ร้อนจัดดันใช้ไฟพีกถี่ยิบเขย่าแผน PDP ฉบับใหม่

ค่าไฟ

อุณหภูมิระอุ 40 องศา ดันความต้องการใช้ไฟฟ้า Peak สุด เม.ย.ทะลุ 35,000 MW 3 วันติดต่อกัน เขย่าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ใหม่ จ่อชงอนุกรรมการพยากรณ์ฯ 7 พ.ค. 67 เตรียมประชาพิจารณ์ Q3 หวังเพิ่มพลังงานหมุนเวียน 50% แง้มมีลุ้น “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR” ทำหมันโรงไฟฟ้าถ่านหิน มุ่งเป้าเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2593 ด้าน ส.อ.ท.เปิดต้นทุนพลังงานหมุนเวียนแค่ 5-6 บาท

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยในงานเสวนาพิเศษในหัวข้อ “ค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมต้องทำอย่างไร” ที่จัดโดยหลักสูตรด้านวิทยาการพลังงานสำหรับนักบริหารรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 (วพม.2) ร่วมกับสมาคมการจัดการของเสียอย่างยั่งยืนว่า สนพ.จัดทำร่างแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ฉบับใหม่ ซึ่งจะประกอบไปด้วย 5 แผนสำคัญ ได้แก่ 1) แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP ปี 2567-2580) 2) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 3) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) 4) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ 5) แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan)

โดย สนพ.รับหน้าที่จัดทำแผน PDP ซึ่งจะมีการประชุมคณะอนุกรรมการพยากรณ์และจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ครั้งที่ 2 ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 เพื่อพิจารณาร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับใหม่ หรือ PDP 2024 (พ.ศ. 2567-2580) หลังจากนั้นจะเปิดรับฟังความเห็นต่อไป โดยวางกำหนดการไว้ 3 รอบคือ รอบกรุงเทพฯ และอีก 2 รอบเป็นการจัดประชาพิจารณ์รูปแบบออนไลน์อีก 2 ครั้ง

โดยจะแบ่งเป็นครึ่งบนของประเทศและครึ่งล่างของประเทศ จากนั้นจะนำมารวบรวมแก้ไขในช่วงไตรมาส 3 ปี 2567 นี้ ก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณา และเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติต่อไป

ค่าไฟพีก-โครงสร้างการผลิตไฟฟ้าเปลี่ยน

แนวทางหลักในการจัดทำแผน PDP 2024 จะพิจารณา 3 เรื่องคือ ปัจจัยการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) เป็นหลัก ซึ่งในช่วงที่เริ่มร่าง PDP เมื่อ 1-2 ปีก่อนนั้น มีปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงทำให้ GDP ลดลง ประเด็นนี้ส่งผลต่อความต้องการการใช้ไฟฟ้าจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ประกอบกับปัจจัยที่การจัดทำแผนต้องคำนึงถึงเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในภาคการผลิตไฟฟ้า ลดลงเหลือ 41.5 ล้านตันคาร์บอนในปี 2593 เพื่อเข้าสู่เป้าหมายการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน

Advertisment

ซึ่งจะทำให้ต้องหันมาใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 11% เป็นมากกว่า 50% ส่วนก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นฟอสซิลที่สะอาดที่สุดจะยังมีประมาณ 30-40% ไฮโดรเจน 5-20%

“ปัจจุบันตัวเลขการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 53,809 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งปีก่อนคาดว่ามีสำรองไฟอยู่ที่ 30% แต่ปีนี้อาจจะมีการปรับเปลี่ยนไปแล้ว มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น โครงสร้างการผลิตไฟฟ้ามีการปรับเปลี่ยน มีการผลิตไฟใช้เอง มีการติดตั้งแผงโซลาร์ไฟฟ้า ซึ่งจะเห็นว่าการใช้ไฟของผู้บริโภคเปลี่ยนมาตั้งแต่ปีก่อน ตัวเลขความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือ ‘ค่าพีกไฟฟ้า (Peak)’ เปลี่ยนช่วงเวลา จากช่วงกลางวันมาเป็นกลางคืนต่อเนื่องมาปีนี้เป็นปีที่ 2 แล้ว

และยิ่งในปีนี้ภาวะอุณภูมิสูงขึ้นทะลุ 40 องศาเซลเซียล ทำให้ค่าพีกไฟฟ้า 3 การไฟฟ้าทะลุ 35,000 เมกะวัตต์ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 3 วันต่อกัน คือวันที่ 22, 23 และ 24 เมษายนที่ผ่านมา และเกิดช่วง 3 ทุ่ม ที่ไฟฟ้าโซลาร์ไม่สามารถรองรับได้ เรามองว่าการพีกน่าจะยังไม่ถึงจุดสูงสุด อาจจะพีกไปได้อีก ส่วนค่าพีกของ กผฟ.นั้นทุบสถิติไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ทาง สนพ.ยังคงคาดไว้ที่ระดับ 36,000 เมกะวัตต์ ส่วนประเด็นเรื่องสงครามอิสราเอล-อิหร่านเป็นเหตุการณ์เฉพาะคราวจึงไม่ได้บรรจุไว้ในแผน”

ต้องเสถียร-ค่าไฟต้องได้

นายวีรพัฒน์กล่าวต่อไปว่า การเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable) จะต้องคำนึงถึงเรื่องความเสถียรของการผลิตไฟฟ้า ไม่เกิดปัญหาไฟตกดับ เพราะจากที่มีข้อมูล ปกติแล้วการผลิตไฟฟ้ารีนิวฯ เช่น แสงแดดจะผลิตได้เฉพาะช่วงที่มีแดดและไม่มีเมฆฝนประมาณ 5 ชั่วโมงต่อวัน หากไม่มีเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานมาเสริมด้วย เท่ากับว่าปีหนึ่งจะผลิตได้ 17-20% ของจำนวนชั่วโมงทั้งปี 8,760 ชั่วโมง

Advertisment

ส่วนที่เหลือจะต้องมีไฟฟ้าสำรองในช่วงเวลากลางคืนในระบบ เพื่อคัพเวอร์ไฟฟ้าโซลาร์ที่เคยผลิตได้ในช่วงกลางวันที่จะหายไป เพื่อให้ความมั่นคงของไฟฟ้าเท่าเดิม ป้องกันปัญหาไฟตกดับ ส่วนที่สองคือด้านราคา ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าแต่ละประเภทเป็นอย่างไร เพราะไฟฟ้าแต่ละประเภทมีต้นทุนต่างกัน “การใส่โรงไฟฟ้าไปในแผน ต้องดูทุกเรื่องว่ากระทบความมั่นคงไหม เสถียรหรือไม่เสถียร ค่าไฟถูกหรือแพง ถ้าต้องการให้คงราคาไว้ 20 ปี ทำได้หรือไม่ ซึ่งเราต้องบาลานซ์ให้ได้” นายวีรพัฒน์กล่าว

สำหรับแผน PDP จะมุ่งเน้น 3 ส่วน ประกอบด้วย เน้นความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ ครอบคลุมทั้งระบบผลิตไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้า และความมั่นคงรายพื้นที่ โดยคำนึงถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะเข้ามา ทำให้ระบบไฟฟ้ามีความยืดหยุ่นเพียงพอต่อการรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ต้นทุนค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม ทั้งมีเสถียรภาพ สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ขณะเดียวกัน ประชาชนต้องไม่แบกรับภาระอย่างไม่เป็นธรรม และเตรียมพร้อมระบบไฟฟ้าให้เกิดการแข่งขัน และการบริหารจัดการ เพื่อนำการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ (Distributed Energy Resource : DER) มาใช้ให้เกิดประโยชน์

ขณะที่การชี้วัดความมั่นคงของแผนใช้เกณฑ์โอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (LOLE) ต้องไม่เกิน 0.7 วันต่อปี หรือไม่เกิน 17 ชั่วโมง จาก 8,760 ชั่วโมง จากเดิมใช้เกณฑ์กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) นอกจากนี้ ยังกำหนดเป้าหมายของมาตรการเปลี่ยนแปลงพฤติกกรรมการใช้ไฟฟ้า (Demand response) 1,000 เมกะวัตต์ และมาตรการลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) โดยใช้ DER รองรับเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งมีการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศ สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านพลังงานตามแผนสมาร์ทกริด

เพิ่มนิวเคลียร์-เลิกถ่านหิน

ทั้งนี้ แต่เดิมแผน PDP 2018 (REV.1) จะมีองค์ประกอบไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable) 8 กลุ่มคือ พลังงานแสงอาทิตย์ (ทั้งโซลาร์รูฟท็อปประชาชน โซลาร์โฟลต์ติ้ง โซลาร์ฟาร์ม และโซลาร์ฟาร์มบวก ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System : BESS), พลังงานลม, ก๊าซชีวภาพ, ชีวมวล, ขยะชุมชน, ขยะอุตสาหกรรม, การซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ และพลังงานน้ำขนาดเล็ก

ส่วนร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ใหม่ จะนำโรงไฟฟ้าใหม่และเทคโนโลยีใหม่ที่จะนำมาพิจารณาในแผน ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำสูบกลับ รับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากต่างประเทศ โซลาร์ โซลาร์ลอยน้ำ และโซลาร์บวกด้วยระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System : BESS) พลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) เป็นทางเลือก

และยังพิจารณาถึงเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาเป็นทางเลือก อาทิ ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage) เทคโนโลยีแอมโมเนีย เป็นต้น ส่วนภาพรวมก็จะมีโรงไฟฟ้าที่จะหายไปคือ โรงไฟฟ้าถ่านหินจะเหลือเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินเดิมแม่เมาะ ซึ่งเรากำลังดูว่าจะนำแอมโมเนียมาช่วยทำให้ดีขึ้น ซึ่งในส่วนของไฮโดรเจน คาดว่าจะเข้าสู่ระบบไฟฟ้าได้มากขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2578 เป็นต้นไป เนื่องจากเป็นช่วงที่จะมีความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์”

โต้รีนิวไม่แพงอย่างที่คิด

ด้านนายนที สิทธิประศาสน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้เห็นร่างแผนพัฒนกำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ฉบับใหม่ เท่าที่ทราบก็มีการแก้ไขมาหลายรอบแล้ว โดยทางกลุ่มพลังงานหมุนเวียนมักจะถูกมองว่า “เป็นจำเลยทำไฟแพง” ซึ่งหากดูข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) ที่รวบรวมมาตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน จะพบว่าต้นทุนพลังงานไฟฟ้ารีนิวไม่ได้แพงขึ้นแบบที่คิด

โดยต้นทุนเฉลี่ยการไฟฟ้ารีนิวทรงตัวใกล้เคียงเดิมมาตลอด เฉลี่ยประมาณหน่วยละ 5.50-5.77 บาท แบ่งเป็นชีวมวลขยับจาก 3.94 เป็น 4.41 บาท, โซลาร์ 8.11 เป็น 7.67 บาท, ลม 6.30 เป็น 7.28 บาท, ขยะ 6.05 เป็น 6.23 บาท จะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงต้นทุนของไฟฟ้ารีนิวเพิ่มขึ้นก็มีไม่มากเกิน 1-2 บาท แต่บางตัวลดลง อย่างพลังงานแสงอาทิตย์ ลดลงจากเทคโนโลยีทำให้ราคาแผงถูกลง ขณะที่ต้นทุนค่าไฟฟ้าภาพรวมของประเทศไม่ได้ลดลง ดังนั้น สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงของค่าไฟไม่ใช่มาจากพลังงานหมุนเวียน

อีกประเด็นหนึ่ง โครงสร้างกิจการไฟฟ้าจาก ESB-Enhanced Single Buyer หรือผู้ซื้อรายเดียว ซึ่งต้องเปลี่ยนไปสู่การเปิดเสรีซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้ไฟฟ้า RE100 ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ FDI, การส่งออก และบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality แบบเป็นขั้นตอนภายในกรอบเป้าหมายเวลาที่เหมาะสม โดยเริ่มจากพื้นที่ที่มีความต้องการไฟฟ้า RE100 สูงมาก เช่น EEC และนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น

โดยการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ควรเริ่มประกาศใช้ TPA-Third Part Access และกำหนดอัตรา Wheeling Charge ที่เหมาะสม และเตรียมการสำหรับ Direct PPA โดยไม่ชักช้า ดังนั้น ภาครัฐควรตั้ง “งบประมาณอุดหนุน” ค่าใช้จ่ายตามนโยบายภาครัฐ เช่น ในส่วนไฟสาธารณะ เงินอุดหนุนการลงทุนโรงไฟฟ้า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และสงขลา และอื่น ๆ ตลอดจนปรับการอุดหนุนค่าไฟฟรีให้กลุ่มคนจนแท้จริง

ขณะที่โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าต้องสะท้อนต้นทุนด้านเศรษฐกิจฐานราก สิ่งแวดล้อม และการลดก๊าซเรือนกระจกของพลังงานสะอาดแต่ละประเภท รวมถึงในอนาคตต้องสามารถใช้กองทุน Climate Change ใน พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในส่วนของการพัฒนาพลังงานสะอาดได้

ทำไมต้องมีค่าความพร้อมจ่าย

ในมุมผู้ผลิตไฟฟ้า ค่าไฟแฟร์หรือไม่ ต้องบอกว่า การที่เอกชนลงทุนโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่ง 10,000 ล้านบาทการจะคืนทุนต้องเฉลี่ยว่าจะใช้เวลากี่ปี อาจจะ 25 ปี ซึ่งแต่ละรายมาทำสัญญาขายให้ ESB รายเดียว มันก็เหมือนการเช่ารถ คือเช่ามาแล้วรถก็ต้องสแตนด์บายไว้ตลอด เหมือนไฟไม่ว่าจะเปิดสวิตช์เมื่อไรก็ต้องมีไฟใช้ ซึ่งกว่าโรงไฟฟ้าจะคืนทุนก็นาน แต่บริษัทจึงต้องวางงบประมาณ Capex บำรุงรักษา เพื่อไม่ให้ไฟตกดับหยุดเดินเครื่อง ดังนั้น ค่าความพร้อมจ่ายก็ไม่ต่างจากการวางงบฯ Capex

“ส่วนมาตรการใช้ไฟฟ้าฟรีไม่เกิน 50 หน่วย ไม่เป็นธรรม เพราะถ้าเป็นบุคคลที่มีบ้านหลายหลัง แต่ไม่ค่อยอยู่บ้านก็ใช้ไฟน้อยไม่ถึง 50 หน่วยอยู่แล้ว และบุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนมีฐานะ ไม่ใช่คนจน แต่กลับได้รับสิทธิตรงนี้ ขณะเดียวกัน คนจนหลายคนที่อยู่รวมกันในบ้านหลังเดียว ถ้าเกิดใช้ไฟฟ้าเกิน 50 หน่วย กลับไม่ได้รับสิทธิตรงนี้”