสมาคมกล่าวหาว่า Generative AI ที่ใช้พัฒนา ChatGPT เป็นภัยคุกคามต่ออาชีพนักเขียน เพราะมีการดาวน์โหลดงานแบบผิดกฎหมายเพื่อใช้ฝึก AI จนสามารถสร้างผลงานที่มีสไตล์ใกล้เคียงกันออกมา ทำให้ OpenAI มีรายได้จากการกระทำดังกล่าว โดยที่เจ้าของต้นฉบับไม่ได้อะไรเลย

สมาคมยกตัวอย่างว่า พบงานเขียนภาคต่อของ Game of Thrones ที่เขียนขึ้นโดย AI และมีการวางขายบน Amazon อย่างเปิดเผย

ซีอีโอของ Authors Guild บอกว่าจำเป็นต้องหยุดการ “ขโมย” แบบนี้ โดยเน้นว่า นักเขียนควรมีสิทธิตัดสินใจว่าจะให้ AI นำงานของตนไปใช้หรือไม่ อย่างไร

การเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นการตอกย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า การกำกับดูแลการใช้ Generative AI ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยไม่ไปละเมิดสิทธิของคนอื่นอาจเป็นเรื่องจำเป็น

ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา มีนักเขียนและนักแสดงหลายคนที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการใช้ผลงานของตนเพื่อเทรน AI โดย CNN รายงานว่า นักเขียนคนหนึ่งพบว่าจู่ ๆ ก็มีผลงานใหม่ของเธอวางขายบน Amazon ในเดือนสิงหาคม ทั้ง ๆ ที่เธอไม่ได้เป็นคนเขียน เมื่อเปิดอ่าน ก็มั่นใจว่าเป็นฝีมือของ AI ที่ก๊อปงานเก่าและสไตล์การเขียนของเธอมาอีกที

นอกจากนี้ ในเดือนกรกฎาคม ดาราตลกและนักเขียนชื่อดัง ซาร่าห์ ซิลเวอร์แมน ร่วมกับนักเขียนอีก 2 คน ก็มีการยื่นฟ้อง Meta และ OpenAI ในข้อหาว่าเอาผลงานของตนไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

ในเดือนเดียวกัน ยังมีนักเขียนอีกกว่า 1 หมื่นคน (อาทิ มาร์กาเร็ต แอตวูด, โจนาธาน ฟรานเซน, เจมส์ แพตเตอร์สัน) ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้บริษัท AI อย่าง Microsoft และ OpenAI ต้องขออนุญาตเจ้าของงานเขียนก่อนนำไปใช้ และควรมีการจ่ายค่าตอบแทนที่เหมาะสมแก่เจ้าของต้นฉบับด้วย

โดยเนื้อหาบางส่วนของจดหมายระบุว่า มีหนังสือ บทความ และบทกวีหลายล้านชิ้นถูกนำมาป้อนเป็น “อาหาร” ให้ระบบ AI แบบฟรี ๆ แม้ว่าจะติดลิขสิทธิ์ก็ตาม และหากบิ๊กเทคสามารถทุ่มเงินหลายพันล้านเพื่อพัฒนา AI ได้ ก็ควรมีปัญญาจ่ายค่าตอบแทนให้เจ้าของผลงานเช่นกัน เพราะหากไม่มีงานเขียนเหล่านี้มาหล่อเลี้ยง เจ้าแชตบอต AI พวกนี้ก็คงเหี่ยวแห้งไร้น้ำยา

แม้ว่า OpenAI จะไม่ให้สัมภาษณ์ต่อกรณีที่เกิดขึ้น แต่ซีอีโอของบริษัทเคยให้ความเห็นต่อคณะกรรมาธิการของสภาว่า เจ้าของผลงานควรมีสิทธิที่จะควบคุมการใช้งานของตน และน่าจะมีการหาทางออกร่วมกันในการใช้เทคโนโลยีนี้ เพื่อช่วยให้ครีเอเตอร์ได้ประโยชน์ร่วมกัน

ในขณะที่ตัวแทนสมาคมนักเขียนเรียกร้องให้มีการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของนักเขียน ซึ่งรวมถึงการออกกฎที่กำหนดให้บริษัท AI ต้องเปิดเผยวิธีการเทรน AI ของตนอย่างโปร่งใสด้วย

นับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปลายปีก่อน OpenAI แชตบอตที่น่าฉลาดที่สุดที่เราเคยเห็นมา ก็เป็นชนวนให้เกิดการถกเถียงในหลายแง่มุม ทั้งในมิติทางธุรกิจและมิติทางสังคม ซึ่งมั่นใจได้เลยว่าการถกเถียงนี้จะยังคงมีอยู่ต่อไปและน่าจะลุกลามไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีก หากยังไม่มีมาตรการรับมืออย่างจริงจังออกมา