กระดูกพรุน สะโพกหัก อันตรายถึงชีวิต

จากสถานการณ์ระดับโลกรวมถึงประเทศไทยที่ได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่าง เต็มตัว ภาวะ กระดูกสะโพกหัก (hip fracture) จากภาวะกระดูกพรุนได้มีอุบัติการณ์ที่ทวีความรุนแรงตามไปด้วย และจะเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งภายในเวลาไม่กี่ปีข้างหน้า

ข้อมูลจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เกี่ยวกับ “Burden of osteoporosis in Thailand” ในปี พ.ศ. 2542 พบว่าอุบัติการณ์การเกิดกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุชาวไทยจะสูงขึ้นจากปีละ 180 รายต่อแสนประชากรผู้สูงวัย เป็น 450-750 รายต่อแสนประชากรผู้สูงวัย ภายในปี พ.ศ. 2568 ถือว่าเป็นปัญหาทางสาธารณสุขขนาดใหญ่

ขณะที่การศึกษาจากต่างประเทศพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มนี้กว่า 20% จะเสียชีวิตภายใน 1 ปี 40% จะไม่สามารถเดินด้วยตัวเองได้ และ 80% ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเอง

นพ.สมพงษ์ ตันจริยภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการ “รู้ทัน…กันหักซ้ำ” ให้ข้อมูลว่า สถิติผู้ป่วยโรคนี้เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ประมาณร้อยละ 50 ของผู้ที่กระดูกหักหนึ่งจุดอันเนื่องมาจากกระดูกพรุน มีโอกาสเกิดภาวะกระดูกหักซ้ำเพิ่มได้อีกในบริเวณอื่น ๆ บริเวณที่พบว่ามีโอกาสกระดูกหักได้บ่อย ได้แก่ กระดูกสะโพก กระดูกหลัง กระดูกข้อมือ โดยเฉพาะผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีส่วนช่วยในการสร้างกระดูกจะลดต่ำลงมาก จึงทำให้การสลายเซลล์กระดูกมีมากกว่าการสร้างเซลล์กระดูก

สำหรับแนวทางการรักษาภาวะกระดูกหักซ้ำ ได้แก่ การผ่าตัดรักษากระดูกสะโพกหักแบบ fast track surgery (ผ่าตัดไว) เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนเพิ่มอัตราการฟื้นตัวที่ดียิ่งขึ้น, การเข้าถึงการประเมินและการรักษาภาวะกระดูกพรุน (oste-oporosis treatment) ที่ถูกต้องและเหมาะสม, การประเมินความเสี่ยงต่อภาวะหกล้ม

การฟื้นฟูและบริหารร่างกายที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการล้มซ้ำ และเพื่อการฟื้นฟูสมรรถนะหลังการผ่าตัดให้ดียิ่งขึ้น, ผู้ป่วยและผู้ดูแลสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ที่สำคัญด้านอื่น ๆ, การขยายขอบเขตการดูแลไปยัง primary health care ในชุมชน มีการส่งต่อการดูแลไปยังชุมชนเพื่อการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน

เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาสุขภาพและสาธารณสุขนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยโรงพยาบาลเลิดสิน และบริษัท แอมเจน (ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือและความเข้าใจเพื่อรณรงค์โครงการ “รู้ทัน…กันหักซ้ำ” เพื่อผลักดันให้ความรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการป้องกัน เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี และลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน โดยมีเป้าหมายเพื่อลดปัญหานี้ และทำให้ประชาชนมีสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้น