หมอธีระวัฒน์เร่งมาตรการรักษาโควิดที่บ้าน ชี้ทำไมต้องทำ “โดยด่วน”

หมอธีระวัฒน์เร่งรักษาตัวที่บ้าน

หมอธีระวัฒน์เสนอแนวทางรักษาโควิดที่บ้าน พร้อมแจงรายชื่อยา อธิบายเหตุผลละเอียด ทำไมต้องเร่งทำโดยด่วน 

วันที่ 2 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ (1 ก.ค.) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ภาพคนจำนวนมากมารอตรวจโควิดบริเวณหน้าโรงพยาบาล พร้อมข้อความแนะนำว่า คนป่วยที่หาโรงพยาบาลไม่ได้ ควรได้รับแจกยาฟาวิพิราเวียร์ ไปกินที่บ้าน รวมถึงกล่าวถึงยาและสมุนไพรชนิดอื่น ๆ

เวลาต่อมา หมอธีระวัฒน์ได้โพสต์อีกข้อความบอกเล่าสถานการณ์การระบาดว่า ผู้ติดเชื้อโควิดที่หาเตียงไม่ได้ในขณะนี้ ไม่ใช่ผู้ติดเชื้อจากสายพันธุ์เดลต้าทั้งหมด แต่บางส่วนเป็นผู้ติดเชื้อสายพันธุ์อัลฟา รวมถึงยังมีสายพันธุ์อื่น ๆ ที่น่ากังวล พร้อมสรุปสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 8 ข้อ

สาระสำคัญชี้ว่า วัคซีนซิโนแวคที่ใช้ในขณะนี้มีประสิทธิภาพจำกัด ขณะที่หมอ-พยาบาล-เจ้าหน้าที่ แม้จะฉีดไปครบ 1 เดือนแล้ว ยังติดเชื้อโควิด แม้จะมีอาการไม่มาก แต่กลายเป็นคนแพร่เชื้อที่ทรงประสิทธิภาพ ไปยังเพื่อนร่วมงานและผู้ป่วย

มีจำนวนมากที่ระดับภูมิในการยับยั้งไวรัสไม่ให้ติด สูงไม่มากพอ และหมอพยาบาลเจ้าหน้าที่หลังฉีดวัคซีนแล้ว ครบหนึ่งเดือน ติดไปแล้ว แม้อาการอาจไม่มาก แต่ที่น่ากลัว กลับกลายเป็นคนแพร่เชื้อที่ทรงประสิทธิภาพ ไปยังเพื่อนร่วมงานและไปยังผู้ป่วย จึงเป็นเหตุผลให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเรียกร้องให้มีวัคซีนหลากหลายและเพียงพอ

นอกจากนี้ ยังเสนอเรื่องการรักษาที่บ้าน ซึ่งต้องทำให้เป็นรูปธรรม “โดยด่วน” โดยต้องจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ ฟ้าทะลายโจร ให้เลย

หมอธีระวัฒน์ให้เหตุผลด้วยว่า หากปล่อยให้ประชาชนอยู่ร่วมกันโดยไม่รู้ว่าใครติดหรือไม่ติด คงไม่มีทางระงับการแพร่กระจายของโรคระบาดนี้ได้ พร้อมระบุว่า ไม่ใช่แค่ชุมชนแรงงานแคมป์แรงงานที่เป็นขุมรังโรคเพราะเชื้อได้แพร่ไปตามบ้านเรือนนานพอสมควรแล้ว เนื่องจากสมาชิกในครอบครัวต้องทำงานนอกบ้านและกลับมาแพร่เชื้อในบ้านต่อ

ทางราชวิทยาลัยอายุรแพทย์สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยได้เรียกร้องการจัดการรวมทั้งการจัดหาวัคซีนหลากหลายไปแล้ว คงไม่ต้องทำวิจัยหรืออ่านตำรามาแสดงดูสถานการณ์ที่เป็นอยู่ขณะนี้ ซึ่งเป็นโรคและโลกแห่งความเป็นจริง คงจะทำให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

พร้อมปิดท้ายโพสต์สั้น ๆ ว่า “วังเวง มากขึ้นทุกนาที”