ลอง โควิด อาการที่ต้องรีบพบแพทย์-รักษาทันที ผู้สูบบุหรี่เสี่ยงสูง

FILE PHOTO : Anna Shvets / Pexels

เช็กอาการ ภาวะลองโควิด (Long Covid) หมอแนะนำหากเจอต้องรีบพบแพทย์-เข้ารับการรักษาทันที ผลวิจัยชี้คนสูบบุหรี่เสี่ยงกว่าคนปกติ 16.1%

ภาวะลองโควิด (Long Covid) อาการที่เกิดขึ้นกับผู้หายป่วยจากโควิด แต่จะมีอาการคล้ายกับยังเป็นโควิดอยู่ต่อเนื่องตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป

อาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับหลายระบบในร่างกาย ตั้งแต่ระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาท ระบบหัวใจ ระบบทางเดินอาหาร และหลอดเลือด

ภาวะลองโควิด มักพบในกลุ่มผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย รวมถึงผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำหนักตัวมาก ผู้มีประวัติเป็นโรคหัวใจ ผู้ที่มีอาการติดเชื้อโควิด-19 ที่รุนแรง และผู้สูงอายุ

เนื่องจาก ลักษณะของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายที่เสื่อมถอยร่วมกับมีการอักเสบจากการติดเชื้อโควิด ทำให้ผู้ป่วยบางรายมีอาการต่อเนื่องได้นานมากกว่าคนปกติ ซึ่งอาการทางระบบหัวใจและปอด ที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีภาวะลองโควิด ได้แก่

  • เจ็บหน้าอก
  • ใจสั่น
  • เหนื่อยเรื้อรัง
  • ไอเรื้อรัง

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ แนะเจออาการ รีบพบแพทย์-รักษาทันที

ในรายการ Covid Forum ที่นี่มีคำตอบ ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสื่อสร้างสรรค์ ได้พูดคุยเรื่องภาวะ Long Covid อันตรายจริงหรือไม่

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอน ที่กำลังแพร่ระบาดทั่วโลก ณ ขณะนี้ มีผู้คนจำนวนมากกังวลใจว่าจะมีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์อื่นที่มีมาก่อนหน้านี้แล้วหรือไม่ และยิ่งนานวัน เมื่อเกิดมีภาวะ Long Covid ให้เป็นที่ตระหนกกันมากขึ้นไปอีก

ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มแรกของการระบาด ผู้ที่ติดเชื้อจะเข้ารับการรักษาแบบม้วนเดียวจบคือ การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาล จนอาการติดเชื้อหายขาด และกลับไปพักที่บ้าน และปฏิบัติตัวตามมาตรการอย่างเคร่งครัด

กระทั่งเมื่อร่างกายแข็งแรงดีแล้ว จึงออกมาทำงานประกอบอาชีพได้ แต่ก็ยังต้องมีการปฏิบัติตามมาตรการของการอยู่ร่วมกันในสังคม

ภาวะลองโควิดสามารถเกิดขึ้นในผู้ติดเชื้อที่เข้ารับการรักษาสุขภาพร่างกายจนแข็งแรงดีแล้ว และในช่วงระยะเวลา 3-6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อของการตรวจหาเชื้อไม่พบแล้ว

โดยจะมีอาการต่าง ๆ เช่น ปวดหัว มึนงง แสบตา คันตา น้ำตาไหล คัดจมูก จมูกไม่ได้กลิ่น มีอาการไอ หอบเหนื่อย หายใจไม่ทัน อาการเหล่านี้ จะเป็น ๆ หาย ๆ

รวมถึงจะมีอาการอื่น ๆ ที่รุนแรงขึ้นในช่วงระยะเวลา 8-9 เดือน เช่น หลงลืม ผมร่วง แขนขาอ่อนแรง ความจำสั้น ความดันโลหิตสูง การรับรสชาติอาหารเปลี่ยนไป หรือพบอาการชาที่ลิ้นในบางราย

บางรายจะมีอาการผิดปกติทางด้านอารมณ์เกิดขึ้น เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ จิตใจไม่แจ่มใส ซึ่งอาการเหล่านี้ ผู้ติดเชื้อที่เข้ารับการรักษาแล้วต้องคอยสังเกตอาการด้วยตนเอง และเมื่อพบอาการผิดปกติดังกล่าว ควรรีบเข้ารับการรักษาโดยทันที

9 ข้อที่ควรรู้เกี่ยวกับ “ลองโควิด”

นอกจากนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ยังแนะนำ 9 ข้อที่ควรรู้เกี่ยวกับ “ลองโควิด” ดังนี้

  1. อาการของลองโควิด ไม่ขึ้นอยู่กับความหนักเบาของอาการที่เป็นตอนแรก
  2. เกิดได้ทุกอายุ ได้ทุกเพศ
  3. เกิดอาการได้ตั้งแต่หัวจดเท้าหลายระบบหรืออวัยวะพร้อมกัน
  4. อาการที่มีขณะติดเชื้อไม่สงบ แม้ว่าการติดเชื้อจบไปแล้ว และอาการสามารถรุนแรงขึ้นได้ และสามารถทอดยาวนานกว่าสามเดือนต่อไปอีก หรือ อาการที่เกิดขึ้นเป็นอาการใหม่ ที่ไม่ได้
    ปรากฏขณะที่ยังติดเชื้อ
  5. กลุ่มอาการเป็นลักษณะที่เรารู้จักกันดีมานานแล้ว ในรูปของ Chronic Fatique Syndrome หรือ Myalgia Encephalomyelitis แต่โควิดเกิดได้รุนแรง และยาวนานกว่าไวรัสตัวอื่น ๆ มาก
  6. กลุ่มอาการทางสมองและจิตอารมณ์พบได้ 30% หรือมากกว่า และส่งผลทำให้เฉื่อยชา คิดช้า ความจำสั้น สมองเสื่อมและอารมณ์แปรปรวน โดยเฉพาะคนที่เป็นอยู่แล้วหรือกำลังจะเป็น โรคสมองเสื่อม เช่น อัลไซเมอร์ หรือพาร์กินสัน
  7. หลักในการบำบัดต้องทำการพิสูจน์ให้แน่ชัดว่ายังมีการอักเสบอยู่ในร่างกายและในสมองหรือไม่ และถ้ามีต้องทำการยับยั้งโดยคำนึงถึงผลข้างเคียงของยาที่ใช้รักษาด้วย และยังต้องประกอบด้วยการหลีกเลี่ยงที่จะทำให้มีการกระตุ้นการอักเสบในร่างกายเพิ่มขึ้นได้แก่หลีกเลี่ยงอาหารร้อนแรงที่ทำให้เกิดการอักเสบเช่นเนื้อแดง ระวังพืชผักผลไม้ที่ปนเปื้อนด้วยสารเคมีฆ่าหญ้าฆ่าแมลงรวมกระทั่งถึงมลพิษพีเอ็ม 2.5 เป็นต้น
  8. จากปรากฏการณ์นี้อาจเป็นเครื่องเตือนใจว่าไม่ควรปล่อยตัวให้ติด เพราะอาจเคราะห์ร้ายระยะยาว
  9. วิธีที่อาจป้องกันการเกิดลองโควิดได้ คือการให้การรักษาเร็วที่สุด เมื่อรู้ว่าติดเชื้อเพื่อให้ระยะของการติดเชื้อสั้นที่สุดยกตัวอย่างเช่น การใช้ฟ้าทะลายโจรซึ่งมีในประเทศไทยอยู่แล้ว โดยในผู้ใหญ่ให้ยาในขณะที่มีสารแอนโดรกราโฟไลท์ 180 มก. ต่อวัน และในเด็กขนาด 30 มก. ต่อ วัน แบ่งให้วันละสามครั้ง

นพ.เอนก แนะแนวทางดูแลตัวเอง หลังป่วยโควิด

นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเสริมว่า สำหรับแนวทางการดูแลตนเองหลังป่วยโควิด เพื่อป้องกันภาวะลองโควิด

  • ควรฟื้นฟูสมรรถภาพปอด ด้วยการออกกำลังกาย ชนิดแอโรบิคแบบเบา ๆ
  • ฝึกการหายใจแบบช้าและลึก เพื่อให้กล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจมีความแข็งแรง
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะควันบุหรี่ธรรมดาหรือแม้แต่บุหรี่ไฟฟ้า ฝุ่น PM2.5

ดร.พญ.เริงฤดี เผยงานวิจัยชี้สูบบุหรี่ เสี่ยงเกิดลองโควิด

ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยงานวิจัยที่ศึกษาปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงของอาการ “ลองโควิด” หรืออาการที่ยังคงหลงเหลือหลังจากติดเชื้อโควิด-19 พบว่าการสูบบุหรี่เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้คนที่ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มโอกาสจะเกิดอาการ “ลองโควิด” (Long-Covid) ได้ในภายหลัง

โดยงานวิจัยชิ้นแรกทำการศึกษาที่ประเทศบังกลาเทศ ตีพิมพ์ในวารสาร BMJ Global Health เมื่อเดือน ธันวาคม 2564 ทำการสำรวจผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 14,392 ราย เพื่อศึกษาติดตามอาการลองโควิด และหาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง

พบว่าในระยะเวลา 3 เดือนหลังติดเชื้อ มีจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้กับอาการลองโควิด 16.1% อาการลองโควิดที่พบ ได้แก่ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย หายใจลำบาก ไอ จมูกไม่ได้กลิ่น เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ และแน่นหน้าอก

ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวต่อว่า ปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดอาการลองโควิด คือ เพศหญิง อายุน้อย อาศัยในชนบท ภาวะทุพพลภาพ และสูบบุหรี่

ผลการศึกษานี้สอดคล้องกับงานวิจัยของประเทศอิตาลี ซึ่งผลสำรวจพบว่า เพศหญิงและการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของภาวะลองโควิด

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เตือนสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยง แนะเลิกได้เลิก

ขณะที่ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และนายกสมาคมอุรุเวชช์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาวะลองโควิด เป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังวิตก และกำลังมีการศึกษาติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

ในประเทศไทยมีการรายงานผู้ป่วยที่เป็นลองโควิด ออกเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง มีทั้งที่มีอาการเล็กน้อยจนถึงอาการรุนแรงจนเสียชีวิต

จากงานวิจัยพบว่า การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งของอาการลองโควิด แต่ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะก่อนหน้านี้มีงานวิจัยออกมาจำนวนมากที่ชี้ชัดว่า คนที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงที่จะป่วยหนักหรือเสียชีวิตหากติดโควิด-19 มากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่

คนที่ป่วยรุนแรงจากโควิด-19 ถือเป็นกลุ่มที่เสี่ยงที่จะเกิดภาวะลองโควิดอยู่แล้ว จึงอยากเตือนผู้ที่สูบบุหรี่ให้ใช้โอกาสนี้ในการเลิกสูบบุหรี่ รวมทั้งคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าไม่ควรไปเริ่มสูบ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเจ็บป่วยให้กับตัวเอง โดยเฉพาะในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่กำลังกลับมาระบาดอีกครั้ง