สู่วัยเก๋าอย่างแฮปปี้ – รู้เท่าทันภาวะซึมเศร้า-สมองเสื่อม ดูแลจิตใจผู้สูงอายุ

ดูแลจิตใจผู้สูงอายุ
REUTERS/Stephane Mahe

งาน ‘Healthcare 2022 จักรวาลผู้สูงวัย’ จัดโดยเครือมติชน ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม 2565 ที่สามย่านมิตรทาวน์ ไม่เพียงให้ความสำคัญกับสุขภาพกาย บนเวทีเสวนายังมีผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับสุขภาพใจที่นำไปใช้เป็นประโยชน์ได้อย่างดีกับการ ดูแลจิตใจผู้สูงอายุ

ดูแลจิตใจผู้สูงอายุ
นพ.ธิติพันธ์ ธานีรัตน์

นพ.ธิติพันธ์ ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ เผยเคล็ด (ไม่) ลับ กับการดูแลใจ ผู้สูงวัย ให้แฮปปี้’  พร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเภทของผู้สูงอายุ ว่ากระทรวงสาธารณสุขจัดกลุ่มของผู้สูงวัย ตามสุขภาวะและรูปแบบการใช้ชีวิตในแต่ละวัน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มติดสังคม เป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่มีสุขภาวะโดยรวมที่ยังเดินทางไปร่วมกิจกรรมนอกบ้านได้

กลุ่มติดบ้าน เป็นกลุ่มที่มีความถดถอย หรือข้อจำกัดบางอย่างด้านสุขภาพ ทำให้ต้องใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเป็นหลัก

กลุ่มติดเตียง เป็นกลุ่มที่มีข้อจำกัดหรือสุขภาพมีปัญหา ทำให้ต้องใช้ชีวิตอยู่บนเตียงเป็นหลัก

ปัญหาสุขภาพกายของผู้สูงอายุนั้น ถือเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น แต่ใครจะรู้ว่าสุขภาพทางใจ ก็ควรได้รับการดูแลด้วยเช่นกัน

ผลการวิจัยในผู้สูงอายุทั่วโลก พบว่า ปัญหาสุขภาพจิตที่พบบ่อยในผู้สูงวัยคือ ภาวะซึมเศร้า และภาวะสมองเสื่อม

ภาวะซึมเศร้า ถือเป็นอาการทางจิตที่รู้สึกเศร้ามากกว่าปกติ โดยที่ผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องมีอาการเศร้าซึม หรือไม่มีความสุขในการใช้ชีวิต แต่จะทำให้คุณภาพการนอนหลับของผู้สูงอายุลดลง อ่อนเพลียง่าย เจ็บปวดตามร่างกายเรื้อรัง สมาธิและความจำเริ่มแย่ลง ซึ่งอาการที่กล่าวมาล้วนเป็นอาการที่แสดงออกในภาวะซึมเศร้าของผู้สูงอายุ

ในกลุ่มคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป พบว่า มีภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้นอยู่ถึง 50% และเมื่อผู้สูงอายุมีอายุมากขึ้นเรื่อยๆ ภาวะที่เกิดขึ้นนี้ก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ดี หากทำความเข้าใจ และมีอาการไม่รุนแรงก็สามารถฟื้นฟูตนเองได้

ดูแลจิตใจผู้สูงอายุ
นพ.ธิติพันธ์ ธานีรัตน์

ซึมเศร้าเกิดจากทางร่างกาย

สำหรับภาวะซึมเศร้า เกิดขึ้นได้จากเมื่อร่างกายมีอายุมากขึ้น การสร้างสารเคมีบางชนิดในสมองมีไม่เพียงพอ ซึ่งเมื่อไม่ได้ออกไปพบเจอเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เลยทำให้เกิดเป็นภาวะซึมเศร้าทางชีวภาพ

กล่าวคือ ภาวะซึมเศร้าเมื่อาอายุมากขึ้นเกิดขึ้นจากทางร่างกาย ไม่ได้เกิดขึ้นจากทางจิตใจ

อาการที่เกิดขึ้น อาทิ มีความคิดในแง่ลบมากขึ้น คิดว่าคุณค่าในตนเองลดลง และเห็นความหวังในชีวิตน้อยลง โดยที่ตนเองก็รู้ตัวเองดีว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งไม่ดี แต่ไม่สามารถห้ามตนเองได้ 

นพ.ธิติพันธ์ แนะนำว่า หากผู้สูงอายุมีข้อสงสัยและรู้สึกได้ว่าตนเองมีอาการที่บ่งชี้ว่า เป็นภาวะซึมเศร้า หรือโรคซึมเศร้า ว่าจำเป็นได้รับการรักษาหรือไม่ สามารถทำแบบทดสอบทางเว็บไซต์ ที่คัดกรองและประเมินอาการเบื้องต้นได้

หากทำออกมาแล้วคะแนนสูง ให้เดินทางไปพบแพทย์ได้ ซึ่งภาวะซึมเศร้าโดยทั่วไป หากอาการไม่รุนแรงมากนัก ฟื้นฟูด้วยตนเองได้ เช่น ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัวและฟื้นฟูตัวเองได้ดีมากขึ้น 

นพ.ธิติพันธ์ ธานีรัตน์

อย่าหยุดนิ่ง-ใช้สมองพอควร

หากผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองไม่มีพลังงานในการใช้ชีวิต เคล็ดลับสำคัญ คือ อย่าหยุดนิ่ง

เพราะเมื่อไหร่ที่ใจไม่มีพลังงานต้องอย่าหยุดนิ่งเฉย พยายามหากิจกรรมที่ช่วยเติมเต็มความสดชื่นให้กับร่างกาย ซึ่งแต่ละคนก็มีกิจกรรมที่แตกต่างกันออกไป เช่น การปลูกต้นไม้ การร้องคาราโอเกะ การเต้นรำ เพื่อช่วยให้จิตใจได้เติมเต็มความรู้สึกดีๆ เพิ่มเข้ามามากขึ้น

สำหรับภาวะสมองเสื่อม เกิดขึ้นได้เมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งในภาวะนี้ จะทำให้ความจำในสมองมีการถดถอยจนส่งผลกระทบในชีวิตประจำวัน เช่น การลืมเปิดแก๊สทิ้งไว้ หรือเริ่มหลงลืมชื่อลูกหลาน

หากเริ่มมีอาการเหล่านี้ให้รีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากปัจจุบันได้มีนวัตกรรมยาที่กู้คืนสมรรถนะของสมองกลับคืนมาได้ และชะลอความเสื่อมของสมองได้ เพียงแต่มีข้อจำกัดของยา คือ เป็นยาที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ทำให้ยังไม่มีการใช้แพร่หลายตามโรงพยาบาลต่างๆ ในปัจจุบัน

วิธีที่ช่วยชะลอหรือยับยั้ง ภาวะสมองเสื่อม คือ ต้องหมั่นใช้สมองมากขึ้น แต่ก็ควรใช้แต่พอควร เพราะหากใช้สมองมากจนเกินไปอาจเป็นเกิดภาวะเครียดให้กับสมองและร่างกาย ซึ่งจะส่งผลต่อภาวะสมองเสื่อม และเซลล์สมองในร่างกายถูกทำลายมากยิ่งขึ้น  

เคล็ดลับสำคัญ คือ การจัดสมดุลชีวิตให้ดี 3 ด้าน ได้แก่ การเรียนและการทำงาน การคงสัมพันธภาพกับบุคคลอื่น และการดูแลตนเองขั้นพื้นฐาน

ดูแลจิตใจผู้สูงอายุ

หากผู้สูงอายุไม่ลืมดูแลตนเองทั้ง 3 ด้านนี้ จะทำให้รู้สึกมีความสุขในการใช้ชีวิตได้ง่ายมากยิ่งขึ้น และสำหรับผู้ดูแลผู้สูงอายุ อยากให้ทำความเข้าใจและเรียนรู้ถึงพฤติกรรมต่างๆ ของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะเรื่องการถดถอยของร่างกาย เช่น สายตาที่อาจมองเห็นไม่ชัดเจน การได้ยินที่ไม่ชัดเจน

ดังนั้นผู้ดูแลจึงต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับผู้สูงอายุมากขึ้น เพื่อให้การใช้ชีวิตร่วมกันเป็นเรื่องที่ง่ายและเข้าใจกันมากยิ่งขึ้น 

สำหรับบทบาทของกรมสุขภาพจิตนั้น ได้มีสถานพยาบาลกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งในกรุงเทพมหานครมีสถานพยาบาลที่ช่วยดูแลสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ รวมถึงผู้สูงอายุ ได้แก่ โรงพยาบาลศรีธัญญา สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา

ทั้ง 2 แห่งนี้ได้ดูแลสุขภาพจิตใจ ทั้งเรื่องอารมณ์และความคิด เพราะฉะนั้นหากผู้สูงอายุท่านใดต้องการคำปรึกษาและต้องการดูแลสุขภาพสามารถไปพบแพทย์ได้ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และใช้ชีวิตได้เต็มศักยภาพมากขึ้น 

สังเกตพฤติกรรม BPSD

ด้าน พญ.บุญศิริ จันศิริมงคล แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิตเผยวิธี การดูแลสุขภาพจิตผู้สูงวัย เรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม Dementia with BPSD’ ให้ข้อมูลลงลึกในรายละเอียดเรื่องโรคสมองเสื่อม

พญ.บุญศิริเผยว่า เมื่ออายุมากขึ้น สมองของคนเราก็เสื่อมถอยไปตามกาลเวลา จนนำไปสู่การเกิดโรคสมองเสื่อม ซึ่งเมื่อผู้สูงอายุป่วยเป็นโรคนี้ จะเกิดปัญหาพฤติกรรม อารมณ์ และความผิดปกติทางจิต หรือที่เรียกว่า Behavioral and psychological symptoms of dementia (BPSD) ทำให้เริ่มมีอาการถดถอยทางด้านความคิด สมาธิ และอารมณ์ผิดปกติ

เริ่มมีอาการหงุดหงิดง่าย ไม่อยากพูดกับใคร รู้สึกซึมเศร้า และมีอาการเบื่อหน่าย 

ดูแลจิตใจผู้สูงอายุ
พญ.บุญศิริ จันศิริมงคล

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคสมองเสื่อม คือ ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดัน ความอ้วน รวมถึงอุบัติเหตุต่างๆ เช่น ลื่นล้มศีรษะฟาดพื้น เป็นต้น สำหรับผู้ชายที่มีความเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อม คือ เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมขึ้นมา 

เตือนอย่าเปิดมือถือ-แท็บเล็ตค้าง

ผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าแล้วปล่อยตัวเอง ไม่ไปรักษาอาการป่วย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า จะส่งผลกระทบต่อสมองอย่างมาก เพราะเมื่อสมองไม่สามารถควบคุมได้ ก็จะทำให้ไม่สามารถเก็บความจำ และเก็บอารมณ์ของตนเองได้

ที่สำคัญปัญหาที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุปัจจุบัน คือ การเปิดแท็บเล็ต หรือโทรศัพท์ หรือโทรทัศน์ค้างเอาไว้ แล้วนอนหลับไป ซึ่งการกระทำแบบนี้จะทำให้สมองไม่ได้พักครบ 6 ชั่วโมง 

จึงอยากขอเตือนทุกคนให้ใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวัง และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อสุขภาพร่างกายที่ดีของตนเอง 

พญ.บุญศิริ จันศิริมงคล

สำหรับโรคสมองเสื่อมจะมีอาการที่แสดงให้เห็นเด่นชัด คือ ด้านสมาธิ จะมีอาการเหม่อลอย จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เช่น นั่งรถประจำทางเลยป้าย เป็นต้น ด้านการคิด เป็นการตัดสินใจที่ไม่ยอมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพราะคิดว่าทำไปแล้วไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร

ปัญหานี้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ด้านความจำ เริ่มใช้ภาษาไม่ถูกต้อง จำชื่อคนอื่นไม่ได้ จนนำไปสู่ปัญหาต่อมา คือ เริ่มไม่อยากเข้าสังคม

เนื่องจากเมื่อไปพบเจอคนอื่นแล้วจำไม่ได้ว่า บุคคลนั้นเป็นใคร รวมถึงจำทางกลับบ้านของตนเองไม่ได้ จึงทำให้ไม่อยากเดินทางออกจากบ้านไปพบเจอผู้อื่น จนในที่สุดก็สูญเสียความสัมพันธ์กับผู้อื่น และมองผู้อื่นในแง่ลบไปหมด 

พญ.บุญศิริ จันศิริมงคล

ทั้งนี้ โรคสมองเสื่อมไม่ใช่โรคทางพันธุกรรม แต่เป็นความผิดปกติทางสมอง ซึ่งทุกคนเมื่อเป็นโรคนี้แล้ว สามารถหาแนวทางป้องกันและดูแลตนเองได้

พยายามหากิจกรรมที่ไม่ควรเก็บตัวอยู่คนเดียว หรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้สมองมากขึ้น เช่น อ่านหนังสือพิมพ์ คิดเลขในใจ หรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้การคิด ซึ่งจะช่วยฝึกสมองให้เกิดการเรียนรู้และคิดอยู่สม่ำเสมอ 

ที่สำคัญผู้ที่ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ต้องมีวิธีการรับมือและทำความเข้าใจกับผู้ป่วย ต้องไม่พูดจนเกิดการกระทบกระเทือนทางจิตใจ และผู้ดูแลต้องประเมินอาการของตนเองด้วยว่า ร่างกายและจิตใจของตนมีความแข็งแรงและพร้อมที่จะดูแลผู้ป่วยหรือไม่ เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าต่อไป

ดังนั้น ผู้ที่ดูแลควรเอาใจใส่และให้ความรักกับผู้ป่วยสมองเสื่อมให้มากขึ้น และควรหาเวลาว่างให้กับตนเอง เพื่อให้ร่างกายได้เกิดการพักผ่อนและฟื้นฟูจิตใจของตนเองต่อไป

เตรียมตัวก่อนวัยเก๋า

สำหรับผู้ที่ยังไม่เข้าสู่การเป็นผู้สูงวัย แต่ก็ใกล้ๆ แล้ว นันทาวดี วรวสุวัส ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต ได้มาเผยวิธีเตรียมตัวก่อนเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ในหัวข้อ ‘Happy Pre-Aging สุข สดใส ก่อนวัยเก๋า

การเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ต้องมีการเตรียมพร้อมทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ และสุขภาพการเงินหรือเศรษฐกิจ

นันทาวดี วรวสุวัส

กรมสุขภาพจิต ร่วมกับกระทรวงแรงงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย และสถานประกอบการหลายแห่ง  สำรวจพบว่า วัยทำงานมีความเครียดจากปัญหาหลายอย่าง กรมสุขภาพจิตจึงหาแนวทางแก้ปัญหาให้ประชาชน เพื่อแบ่งเบาและบรรเทาความเครียด

การเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมีความสำคัญอย่างมาก เพราะเมื่อทำงานจนเกษียณอายุ ภาระงานหรือตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ที่เคยทำ ก็จะไม่มีอีกต่อไป

บางคนอาจยึดติดกับตำแหน่งหน้าที่การงานมากจนเกินไป ยังมีความคิดว่าตนเองยังมีตำแหน่งหน้าที่อยู่ ดังนั้นก่อนจะเกษียณตนเองออกมา ต้องมีการยอมรับและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ การวางแผนการใช้ชีวิตหลังเกษียณเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเมื่อวางแผนจะทำให้สามารถมองเห็นแนวทางการใช้ชีวิตต่อไปในอนาคต เช่น การกลับไปอาศัยอยู่บ้านที่ต่างจังหวัด ทำไร่ทำสวน เป็นต้น รวมถึงพยายามหากิจกรรมที่ทำให้ตนเองต้องออกจากบ้านอยู่เสมอ อาทิ การออกไปพบปะเพื่อนฝูง หรือเล่นกีฬา ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีความสุข และรู้สึกว่าอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

เมื่อผู้สูงอายุเกษียณจากงาน มักคิดว่าตนเองว่างงาน และจมอยู่กับตนเอง จนนำไปสู่โรคซึมเศร้าในที่สุด ซึ่งโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุเกิดจากสารในสมองที่หลั่งผิดปกติ และเมื่อพบปัญหาใดๆ ก็ตามที่เข้ามาในชีวิต แม้แค่เพียงเล็กน้อยก็จะทำให้คิดวิตกกังวลได้

นันทาวดี วรวสุวัส

เลี่ยงคำพูดที่ตอกย้ำ

วิธีการรักษาเมื่อผู้สูงอายุป่วยเป็นโรคซึมเศร้า คือ เข้ารับการรักษา และรับประทานยา จะช่วยปรับเซลล์สมองในร่างกายให้ดีมากยิ่งขึ้น อีกทั้งครอบครัวต้องดูแลผู้ป่วยด้วยความรักและความเข้าใจ

พยายามอย่าใช้คำพูดที่บั่นทอนจิตใจของผู้ป่วย เช่นคำว่า สู้ๆ เพราะผู้ป่วยจะคิดว่าตนเองสู้ไม่ไหว ไม่มีแรงจะสู้ต่อ ซึ่งจะทำให้ความรู้สึกแย่ลงไปกว่าเดิม

ต้องมีวิธีการเปลี่ยนคำพูดใหม่ เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายใจและรู้สึกแสดงถึงความห่วงใยมากมากขึ้น เช่น ถามว่ารู้สึกเป็นอย่างไรบ้าง เหนื่อยไหม หรือมีอะไรสามารถพูดกับลูกได้นะ เป็นต้น       

ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิตกล่าวด้วยว่าปัจจุบันพบว่าอัตราการฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นซึ่งเหตุผลในการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นเกิดจากผู้สูงอายุมองว่าตนเองมีโรคประจำตัวคงอยู่ไม่ได้นานมองว่าตนเองเป็นภาระของครอบครัวรวมถึงมองว่าลูก ๆ ไม่ได้เต็มใจที่จะดูแลตนเองจนทำให้ผู้สูงอายุเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจและนำไปสู่การฆ่าตัวตายในที่สุด

ดังนั้น จึงอยากฝากบุตรหลานหากผู้สูงอายุพูดว่าตนเองอยากฆ่าตัวตาย ให้คอยเฝ้าระมัดระวัง ดูแลเอาใจใส่เพิ่มมากขึ้น และพยายามพูดคุยสร้างกำลังใจให้ผู้สูงอายุมีคุณค่าในตนเอง และอยากมีชีวิตอยู่ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบพาผู้สูงอายุไปปรึกษากับแพทย์ เพื่อหาแนวทางในการรักษาและดูแลผู้สูงอายุต่อไปผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิตกรมสุขภาพจิตปิดท้าย

…..