ยาต้านเอดส์ รักษาไวรัสโคโรน่าได้จริงหรือ?

Photo by Anusak Laowilas/NurPhoto via Getty Images

เมื่อสัปดาห์ก่อน กระทรวงสาธารณสุขบ้านเราแถลงข่าวว่า แพทย์ชาวไทยจากโรงพยาบาลราชวิถีค้นพบสูตรยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ได้ผล โดยใช้ยารักษาโรคเอดส์ ซึ่งเป็นสูตรผสมของตัวยา 2 ตัว ชื่อว่า โลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ (lopinavir/ritonavir) ร่วมกับยารักษาไข้หวัดใหญ่ ชื่อว่า โอเซลทามิเวียร์ (oseltamivir) คนไข้หนึ่งรายที่แพทย์ให้ยาที่ว่านี้หายดี ออกจากโรงพยาบาลได้ สร้างความยินดีกันในวงกว้าง และเป็นข่าวใหญ่ประจำวันนั้น

ท่ามกลางความยินดี ก็น่าสงสัยว่ามันง่ายขนาดนั้นจริงหรือ ก่อนหน้านี้เคยมีการใช้ยาตัวนี้รักษาผู้ป่วยในประเทศอื่น หรือใช้ในการทดลองศึกษาบ้างหรือเปล่า การที่ผู้ป่วยคนนั้นหายดี เป็นเพราะยาที่ว่านี้ใช้ได้ผลจริง หรือมีปัจจัยอื่น ๆ ไหม?

ในการแถลงข่าว “ไวรัสปอดบวมร้ายแรงจากอู่ฮั่น” จัดโดยราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อออกมาทักท้วงประเด็นนี้ ว่า ยังไม่ควรสรุปว่าการใช้ยาดังกล่าวนี้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ได้ผล เนื่องจากไม่มีงานวิจัยรองรับ และการรักษาผู้ป่วยไม่มีการควบคุมปัจจัยต่าง ๆ จึงไม่มีอะไรที่ยืนยันได้ว่าผู้ป่วยหายดีเพราะยาที่ใช้รักษา ผู้ป่วยอาจจะหายดีเองโดยธรรมชาติก็เป็นได้ เพราะผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่นี้สามารถหายได้เองอยู่แล้วหากร่างกายแข็งแรง ภูมิต้านทานดี อีกทั้งยังท้วงติงแสดงความเป็นกังวลถึงผลข้างเคียงของการใช้ยาด้วย

ศ.พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นตัวแทนจากสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เชื้อไวรัสเป็นเชื้อที่มียาต้านจำนวนไม่มากเหมือนเชื้อแบคทีเรีย โรคจากเชื้อไวรัสที่มียาต้านจำเพาะเจาะจงมีอยู่เพียงไม่กี่โรค เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคเริม โรคงูสวัด สำหรับไวรัสโคโรน่า

ณ ตอนนี้ยังไม่มียาต้านไวรัสที่สามารถจัดการกับไวรัสนี้ได้โดยตรง การรักษาหลัก ๆ ที่ผ่านมาเป็นการรักษาตามอาการ เช่น เมื่อผู้ป่วยมีไข้ก็ให้ยาลดไข้ เมื่อผู้ป่วยหายใจไม่ไหวและออกซิเจนต่ำก็ให้ออกซิเจน จนถึงตอนนี้ก็ยังยืนยันว่าต้องรักษาแบบประคับประคองตามอาการ

ประเด็นที่ว่า แพทย์ไทยค้นพบวิธีรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 โดยการให้ยารักษาโรคเอดส์และรักษาไข้หวัดใหญ่นั้น ศ.พญ.ศศิโสภิณ ให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้มีการทดลองในหลอดทดลอง พบว่ายานี้มีฤทธิ์ต่อเชื้อจริง และมีการทดลองในสัตว์พบว่ายานี้ทำให้สัตว์ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์อื่น ๆ อาการดีขึ้นได้ ส่วนการใช้ในคนมีมาก่อนหน้านี้แล้วในกรณีโรคซาร์ส การวิจัยในคนบ่งชี้ว่ายานี้ลดอัตราการเสียชีวิตได้จริง แต่ยังไม่ใช่การวิจัยระดับที่ดี

อย่างไรก็ตาม การทดลองที่ว่ามาเป็นการทดลองในไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์อื่น ส่วนการจะสรุปว่ายาดังกล่าวรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ได้ผลจริงหรือไม่นั้น คุณหมอบอกว่า ต้องอาศัยข้อมูลมากกว่านี้

ขณะนี้ในจีนกำลังวิจัยอยู่ ซึ่งการวิจัยที่ดีต้องมีการควบคุมกลุ่มตัวอย่างและตัดปัจจัยรบกวนต่าง ๆ ด้วย ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถสรุปผลได้ว่าผู้ป่วยอาการดีขึ้นและหายดีเพราะยาที่ใช้รักษา หรืออาการดีขึ้นเองตามธรรมชาติ

ส่วนยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ใช้ร่วมกันนั้น ศ.พญ.ศศิโสภิณ บอกว่า ไม่ได้มีฤทธิ์ต่อไวรัสโคโรน่า แต่ที่มีการใช้เพราะว่าตอนนี้ประเทศไทยมีไข้หวัดใหญ่ระบาดด้วย ผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจจะเป็นไข้หวัดใหญ่ร่วมด้วย หรือเป็นไข้หวัดใหญ่เป็นหลัก แพทย์จึงใช้ยานี้รักษาด้วย แต่ไม่มีข้อมูลการวิจัยว่ายาตัวนี้มีฤทธิ์ต่อไวรัสโคโรน่า

นอกจากนั้น ศ.พญ.ศศิโสภิณแสดงความเป็นห่วงเรื่องผลข้างเคียงจากการใช้ยาโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ ว่า ยาตัวนี้ เป็นยาที่ใช้รักษาโรคเอดส์มาเกือบ 20 ปี ตอนนี้ทางการแพทย์ใกล้จะเลิกใช้และเปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่นแล้ว เนื่องจากยาตัวนี้มีผลข้างเคียงหลายอย่าง และยาตัวนี้ยังไปตีกับยาตัวอื่นหลายตัว ผลข้างเคียงอาจไม่ได้เกิดจากยาตัวนี้เอง
แต่ถ้าคนไข้ใช้ยาอื่น ๆ ร่วมด้วย ยาจะไปตีกันแล้วเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงตามมา

ด้าน ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวเสริมประเด็นนี้ว่า สิ่งที่กังวลตอนนี้ คือ ไม่มีประโยชน์ที่จะเอายารักษาเอดส์มารักษาไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ เนื่องจาก 1.ยามีผลข้างเคียง 2.ถ้าคนที่กินยาตัวนี้เป็นผู้ติดเชื้อ HIV ซึ่งเจ้าตัวไม่ทราบ ไม่ได้ตรวจเลือดและไม่เคยรักษามาก่อน จะส่งผลให้เชื้อ HIV ดื้อยา ฉะนั้น ไม่ควรเอายาตัวนี้ไปให้คนกินเพื่อต้านไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่

ศ.พิเศษ พญ.จุรีรัตน์ บวรวัฒนุวงศ์ ประธานเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย แสดงความเห็นไปในทางเดียวกันว่า ไวรัสตัวนี้เป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ฉะนั้น การจะมียารักษาได้นั้นไม่น่าจะรวดเร็ว ยาที่จะใช้รักษาต้องมีการพิสูจน์ชัดเจน

“การจะประกาศว่ายาตัวใดรักษาโรคใดได้นั้นมีขั้นตอนตามมาตรฐานวิชาการ ไม่ใช่ว่ารักษาคนไข้หนึ่งคนแล้วประกาศว่ายาตัวนี้รักษาได้ ต้องทดลองทั้งในหลอดทดลอง ในสัตว์ และในมนุษย์ ซึ่งต้องทำการทดลองแบบควบคุม แยกกลุ่มผู้ป่วยที่ให้ยาและไม่ให้ยา ซึ่งตอนนี้ประเทศจีนกำลังทำอยู่ และทางจีนบอกว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนจึงจะทราบผลการศึกษา และมีการประกาศผลการศึกษาออกมา” ศ.พิเศษ พญ.จุรีรัตน์กล่าวสรุปตอบข้อสงสัยได้อย่างชัดเจน