ซูเปอร์สเปรดเดอร์ คืออะไร? ทำไมบางคนถึงแพร่เชื้อมากกว่าคนอื่น?

กรณี “ดีเจมะตูม” ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากนั้นมีการสอบสวนโรคพบว่า ดีเจคนดังได้ร่วมงานปาร์ตี้ ซึ่งต่อมา นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขเผยว่า คลัสเตอร์งานปาร์ตี้ของดีเจมะตูม มีผู้ติดเชื้อแล้ว 19 คน ในจำนวนนี้มีกลุ่มคนจากหลากหลากอาชีพ ทั้งพนักงานสายการบินวัย, นักร้อง-นักแสดงชาย, ตำรวจ, ผู้จัดการพีอาร์, สไตลิสต์ ฯลฯ

นำมาสู่คำถามว่า เคสของ “ดีเจมะตูม” ถือเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ได้หรือไม่?

ตอนแรก ศบค. ยืนยันว่ากรณีของ “ดีเจมะตูม” ยังไม่เรียกว่า “ซูเปอร์สเปรดเดอร์” แต่ต่อมาก็ยอมรับว่าใช่ ส่วนทางด้าน นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก ฟันธงว่า “ดีเจมะตูม” ถือเป็น “ซูเปอร์สเปรดเดอร์” แล้ว

ขณะที่กรณีของ “ดีเจมะตูม” ยังไม่ได้คำตอบชัดเจนว่าเป็น “ซูเปอร์สเปรดเดอร์” หรือไม่ “ประชาชาติธุรกิจ” พาผู้อ่านทำความเข้าใจความหมายของคำว่า “ซูเปอร์สเปรดเดอร์” เพื่อเป็นข้อมูลประกอบ

ซูเปอร์สเปรดเดอร์คืออะไร?

บีบีซี รายงานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้วว่า คำนี้เป็นคำที่คลุมเครือเล็กน้อย และไม่มีคำจำกัดความที่แน่ชัดทางวิทยาศาสตร์

แต่ใช้กล่าวถึงเมื่อผู้ติดเชื้อรายหนึ่งส่งผ่านเชื้อไปยังผู้อื่น ประมาณ 2-3 คน

แต่นี่เป็นเพียงค่าเฉลี่ยเท่านั้น เพราะบางคนอาจไม่ได้ส่งเชื้อต่อไปให้ใครเลย ขณะที่บางคนส่งต่อเชื้อไปให้คนจำนวนมากกว่านี้

ต้องแพร่เชื้อมากแค่ไหน? จึงจะถือเป็น “ซูเปอร์สเปรดเดอร์”

เป็นจำนวนมาก และส่งผลกระทบอย่างมากต่อการระบาด

เมื่อปี 2558 มีงานหนึ่งที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อไวรัสเมอร์สมากถึง 82 ราย จากผู้ป่วยเพียงรายเดียว

ขณะที่การระบาดของอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก ผู้ป่วยประมาณ 61% ติดเชื้อมาจากผู้ป่วยเพียงไม่กี่คน

“มีการส่งต่อเชื้อไปยังผู้คนมากกว่า 100 คน จากงานศพเพียงงานเดียว เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2557” ดร.นาตาลี แมคเดอร์มอตต์ จากคิงส์คอลเลจลอนดอน กล่าว

ทำไมบางคนถึงแพร่เชื้อมากกว่าคนอื่น?

คนเหล่านี้สัมผัสกับผู้คนจำนวนมากกว่า เนื่องด้วยหน้าที่การงานหรือชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งหมายความว่าพวกเขาสามารถแพร่กระจายเชื้อได้มากกว่า แม้ว่าพวกเขาจะมีอาการหรือไม่ก็ตาม

“เด็ก ๆ ตัวดีเลย นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมการปิดโรงเรียนจึงเป็นมาตรการที่ดี” ดร.จอห์น เอ็ดมันด์ จากวิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน จากมหาวิทยาลัยลอนดอน กล่าว

“ผู้ขายบริการทางเพศก็มีความสำคัญมากในการแพร่เชื้อเอชไอวี” ศาสตราจารย์มาร์ค วูลเฮาส์ จากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ กล่าว

ขณะที่โรงพยาบาลหลายแห่ง ซึ่งรักษาผู้ป่วยโรคซาร์ส ก็กลายเป็นศูนย์กลางสำคัญในการแพร่ระบาดโรค เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ได้สัมผัสกับผู้ป่วย

ซูเปอร์สเปรดเดอร์มีผลต่อความรุนแรงในการระบาดอย่างไร?

“ช่วงเริ่มต้นการระบาดเป็นช่วงที่สำคัญมาก โดยเฉพาะช่วงที่ไวรัสพยายามจะก่อตัวขึ้น” ดร.เอ็ดมันด์ ให้สัมภาษณ์กับบีบีซี

การติดเชื้อใหม่ ซึ่งรวมถึงการติดเชื้อไวรัสโคโรนาจากสัตว์

เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยรายแรก เชื้อโรคอาจจะสงบลง ไม่ทันได้เกิดการระบาดใหญ่

แต่หากมันสามารถหาวิธีเข้าสู่ร่างกาย “ซูเปอร์สเปรดเดอร์” ได้ มันจะทำให้เกิดการระบาด กฎเดียวกันนี้เองที่ถูกนำไปนิยามการนำเข้าเชื้อสู่ประเทศอื่น ๆ

“ถ้าคุณมีซูเปอร์สเปรดเดอร์หลายคนในบริเวณใกล้เคียง คุณจำเป็นต้องควบคุมการระบาดให้ได้” ดร.แมคเดอร์มอตต์กล่าว

จะทำอย่างไรเพื่อสกัดการแพร่ระบาดจากซูเปอร์สเปรดเดอร์?

การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของโควิดไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ และจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดการโรคอย่างมีนัยสำคัญ

ในขณะนี้เราอาศัยวิธีการระบุตัวผู้ติดเชื้อ และใครก็ตามที่สัมผัสกับพวกเขา อย่างรวดเร็ว

“วิธีการนี้ยิ่งสำคัญมากขึ้นไปอีก คุณไม่สามารถทำผิดพลาดได้มากเกินไป คุณไม่สามารถพลาดการค้นหาซูเปอร์สเปรดเดอร์ได้” ศาสตราจารย์วูลเฮาส์กล่าว

เป็นความผิดของซูเปอร์สเปรดเดอร์หรือไม่?

ในอดีตมีการตีตราซูเปอร์สเปรดเดอร์

“ไทฟอยด์แมรี” เป็นชื่อที่ใช้เรียกแม่ครัวชาวไอริช ซึ่งป่วยเป็นไข้ไทฟอยด์ และส่งผ่านไข้ไทฟอยด์ไปยังผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากตัวเธอเองไม่มีอาการ สุดท้ายเรื่องราวของเธอจบลงด้วยการใช้เวลาหลายสิบปีลี้ภัยออกจากประเทศและถูกบังคับให้กักตัว

แต่ในความเป็นจริง เรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดของผู้ป่วย

“เราจำเป็นต้องระวังภาษาที่เราใช้” ดร.แมคเดอร์มอตต์กล่าว

“พวกเขาไม่ได้ทำสิ่งใดผิด นี่คือการติดเชื้อซึ่งไม่ใช่ความผิดของใคร”

“พวกเขาอาจกลัวและต้องการความรักและเอาใจใส่”