อ.นิติศาสตร์ แนะ อัยการควรเดือดในเรื่องที่ควร ปมละคร “ให้รักพิพากษา”

สมชาย ปรีชาศิลปกุล
ภาพจาก มติชนสุดสัปดาห์

นักวิชาการเผย รู้สึกละเหี่ยใจกับอัยการที่เดือดร้อนกับละครทีวี “ให้รักพิพากษา” แนะ คดีดังล่าช้าที่เกิดขึ้นในสังคม ควรจะเดือดร้อนให้มากกว่านี้

วันที่ 13 สิงหาคม 2564 กรณี ประธานกรรมการอัยการแสดงความไม่พอใจต่อบทละครเรื่อง “ให้รักพิพากษา” โดยระบุว่า มีการบิดเบือนหน้าที่ของพนักงานอัยการ ทำให้ภาพลักษณ์เสื่อมเสีย

ล่าสุด รองศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล นักวิชาการนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กเพจ ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง ระบุว่า ถึง คุณอัยการ ผู้เดือดร้อนกับละครทีวี เห็นข่าว “อัยการเดือด ละคร ‘ให้รักพิพากษา’ เนื้อหาบิดเบือน” ผมก็รู้สึกละเหี่ยใจอย่างไรก็ไม่รู้

แน่นอนว่าคงมีส่วนที่มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการทำงาน การคัดคน ให้เข้าสู่อาชีพนี้ในหลายจุด แต่ก็ไม่เห็นมีอะไรมาก หน่วยงานรับผิดชอบก็ชี้แจงกลับไปทางผู้จัดให้เข้าใจถึงข้อเท็จจริง เชื่อว่าทางผู้จัดคงปรับแก้หรือมีคำอธิบายกลับมาแน่นอน แวดวงบันเทิงถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ เขาคงไม่อยากมายุ่งกับแวดวงกฎหมายหรอก

แต่ขณะที่เป็นเดือดเป็นร้อนกับละครที่ไม่เป็นความจริง แต่กับ “ความจริง” ที่สังคมตั้งคำถามมาอย่างต่อเนื่องกับการทำหน้าที่ของอัยการว่าไม่ได้เป็นตามหลักวิชาชีพ เฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ห้วงเวลาภายหลังรัฐประหารเป็นต้นมา มีคดีเป็นจำนวนมากที่ประชาชนถูกฟ้องร้องกล่าวหาต่อศาล ทั้งที่พยานหลักฐานหรือการกระทำไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความผิดอย่างชัดเจน แต่กลับไม่ปรากฏการทำหน้าที่ในการ “อำนวยความยุติธรรม” มากเท่าไหร่

อัยการในหลายคดี ยิ่งเป็นความขัดแย้งทางการเมืองก็จะทำหน้าที่สั่งฟ้องไปเป็นด้านหลัก หรือก็เป็นการสั่งฟ้องที่ดูจะเกินข้อเท็จจริงไปอย่างมาก บุคคลที่ต้องเป็นผู้ต้องหาในคดี 116 จำนวนมาก ไม่ได้ทำอะไรไปมากกว่าการวิพากษ์วิจารณ์หรือการชุมนุมประท้วงรัฐบาล (คดีเกี่ยวกับชุมนุมสาธารณะดูได้ใน “บทเรียนและสภาพปัญหาเกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมเพื่อการปรับปรุงพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558”, https://kpi-lib.com/library/books/kpibook-27380)

หรือในหลายคดีที่มีความล่าช้าและสร้างความเคลือบแคลงกับประชาชนอย่างมาก เช่น กรณีบอส กระทิงแดง ให้ตายเถอะ ตอนนี้ผ่านไปจะสิบปีแล้ว นอกจากคดีไม่คืบแล้ว การสอบสวนอัยการที่มีข่าวว่าอาจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก็ยังไม่จบสิ้น ไม่รู้ว่าต้องดำเนินการกันอีกยาวนานเท่าไหร่ จำสุภาษิตกฎหมายที่ว่ากันว่า “ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความอยุติธรรม” ไม่ได้หรือ (ดูตัวอย่างจดหมายถึงอาจารย์คณิต https://www.facebook.com/lawlawcmcm/posts/2469362396646651)

กรณีต่างๆ เหล่านี้แหละครับ ที่คุณอัยการทั้งหลายควรจะ “เดือด” แต่สิ่งที่ปรากฏขึ้นก็คือ ความเงียบเชียบที่ครอบคลุมไปทั่ว มีตัวอย่างอีกเยอะ ทั้งที่ผมได้เข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงและที่ได้ทำการศึกษา แต่ไม่อยากจะอธิบายทั้งหมดในที่นี้ ถ้าอัยการคนไหนสนใจอยากฟังก็ยินดี แต่คิดว่าคงต้องเตรียมเวลามามากหน่อย ถ้าเล่าให้ฟังก็คงหลายวันหลายคืนหรืออาจเป็นเดือน เอาแค่การสั่งฟ้องคดี 112 ก็มีปัญหาเป็นอย่างมาก

ผมมีความเห็นว่าคุณอัยการทั้งหลาย ควรจะรู้สึก “เดือด” ในเรื่องที่ควรเป็นเดือดเป็นร้อนให้มากกว่านี้ครับ ไหน ๆ ก็กินเงินเดือน เงินตำแหน่ง ค่ารถ ไม่น้อยกว่าบุคลากรอื่นในกระบวนการยุติธรรม

สมชาย ปรีชาศิลปกุล
13 สิงหาคม 2564