เทียบความต่าง “ภาวะลองโควิด-ภาวะมิสซี” อาการที่พบในผู้ป่วยที่หายจากโรคโควิด-19 พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ที่หายจากการป่วยเป็นโรคโควิด-19 มักจะมีการฟื้นฟูระบบร่างกายที่แตกต่างกัน บางคนอาจหายเป็นปกติ แต่บางคนกับรู้สึกว่าร่างกายไม่แข็งแรงตามปกติเสียที โดยสามารถพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
“ประชาชาติธุรกิจ” พามาทำความรู้จักภาวะลองโควิด (Long COVID) กับ ภาวะมิสซี (MIS-C) อาการที่จะพบหลังจากหายป่วยด้วยโรคโควิด-19 ถึงความแตกต่างและอาการที่พบ
ภาวะลองโควิดคืออะไร
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายป่วยและตรวจไม่พบเชื้อในร่างกายแล้ว อาจยังมีอาการหลงเหลืออยู่ ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกอาการที่เกิดขึ้นว่า “ภาวะลองโควิด” หรืออาการหลงเหลือของเชื้อโควิด-19 ระยะยาว โดยอาการดังกล่าวสามารถพบได้กับผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 ทั่วโลก
อาการภาวะลองโควิด
ผู้ที่มีอาการภาวะลองโควิด จะพบได้ในช่วง 1-3 เดือนแรก โดยจะพบร้อยละ 30-50 ของผู้ป่วยทั้งหมด จึงอาจไม่ต้องตกใจหรือกังวลใจ และผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการแตกต่างกัน ไม่มีลักษณะตายตัว
- อ่อนเพลียเรื้อรัง เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
- ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม รู้สึกแน่น ๆ หน้าอก
- มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ สมองไม่สดชื่น ความจำไม่ดีเหมือนเดิม
- ปวดตามข้อ รู้สึกจี๊ด ๆ ตามเนื้อตัวหรือปลายมือปลายเท้า
- รู้สึกเหมือนยังมีไข้อยู่ตลอด
- มีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล หรือมีผลกระทบทางจิตใจหลังเผชิญสถานการณ์รุนแรง (Post-Traumatic Stress Disorder)
ใครเสี่ยงเป็นภาวะลองโควิดมากที่สุด
ผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีแดงหรือผู้ป่วยที่มีอาการป่วยรุนแรง จะมีโอกาสเกิดภาวะลองโควิดสูงกว่าผู้ป่วยที่มีอาการน้อย เนื่องจากอาจมีปัจจัยเรื่องความเครียดที่สะสมมาตั้งแต่ช่วงป่วยเป็นโรคโควิด-19 จึงส่งผลต่อเนื่องอาจยาวนาน 3-6 เดือนได้กว่าจะกลับมาเป็นปกติ สามารถพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดภาวะลองโควิดด้วย เช่น อายุโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ เรื่องเพศ โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย รวมทั้งผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่น ๆ ด้วย เช่น โรคหอบหืด และผู้ที่เคยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งผู้ที่หายป่วยแล้วไม่ต้องกังวลใจแต่อย่างใด
เป็นภาวะลองโควิด ต้องทำอย่างไร
อาการลองโควิดเป็นผลจากความผิดปกติภายในร่างกาย เนื่องจากร่างกายยังฟื้นฟูไม่เต็มที่ ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิดจึงควรให้ความสำคัญกับการสังเกตอาการตนเอง พบแพทย์เพื่อประเมินสภาพร่างกาย และวางแผนการฟื้นฟูที่ถูกต้อง เนื่องจากอาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ระยะยาวและส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างรุนแรง รวมถึงปล่อยนานเกินไปอาจเป็นอันตรายได้
ภาวะมิสซีคืออะไร
สำหรับภาวะมิสซีนั้น นพ.พรเทพ สวนดอก กุมารแพทย์ สาขาโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลกรุงเทพ ระบุว่า คือภาวะที่มีอาการอักเสบของอวัยวะหลายระบบในร่างกาย เช่น ปอด ไต สมอง ผิวหนัง ตา ทางเดินอาหาร หัวใจหลอดเลือด และยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดภาวะนี้
แต่จะมีอาการเกิดขึ้นหลังหายจากการติดเชื้อโควิด-19 เป็นภาวะที่พบไม่บ่อย และในบางคนไม่มีอาการแสดงหรือแสดงอาการเพียงเล็กน้อย อาจเริ่มมีอาการได้ตั้งแต่ระยะที่กำลังจะหายจากโรค หรือตามหลังการติดเชื้อประมาณ 2-6 สัปดาห์
ใครเสี่ยงเป็นภาวะมิสซีมากที่สุด
สำหรับประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยที่เกิดภาวะนี้เพิ่มขึ้น ตามจำนวนผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อมากขึ้น ส่วนใหญ่จะเกิดในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง
เกิดขึ้นทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งจากโควิด-19 และโรคอื่นที่เกิดจากไวรัส เช่น โรค SLE โรคที่เกิดจากการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของตนเอง หรือการกินยาบางยาก็กระตุ้นให้เกิดการอักเสบทั่วร่างกายได้
อาการภาวะมิสซี
ภาวะมิสซีจะแสดงอาการในหลายระบบร่วมกัน โดยจะมีอาการลักษณะดังต่อไปนี้
- มีไข้
- ตาแดง
- มือเท้าบวมแดง ปากแดง แห้ง แตก
- ต่อมน้ำเหลืองโต
- มีอาการในระบบหัวใจและหลอดเลือด หรืออาการในระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย ลำไส้อักเสบ ตับอักเสบ และอาการคล้ายไส้ติ่งอักเสบ
- อาการทางระบบประสาท คือ ปวดศีรษะ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
เป็นภาวะมิสซีต้องทำอย่างไร
เด็กที่มีอาการของภาวะมิสซีเกิดขึ้นอาจทำให้ร่างกายอ่อนแอลงได้อย่างรวดเร็วทุกเวลา และอาจส่งผลให้เป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ เพราะฉะนั้น หากสงสัยว่า บุตรหลานที่เพิ่งหายป่วยจากโรคโควิด-19 เกิดภาวะนี้ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันทีเพื่อการวินิจฉัย และได้รับการรักษาได้อย่างทันท่วงที