หมอรามาฯ หวั่น ยาไม่พอ โรงพยาบาลป้อมแตก วอนหยุดวงจรโควิด

หมอรามาเตือนโรงพยาบาลป้อมแตก

แพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดีโพสต์เฟซบุ๊ก บรรยายสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ที่ทำให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ป้อม แตก หวั่นยาฟาวิพิราเวียร์ไม่พอ

วันที่ 23 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ศุภโชค เกิดลาภ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระบุว่า

อัพเดตสถานการณ์สัปดาห์ที่ 2 เข้า 3 จากนโยบายที่รัฐบาลเลือกที่จะไม่ lock down และยังให้เปิดการไปมาระหว่างจังหวัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพราะไม่สามารถจะทำการ lock down ได้อีกแล้ว ด้วยหลายๆด้านไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งถ้าทำ lock down อีก เศรษฐกิจก็จะยิ่งไปใหญ่ แต่ไม่ว่าเหตุการณ์นี้จะถูกมองกันว่าอย่างไร แต่สิ่งที่เราพบต่อมาหลังจากนั้น 1 สัปดาห์ เราพบว่า

ผู้ป่วยที่รับใหม่เริ่มเป็นวง 2 หมดแล้ว เป็นผู้สูงอายุ พ่อ แม่ ปู่ ยา ตายาย มี co-morbid มาก ๆ แถมบางคนเป็นผู้ป่วยติดเตียงด้วย

การติดเชื้อส่วนใหญ่เป็น contact confirm เคส นั่นก็คือลูก ๆ ที่กลับบ้านไปเยี่ยมพ่อแม่ หรือปู่ย่าตายาย หลายคนบอกว่าลูกหลานกลับมาจากเที่ยว หรือกลับมาช่วงเทศกาลสงกรานต์

แต่ 2-3 วันมานี้คือ tracking ไม่ได้แล้วนะว่าไปติดมาจากไหน ใช้แต่อาการแสดงทาง clinical + lab + CXR ถามไม่ได้ความเสี่ยงอะไรเลย เอาจริง ๆ มันก็คือ phase 3 แล้วแหล่ะ แต่รัฐบาลคงเลิกประกาศแล้วมั้ง และคนคงเลิกสนใจแล้วแหล่ะ

ความพีคคือมีหลาย ๆ ความยากลำบาก เช่น พ่อแม่บวก ลูกลบ แต่ลูกอายุ 3 เดือน, ปู่ย่าบวก เป็นผู้ป่วยติดเตียง ลูกเอามาติด นอน ICU แต่ลูกอีกคนที่เป็น caregiver negative และนอนติดเตียง, ตายายเป็นผู้ป่วยติดเตียง แต่เป็นลบ ลูกผู้ดูแลเป็นบวกและต้อง admit ไม่มีใครดูแลตายาย และไม่มีใครพาตายาไป swab เนื่องจากเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง

คนไข้ที่นอนตั้งแต่ช่วงแรก 50-60% เป็น pneumonia ทั้ง ๆ ที่ admit ค่อนข้างเร็วแล้ว และ 10-20% อาการหนัก ต้องเข้า intermediate/ICU และบางส่วนต้อง intubation ไปถึงแม้จะพยายามให้ยา Favipiravir/dexamethasone ไปเร็วแค่ไหน แต่ถ้า co-morbid มากยังไงก็เอาไม่อยู่

คนไข้เก่าขยับไม่ออก คนไข้ใหม่ก็เข้ามาไม่ได้ เกิดปรากฎการคอขวด ขึ้นมาเลยในหลาย ๆ ที่

คนไข้ที่รออยู่บ้าน ซึ่ง 40-50% จะเกิด pneumonia มีคนไข้บางส่วนที่เริ่มเหนื่อย และได้รับการ admit ช้า (DOI8-9) และ delay treatment ทำให้คนไข้อาการหนักมาตั้งแต่แรกรับ และต้องเข้า intermediate/ICU มากกว่าเดิม เปิดเพิ่มเท่าไหร่ก็ไม่พอ (เพราะมีแต่เตียง ไม่มีคนพอ เราเรียกเตียงทิพย์)

โรงพยาบาลต่าง ๆ เกิดปรากฏการณ์ “ป้อมแตก” มีคนไข้บวกใน ward ที่เป็น ward สามัญ หรือมีเจ้าหน้าที่ติดเชื้อมาจากบ้านโดยไม่ได้ตั้งใจ (อาจจะเพราะไปได้มาจากลูกหลาน, บางส่วนได้มาเพราะยังไปสถานที่ชุมนุมชน เช่น fitness เป็นต้น)

มีเพื่อน คนรู้จัก หรือแพทย์/เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์หลายคนที่ติดเชื้อ ส่วนใหญ่จะติดจากการสัมผัสผู้ติดเชื้อโดยที่เราไม่ทันทราบ และไม่ได้ตั้งใจ หลาย ๆ คนใช้ชีวิตปลอดภัยมาก แต่พลาดเพราะไม่รู้ว่าคนที่เราอยู่ใกล้ ๆ นำพาเชื้อมา (เพราะไม่คิดว่าเค้าจะติดได้ เราเลยประมาท)

เป็นช่วงที่เริ่มได้ notice ว่าให้ใช้ favipiravir ด้วยความจำกัดจำเขี่ยมากขึ้น จนทำให้เรากลัวเหลือเกินว่าจะมียาเหลือพอหรือไม่

และมันก็เกิดวงจรที่ไม่ควรเกิด => เตียงไม่พอ => admit ไม่ได้ => รออยู่บ้าน => อาการหนักเพราะ delay ยา=> ต้องใช้ยาเยอะกว่าเดิมและใช้ ICU => กินเตียงนาน => เตียงเต็มเตียงไม่พอ วนไปเป็นนิรันดร์

นอกจากนี้พอทุก ๆ ที่เกินศักยภาพ มีการประสานส่วนกลางเพื่อกระจายเคสหนักเข้า ICU ในแต่ละ รพ. ที่มีศักยภาพ แต่เตียงก็มันเต็มมมมมมมมม จนอยากจะบอกว่ารับไม่ได้อ่า ฝ่ายจัดการเตียงและทรัพยากรก็หมุนกำลังเต็มที่ หมุนจนไม่คิดว่าเราจะทำได้ขนาดนี้

เจ้าหน้าที่ทำงานหนักแบบ 200% ทุกภาคส่วนไม่เว้นแม้แต่บุคลากรทางการแพทย์ และบุคลากรอื่น ๆ นอกโรงพยาบาล บางโรงพยาบาลไม่สามารถรับเคสได้อีกเพราะเตียง “ล้น” บางโรงพยาบาลคนหายไปเพราะถูก quarantine หรือ ติดเชื้อไปบางส่วน

การดูแลผู้ป่วย non covid เริ่มได้รับปัญหาเรื่อย ๆ เพราะเกิดการ down size ระบบบริการเพื่อไปเทกับ COVID care

สถานการณ์ที่เป็นแบบนี้ ยาที่เริ่มจำกัดจำเขี่ย เราก็ยังได้ยิน timeline ประหลาด ๆ เช่น บุคคลชั้นสูงของบางกิจการติดเชื้อเป็นร้อย เพราะไปจ้างสาว PR มาจัดงานเลี้ยงในช่วงเวลาแบบนี้ เป็นต้น, ข่าวผู้เสียชีวิตรายวันเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ช้าๆ

สุดท้าย ภาพที่เห็นในอนาคตนี้ช่างยากลำบากเหลือเกิน ขอให้ทุกท่านช่วยกัน และรีบร่วมมือหยุดวงจรเหล่านี้ เพราะถ้าไม่เช่นนั้น อาจจะมีวันที่เราไม่เหลือเตียงและยารักษา หวังว่าเบื้องบนระดับผู้ใหญ่ระดับประเทศจะเห็นพ้องตรงกันว่า นี่คือวิกฤตของประเทศแล้ว อาเมน