เตือน! ผู้ป่วยเบาหวานกิน ‘ป่าช้าเหงา’ เกินขนาด อันตราย

เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2561 ภญ.อาสาฬา เชาวน์เจริญ เภสัชกรชำนาญการ ศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวเตือนประชาชนถึงการรับประทานป่าช้าเหงา หรือหนานเฉาเหว่ย เพื่อหวังลดปริมาณน้ำตาลในเลือดว่า เมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พบผู้ป่วยเพศชาย อายุ 64 ปี มีโรคประจำตัวเป็นโรคเบาหวาน ความดัน ไขมัน หัวใจ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลด้วยอาการน้ำตาลตก เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดเหลือเพียง 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จากเดิมที่เคยมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 400 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ส่งผลให้ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยผู้ป่วยมาด้วยอาการหน้ามืด เหนื่อยมากขึ้น เหงื่อออก ใจสั่น อ่อนแรง แต่ยังไม่หมดสติ ซึ่งจากการสอบถามพบว่าผู้ป่วยได้รับประทานป่าช้าเหงา จากคำแนะนำของเพื่อนว่าป่าช้าเหงาช่วยลดปริมาณน้ำตาลในเลือด แต่ไม่รู้วิธีการรับประทาน

ภญ.อาสาฬากล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายดังกล่าวได้นำใบป่าช้าเหงาจำนวน 10 ใบต้มกับน้ำ 1 กาในปริมาณ 1 ลิตร และใช้เวลาในการเคี่ยวประมาณ 1 ชั่วโมง และเริ่มรับประทานเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาเป็นเวลา 7 วัน โดยรับประทานครั้งละ 1 แก้ว เช้า และเย็น และหยุดรับประทาน 7 วัน หลังจากนั้นก็เริ่มดื่มอีกครั้งในวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา โดยในวันที่เกิดเหตุ ผู้ป่วยได้ฉีดยาเบาหวานมื้อเช้า พร้อมทั้งรับประทานยาเบาหวานก่อนอาหาร ร่วมกับจิบน้ำป่าช้าเหงาไปประมาณ 3 แก้วกาแฟ และกินข้าวเช้าตามปกติ หลังจากนั้นเวลาประมาณเที่ยงกว่าผู้ป่วยเริ่มมีอาการน้ำตาลตก จึงเรียกญาติที่มาพบเหตุการณ์ให้ช่วยนำส่งโรงพยาบาล ซึ่งช่วงที่รับประทานผู้ป่วยรู้สึกปัสสาวะบ่อย ขาที่เคยบวมยุบลง ค่าความดันโลหิตปกติตัวบนปกติจะอยู่ประมาณ 170 มิลลิเมตรปรอท ก็เหลือเพียง 110 มิลลิเมตรปรอทเท่านั้น

ภญ.อาสาฬากล่าวว่า ขอฝากเตือนผู้ป่วยโรคเรื้อรัง อย่างความดัน เบาหวาน ควรใช้ยาตามแพทย์สั่งเป็นหลัก ผู้ป่วยควรศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนรับประทานสมุนไพร เนื่องจากปัจจัยในแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน ส่วนขนาดรับประทานป่าช้าเหงาที่แนะนำ เช่น ใช้เป็นอาหารโดยรองกระทงห่อหมกแทนใบยอ ยำดอกขจรใส่ดอกป่าช้าเหงา ซึ่งคนพื้นบ้านนิยมกินช่วงเปลี่ยนฤดู ปลายฝนต้นหนาว เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันไม่ให้เจ็บป่วย โดยจะนำใบป่าช้าเหงามาลวกน้ำร้อนก่อนรับประทาน เพื่อลดความขมและลดฤทธิ์ยา กรณีกินเป็นยา เช่น เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือกินบำรุงร่างกาย แนะนำกินวันละ 1-2 ใบ 2-3 วันกินที กินบ้างหยุดบ้าง ไม่แนะนำให้กินทุกวัน หรือกินต่อเนื่อง เพราะเป็นยาเย็น อาจทำให้ตับเย็น ร่างกายเย็น ซึ่งส่งผลต่อระบบย่อยอาหาร ทำให้ท้องอืดง่าย มือเท้าเย็น อ่อนเปลี้ยเพลียแรง และห้ามใช้ในผู้ป่วยที่กินยาละลายลิ่มเลือดชื่อวาร์ฟาริน เพราะอาจเสริมฤทธิ์ยา ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับและไต เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลยืนยันความปลอดภัยในการใช้ในกลุ่มผู้ป่วยดังกล่าว

สำหรับผู้ป่วยที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ควบคุมความดันโลหิตได้ดีอยู่แล้วด้วยยาแผนปัจจุบัน ไม่แนะนำให้กินป่าช้าเหงา เพราะสมุนไพรไม่ได้ทำให้โรคดังกล่าวหายขาดและอาจเสริมฤทธิ์ยาแผนปัจจุบันจนเกิดอันตราย

 

ที่มา:มติชนออนไลน์