หมอธีระวัฒน์ ชี้ผลกระทบจากการโด๊ปยาเป็นกำ ยกเคสคุณสมชาย มียา 22 ชนิด (43 เม็ดต่อวัน) และมียาฉีดอาทิตย์ละครั้ง กินยาจนกระทั่งตัวแข็ง ๆ มือสั่น เดินช้า ตาไม่ค่อยกะพริบ หลังหยุดยาอาการกลับมาเกือบเป็นปกติ
เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2566 นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์เฟซบุ๊ก แนะนำเรื่องผลกระทบจากการกินยามากเกินไป มีเนื้อหาน่าสนใจทีเดียว
โด๊ปยาเป็นกำ…ก็ไม่รอด
เรื่องนี้เกี่ยวกับการได้รับยาที่อาจไม่ถูกต้องพอเหมาะและสมเหตุสมผล และเกิดปฏิกิริยาข้างเคียงต่อกันเป็นลูกโซ่ คนไข้รายนี้เป็นหนึ่งในหลายสิบรายซ้ำซากที่เจอ
คุณสมชาย (นามสมมติ) อายุ 56 ปี ครอบครัวพามาพบหมอเพื่อช่วยให้รักษาโรคสมองเสื่อม อัมพฤกษ์ โรคพาร์กินสัน และอื่น ๆ การตรวจสอบยาพบว่า คุณสมชายมียา 22 ชนิด (43 เม็ดต่อวัน) และมียาฉีดอาทิตย์ละครั้ง
เดิมมีสุขภาพดีมาตลอด ลงพุงเล็กน้อย มีไขมัน คอเลสเตอรอลสูงประมาณ 260 โดยที่มีไขมันเสียที่เรียกว่า LDL เท่ากับ 120 และมีไขมันดี หรือ HLD 45
ซึ่งไขมันระดับนี้คุมอาหาร ออกกำลังสม่ำเสมอ ควรจะเพียงพอ ไม่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้าเพื่อสุขภาพ คือวันละ 2 เป๊กวิสกี้ต่อวัน ความดันโลหิตไม่เคยสูงกว่า 130/85 มาตลอด ซึ่งถือว่าไม่มีความดันโลหิตสูง ออกกำลังตามสะดวก หมายความว่าออกน้อยมาก หรือไม่ออกเลย แต่ยังคงทำงานธุรกิจได้อย่างกระฉับกระเฉง ครอบครัวไม่มีใครเจ็บป่วยทางโรคเส้นเลือดของหัวใจ หรือสมอง และไม่มีสมองเสื่อม
อาการเริ่มต้น เมื่อคุณสมชายเริ่มบ่นให้ภรรยาฟังว่ามี “บ้านหมุนโคลงเคลง” เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว อาการหมุนไม่รุนแรง ไม่เคยล้ม ขณะที่ล้มตัวลงนอนตะแคงข้างขวาจะเกิดอาการเวียนหัวเป็นระยะสั้น ๆ หรือเมื่อเปลี่ยนท่าก็ดูเหมือนอาการจะหายไป เดินเหินยังทำได้ปกติ ไม่มีเห็นภาพซ้อน หูไม่มีเสียงดัง ไม่มีชาหรืออ่อนแรงครึ่งซีก หรือมีมือ-แขนแกว่งจับของไม่ถูก
ภรรยาพาคุณสมชายไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ได้รับการวินิจฉัยเกือบในทันทีที่เอ่ยถึงอาการบ้านหมุนว่า น่ากลัวจะเป็นเส้นเลือดตีบในสมอง และถูกจับตัวเข้าทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) และคอมพิวเตอร์สนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ตามลำดับ
และการตรวจอีกสารพัด และได้รับคำบอกเล่าว่าโชคดีที่ยังไม่เป็นมาก แต่ต้องรีบรักษาป้องกันไว้ก่อน
โดยได้ยาแก้เวียน 2 ขนาน นามชื่อ Flunarizine และ Cinnarizine ซึ่งมีการอ้างสรรพคุณด้วยว่าช่วยระบบไหลเวียนเลือดสมองดีขึ้น (ซึ่งไม่จริง) ได้ยาบำรุงสมอง ซึ่งในเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันยังไม่เคยได้รับการพิสูจน์สรรพคุณว่าเก่งจริงอีก 5 ขนาน
และเพื่อเป็นการเพิ่มพูนความเฉียบคมของสมอง ได้ยาป้องกันสมองเสื่อมอีก 2 ขนาน (ซึ่งไม่เป็นความจริงเช่นเคย) พร้อมกับยาป้องกันเส้นเลือดตีบ 2 ขนาน ซึ่ง 1 ใน 2 นั้นมียาแอสไพรินเป็นส่วนผสม นอกจากนั้น เพื่อเป็นการปกป้องเส้นเลือดจากไขมันตกตะกอนจึงได้ยาลดไขมันอีก 2 ขนาน
ภายในสัปดาห์แรก คุณสมชายดูจะดีขึ้นจากบ้านหมุนโคลงเคลง แต่หลังจากสัปดาห์ที่ 4 คุณสมชายตัวแข็ง ๆ มือสั่น เดินช้า ตาไม่ค่อยกะพริบ หน้าเคร่ง เฉยเมย และมีอาการปวดเมื่อยตามไหล่ หลัง ขาทั้ง 2 ข้าง จนนอนไม่ค่อยหลับ และท้องอืด เมื่อกลับไปพบคุณหมอคนแรก ได้รับการวินิจฉัยว่าคุณสมชายเริ่มมีอาการของโรคพาร์กินสัน ต้องได้รับยาอีก 2 ขนาน และยาแก้ปวดเมื่อยอีก 1 ขนาน ยาท้องอืดอีก 1 ขนาน
ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้ว อาการของโรคพาร์กินสันเกิดจากยาแก้เวียน ซึ่งข้อบ่งชี้กำหนดให้ใช้เป็นระยะเวลาสั้น ๆ และผลข้างเคียงจะก่อให้เกิดโรคพาร์กินสันได้หากใช้ติดต่อกัน
โรคพาร์กินสันตามปกติจะค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป จนระยะเวลาเป็นหลายปีจึงมีสภาพเช่นนี้ ยกเว้นมีการโด๊ปยาช่วยโรคพาร์กินสันอย่างมโหฬารจะเกิดอาการเลวลงอย่างรวดเร็วได้ อาการปวดเมื่อยเกิดจากผลข้างเคียงของยาลดไขมัน ซึ่งกรณีนี้ได้รับ 2 ตัวพร้อมกัน เพื่อลดทั้งคอเลสเตอรอล และไขมันไตรกลีเซอไรด์จะยิ่งเพิ่มอัตราของอาการข้างเคียงนี้
ในกรณีของคุณสมชายยังได้วิตามินบำรุงหลายกำมือ
ผ่านไปอีก 3 อาทิตย์อาการตัวแข็งยังเป็นอยู่ และมีอาการงก ๆ เงิ่น ๆ มากขึ้น เริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยน หวาดระแวง กลัวสมบัติจะหาย เห็นภาพหลอน จึงไปพบคุณหมอคนที่ 2 ซึ่งก็ได้ให้ยารักษาโรคจิตและยานอนหลับ
ทั้งนี้ อาการทางจิตเป็นปฏิกิริยาหรือผลข้างเคียงต่อยาสมองเสื่อมและยาช่วยบรรเทาโรคพาร์กินสัน ในโลกนี้ยังไม่มียาตัวใดที่สามารถรักษาอัลไซเมอร์และพาร์กินสันได้
ยาป้องกันสมองเสื่อม 2 ขนานที่ว่านี้ไม่มีผลใด ๆ ในการชะลอหรือรักษาต้นเหตุ เป็นเพียงกระตุ้นสารเคมีในสมองให้รู้สึกตื่นตัว ฉับไว จะได้จำได้มากขึ้นบ้างเล็กน้อย นอกจากนี้ คุณหมอคนที่ 2 ยังได้ให้ยาแก้โรคกระเพาะท้องอืดมาอีก 1 ขนาน
อาการทั้งหมดดี-เลวสลับกันไป จนทรุดหนักลงเรื่อย ๆ ในช่วง 4 เดือนหลัง จนถึงกับเดินลำบาก ต้องนั่งรถเข็น และพูด “ถามคำ ตอบคำ” ซึ่งน่าจะเป็นผลของยาโรคจิต ซึ่งทำให้อาการพาร์กินสันเลวลง และคุณสมชายกลายเป็นซอมบี้ มีอาการของโรคพาร์กินสันจริง ร่วมกับอิทธิพลของยานอนหลับ ซึ่งจะทำให้สมองและประสาทรับรู้ การโต้ตอบ สั่งงานเชื่องช้าไปด้วย
หมอแนะนำให้คุณสมชายหยุดยาทั้ง 23 ชนิดรวมทั้งยาฉีด
1 เดือนผ่านไปจนหมอลืมไปแล้วด้วยซ้ำ คุณสมชายเดินเข้ามาพบหมอในห้องตรวจพร้อมกับครอบครัวในสภาพปกติ จากอาการทั้งหมด คุณสมชายมี อาการบ้านหมุนจาก “หินปูนท่อน้ำในหู” ซึ่งเป็นโรคไม่ร้ายแรง แต่อาจเป็น ๆ หาย ๆ และวิธีการรักษา คือใช้ยาแก้เวียน แต่น้อยเท่าที่จำเป็น และให้มีการเคลื่อนไหว หรือมีการบริหารท่าต่าง ๆ เพื่อปรับสมดุลจาก “หินปูนท่อน้ำในหู” นำไปสู่การวินิจฉัย “อัมพฤกษ์”
ซึ่งไม่เป็นจริง และได้ยาบำรุงรวมทั้งยาผีบอกอีกนับไม่ถ้วน และจากความเชื่อของคุณสมชายเองยังได้เสาะหาอาหารเสริมที่โฆษณาในทีวี-นิตยสารอีก 3-4 ชนิด จนตัวคุณสมชายได้กลายเป็น “สนามรบ” ของยาหลายชนิด และเป็นที่มาของการเกิดปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์…
การเลิกนิสัยที่อะไร ๆ ต้องกินยาก่อน น่าจะเป็นบทเรียนของคุณสมชายและเพื่อนแพทย์ทุกคนครับ