
รายงานโดย กนกวรรณ มากเมฆ / ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ – Spinoff
จากการคาดการณ์ที่ว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 9,600 ล้านคนในปี 2593 ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 7,400 ล้านคน โดย 2 ใน 3 ของจำนวนประชากรในอนาคตดังกล่าวจะอาศัยอยู่ในชุมชนเมือง ส่งผลให้ “เมือง” จะมีขนาดใหญ่และซับซ้อนมากขึ้น ขณะที่ทรัพยากรยังมีอยู่อย่างจำกัดและอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้ หลายๆ เมือง หลายๆ ประเทศ ต่างก็มุ่งพัฒนาและส่งเสริมเมืองให้มีระบบการขนส่งและการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ มีสุขพลานามัยที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพ สะดวก สะอาด ปลอดภัย รองรับสังคมในอนาคต
ขณะที่ในประเทศไทยเองก็เช่นกัน หลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานท้องถิ่น สถานศึกษา ภาคเอกชน ต่างก็พยายามพัฒนาเมืองดังรูปแบบข้างต้น หรือที่เรียกว่า “สมาร์ท ซิตี้” (Smart City) ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการทรัพยากรของเมืองให้เกิดประโยชน์สูงสุด ล่าสุด หน่วยงานภาครัฐของไทยอย่างกระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ร่วมกับสถาบันอาคารเขียวไทย เดินหน้าพัฒนา โครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities-Clean Energy) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในการสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ด้วยการจัดประกวดการออกแบบและพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ซึ่งมี 7 โครงการที่ผ่านการพิจารณามาเข้ารอบสุดท้าย ซึ่งจะมีโครงการจากหน่วยงานไหน รายละเอียดของสมาร์ท ซิตี้ ของแต่ละโครงการจะเป็นอย่างไร ติดตามได้ดังนี้
นิด้า : มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ รู้รักษ์พลังงาน สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
แนวคิดการพัฒนาสมาร์ท ซิตี้ ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เรียกได้ว่าเป็นการมองการพัฒนาที่รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาคาร, พลังงาน และการเคลื่อนไหว โดยเป้าหมายหลักคือต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมือง นักศึกษา เกื้อหนุนการเรียนการสอน การทำงานของบุคลากรในสถาบัน รวมถึงเป็นประโยชน์กับชุมชนโดยรอบ นอกจากนี้ยังมีการใช้ประโยชน์จากการลดพลังงานอีกด้วย
บนพื้นที่ 44 ไร่เพื่อเป็นต้นแบบมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ ถือเป็นความท้าทายของนิด้าที่ต้องลดพลังงานในอาคารเก่าหรืออาคารเดิมที่มีอยู่แล้ว นิด้าจึงออกแบบให้มี Solar Roof Top บนอาคาร โดยอาคารสูงที่สุด 2 อาคารจะถูกปรับปรุงตามมาตรฐานอาคารเขียวของ TREES ในระดับ Platinum ขณะที่อีก 8 อาคารรวมอาคารหอประชุมจะเป็น Net Zero Energy Building และเพื่อเป็นการลดการใช้ลิฟต์ จะมีทางเชื่อมระหว่างอาคารที่เป็นพื้นที่สีเขียว ซึ่งส่งผลให้ลดอุณหภูมิรอบตึก ทำให้ประหยัดพลังงานในตัวอาคารด้วย
สำหรับในเรื่องของพลังงาน นิด้าจะมีไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ส่งเข้าสู่ Smart Grid ที่มีระบบแบตเตอรี่ช่วยหล่อเลี้ยง แม้ในยามฉุกเฉินได้ 100% อีกทั้งยังมีระบบจัดการพลังงานอัตโนมัติและการใช้พลังงานธรรมชาติ จะช่วยลดการปล่อย CO2 ลงได้กว่า 66%
นอกจากนี้ นิด้ายังตั้งใจให้เมืองอัจฉริยะนี้เป็น Intermodal Transportation Hub ให้กับกรุงเทพฯโซนตะวันออก ซึ่งพยายามให้มีการเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าในอนาคตอย่างรถไฟฟ้าสายสีส้ม เชื่อมกับนิด้าเพื่อเชื่อมต่อกับท่าเรือวัดศรีบุญเรืองโดยใช้ชัทเทิลบัสพลังงานไฟฟ้า ขณะนี้เริ่มดำเนินการแล้ว โดยมีการพูดคุยกับนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งมีระบบสื่อสารระยะไกล พลังงานต่ำ หรือ LoRa-Wan เชื่อมต่ออุปกรณ์อัจฉริยะเข้าสู่ Data Analytic Center ของเมืองเพื่อประมวลผลข้อมูล ให้การดำเนินงานทุกอย่างในเมืองต้องผ่านอินเทอร์เน็ต เช่น การควบคุมการจราจร ฯลฯ
นิด้ายังออกแบบให้สมาร์ท ซิตี้ นี้เป็น Smart Community ด้วย Wrist Band ส่วนตัวของชาวนิด้า ที่จะมีข้อความไปเตือนทาง Wrist Band นี้ ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะทำให้ทุกคนสามารถตรวจสอบตารางเรียน/ตารางสอน หรือแม้แต่สถานะสุขภาพ นอกจากนี้ยังมี Smart Board ที่จะติดตั้งบริเวณทางเชื่อม โถงลิฟต์ และจุดสําคัญอื่นๆ ซึ่งจะแสดงข้อมูลงานวิชาการ รวมถึงผลการสํารวจที่สําคัญของนิด้าโพล
แนวคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของนิด้ายังมีอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการแยกขยะเพื่อนำมารีไซเคิล ทำปุ๋ยอินทรีย์ให้ต้นไม้ โดยตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปี ขยะจะลดลงเหลือ 40% และภายใน 5 ปี จะเหลือเพียง 20% นอกจากนี้ยังมีการตั้งใจเป็นแม่แบบและศูนย์กลางในการถ่ายทอดความรู้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ให้กับชุมชน ให้คำปรึกษาทางด้านธุรกิจ เป็นต้น
ปัจจุบัน โครงการย่อยๆ หลายส่วนได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนหลอดไฟให้เป็น LED ทั้งสถาบัน และเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศให้เป็นระบบอินเวอร์เตอร์ เป็นต้น
มช. (เมือง) มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ พลังงานสะอาด
จากสภาพพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่มีทั้งสวนสัตว์, มหาวิทยาลัย, โรงพยาบาล มีทั้งภูเขาและถนน มีอ่างน้ำที่มีอยู่เดิมอย่างอ่างแก้ว แนวคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในจึงเป็นการรักษาสภาพแวดล้อมสีเขียวเดิมไว้ให้ได้ ร่วมกับการพัฒนาพื้นที่สีเขียวขึ้นมาใหม่ ด้วยการทำบันทึกต้นไม้ใหญ่ทุกต้น มีการทำ Smart Code ในต้นไม้ทุกต้นไว้ พอสิ้นปีก็จะรู้ได้ว่ามีพื้นที่สีเขียวอยู่เท่าไหร่ รักษาไว้ได้เท่าไหร่ และจะพัฒนาในปีต่อไปอย่างไร
นอกจากนี้ สำหรับพื้นที่สีเขียวที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ จะออกแบบให้มีระบบสปริงเกอร์ซิสเต็มที่ใช้ Smart Timer ในการดูแลพื้นที่สีเขียวเหล่านี้ ขณะเดียวกัน จะมีแอ่งน้ำ 5 สายหลักที่เป็นแอ่งน้ำธรรมชาติที่พยายามจะคงสภาพให้เป็น Green Belt ด้วยการใช้ทางเท้าและทางจักรยาน ซึ่งจะเชื่อมต่อกับพื้นที่สีเขียวได้ ขณะที่การพัฒนาแหล่งน้ำ ปัจจุบัน ม.เชียงใหม่ มีแหล่งผลิตน้ำประปา 2 แห่ง เพื่อที่จะเลี้ยงเมืองอัจฉริยะแห่งนี้ โดยไม่ต้องพึ่งพาน้ำประปาจากการประปาส่วนภูมิภาค นอกจากนี้จะสร้างแหล่งน้ำใหม่เพิ่มอีก 3 แห่ง เพื่อใช้ในการบำรุงพื้นที่สีเขียวที่มีอยู่ 40-50% ให้ได้
สำหรับการจัดการขยะ ม.เชียงใหม่ มีแนวคิดในการเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานด้วยการใช้ระบบเซ็นเซอร์ที่เรียกว่า Smart Bin ในการแยกขยะ เมื่อขยะเต็มจะส่งสัญญาณไปเตือนที่ระบบควบคุม จากนั้นจะส่งรถไปเก็บ ซึ่งจะมีจุดแยกขยะอยู่ 20 จุด จากนั้นจะนำขยะมาแปลงเป็นพลังงานเชื้อเพลิง ถ่าน และปุ๋ย ซึ่งจะเริ่มปฏิบัติการได้ในปี 2561
ด้านพลังงานทดแทน จะติดตั้ง Solar Roof Top รวมถึงมีการเปลี่ยนหลอดไฟ ซึ่งจะมี meter on demand ติดตั้งตามอาคารต่างๆ แล้วแจ้งไปที่คอนโทรลเซ็นเตอร์ว่าอาคารนี้ในแต่ละวันหรือแต่ละเดือนใช้พลังงานเท่าไหร่ ก็จะผลิตเท่านั้น
ขณะที่การขนส่งมวลชนจะพัฒนาให้เป็น Smart Mobility ที่มีสถานีจอดรถที่ใช้พลังงานสะอาด 30 สถานี ซึ่งจะมีแอปพลิเคชั่นที่สามารถดูได้ว่ารถจะมาถึงในอีกกี่นาที โดยในสถานีหลักจะมี Sharing Bike ด้วย
ม.เชียงใหม่ ยังมีแนวคิดในการพัฒนาเมืองให้เป็น Smart Community ด้วยการพัฒนาโรงอาหารให้ใช้ระบบ Smart e-payment เช่นเดียวกับการส่งเสริมการเรียนรู้ด้วย Smart Classroom ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับคนทุกเพศ ทุกวัย โดยจะติดตั้ง WiFi จำนวน 6,300 จุด ทำให้เรียนรู้ได้ตลอดเวลาอีกด้วย
เมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ
ด้วยทำเลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในย่านธุรกิจใจกลางเมือง จุฬาฯเลือกพัฒนาเมืองอัจฉริยะในย่านสวนหลวง-สามย่าน พื้นที่ประมาณ 291 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่พาณิชยกรรม ต่อเนื่องกับสถานศึกษาและเมืองปกติ ทำให้นอกจากนักศึกษาแล้วก็ยังมีเป้าหมายให้คนทั่วไปสามารถเข้ามาใช้งานได้ง่าย ส่งเสริมกับการเรียนรู้ด้วย
สำหรับเมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ ตั้งใจจะพัฒนาให้เป็นพื้นที่ต้นแบบเมืองสุขภาวะ, พื้นที่ต้นแบบทางธุรกิจ-สังคมเมืองใหม่ และพื้นที่ต้นแบบของเมืองอัจฉริยะ โดยหากดูเรื่องของการใช้พลังงานภายในเมือง จะพบว่าภาคการขนส่งเป็นภาคที่มีการใช้พลังงานสูงที่สุด ดังนั้น โจทย์สำคัญคือการลดการจราจรขนส่งภายในเมือง รวมถึงการลดการใช้พลังงานในอาคารจากเครื่องปรับอากาศ
นอกจากนี้ เมืองอัจฉริยะของจุฬาฯยังตั้งเป้าเป็น Job & Housing Balance คือเป็นพื้นที่ของพาณิชยกรรมที่มีพื้นที่อาศัยอยู่ด้วย โดยลดการขนส่งและการเดินทาง ส่งเสริมให้ใช้การเดินทางที่ไม่ปล่อยคาร์บอน
ส่วนการพัฒนาพื้นที่ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวนั้น ขณะนี้ที่ทำไปแล้วก็คือ อุทยาน 100 ปีจุฬาฯ ซึ่งกำลังจะเปิดให้สาธารณะได้ใช้ ขณะที่ในด้านของการผลิตพลังงาน จะใช้ Smart Energy ซึ่งนอกจากจะบริหารพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว จะสามารถผลิตไฟฟ้าจาก Solar Roof Top ร่วมกับการนำชีวมวลมาเผาอย่างไม่มีมลพิษและสร้างพลังงาน โดยคาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า จะสามารถลดพลังงานจนเป็น zero energy emission ได้
การพัฒนาเมืองอัจฉริยะของจุฬาฯที่ดำเนินการไปแล้ว ได้แก่ CU-Bike และการลดพลังงานด้วยการใช้รถพลังงานไฟฟ้า นอกจากนี้ เป้าหมายสำคัญคือการพัฒนาคนให้เป็น Smart User และนำไปสู่การเป็น Smart Community ต่อไป
ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต : ต้นแบบเมืองมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ
สำหรับการพัฒนาต้นแบบเมืองมหาวิทยาลัยอัจฉริยะของ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต นั้นตั้งเป้าว่าภายในปี 2577 ซึ่งเป็นปีที่ ม.ธรรมศาสตร์จะครบ 100 ปี จะพัฒนาเมืองอัจฉริยะได้
ส่วนแรกคือเรื่องของพลังงาน ที่ตั้งเป้าเป็น Smart Energy ที่ตั้งใจว่าภายใน 3 ปีจะลดการบริโภคพลังงานไฟฟ้าให้ได้ 50% โดย 30% จะมาจากการใช้พลังงานสะอาดอย่างพลังงานแสงอาทิตย์และไบโอแก๊ส ส่วนอีก 20% จะมาจากการเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมด รวมถึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนด้วย
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตั้งเป้าว่าจะใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งในช่วงกลางคืนจะไม่มีแดด จึงคาดว่าภายใน 3 ปี จะติดตั้ง Energy Storage ซึ่งยังต้องการระบบไมโครกริดและ Smart Meter ที่จะบริหารจัดการพลังงานทั้งหมดให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยเป้าหมายที่ว่าเมื่อ มธ.ครบ 100 ปี ศูนย์รังสิตจะต้องเป็น Net Zero Energy Campus ขณะที่ส่วนของอาคารต่างๆ จะต้องมีอาคารที่เป็น net zero energy building 5 แห่ง รวมถึงโรงอาหารทั้ง 7 แห่งก็ต้องเป็น net zero energy building ด้วย
สำหรับการขนส่ง ม.ธรรมศาสตร์ ยังต้องการให้เป็นการขนส่งที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ มีการพัฒนาทางจักรยานความยาว 15 กิโลเมตร มีบริการ Bike Sharing ที่ใช้มา 2 ปีแล้ว จำนวน 10 สถานี โดยนักศึกษาสามารถใช้บัตรนักศึกษา รวมถึงในเทอมนี้ยังเพิ่งเปิดบริการให้สามารถยืมและคืนจักรยานได้ทุกที่ทุกเวลาโดยการใช้สมาร์ทโฟนอีกด้วย ขณะที่รถยนต์ของมหาวิทยาลัยทุกคัน มธ.มีแผนให้ใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทุกคัน และลดเวลาการชาร์จที่สถานีด้วยการติดแผงโซลาร์เซลล์ไปบนหลังคารถ โดยตั้งเป้าจะเปลี่ยนรถชัทเทิลบัสทั้งหมดให้เป็นรถโซลาร์บัสในอีก 3 ปีข้างหน้า
ขณะที่เรื่องของสิ่งแวดล้อม มธ.มีแนวคิดที่จะพัฒนาให้เป็น Smart Environment ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เป็น 70% จาก 50% โดยเพิ่มต้นไม้ใหญ่ มีคลองที่เชื่อมต่อกัน ใช้พลังงานให้น้อยลง เพิ่มการรีไซเคิลให้มากขึ้น รวมถึงมีแผนการสร้างโรงขยะใหม่และลดปริมาณขยะด้วย ซึ่งพบว่าน้ำดื่มขวดเป็นปริมาณขยะที่มากที่สุดอย่างหนึ่ง จึงมีโครงการแจกกระบอกน้ำให้นักศึกษาที่เริ่มมา 3 ปีแล้ว เพื่อลดปริมาณน้ำดื่มขวดลง นอกจากนี้ยังมีโครงการ Say No Single Use Plastic คือไม่ใช้ถุงหูหิ้ว หลอด หรือช้อนส้อมพลาสติก ตามเป้าหมายที่ว่าภายใน 7 ปีจะลดขยะส่งออกให้เหลือเพียง 50% เท่านั้น
นอกจากนี้ ในเรื่องของ Smart Innovation ที่เน้นไปเพื่อสังคมและชุมชน มธ.ตั้งเป้าว่าจะพัฒนามอเตอร์ไซค์รับจ้างในศูนย์รังสิตให้เปลี่ยนไปเป็นมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าทั้งหมด ขณะเดียวกันในเรื่องของสุขภาพซึ่ง มธ.มีโรงพยาบาล ก็จะพัฒนาแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนที่สามารใช้ตรวจเบาหวานขึ้นตา ซึ่งเป็นโรคที่พบได้มากในคนไทยได้อีกด้วย
วิสซ์ดอม วัน-โอ-วัน
วิสซ์ดอม วัน-โอ-วัน (Whizdom101) โครงการมิกซ์ยูส เนื้อที่ 43 ไร่ บนถนนสุขุมวิท ห่างจากรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีปุณณวิถี 500 เมตร โครงการประกอบไปด้วย ที่พักอาศัย, อาคารเพื่อการพาณิชย์ และพื้นที่สาธารณะ ที่มีเป้าหมายใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วยการเริ่มจากสร้างความมั่นใจให้กับทีมงานทุกคนว่าโครงการนี้จะเป็นการลดผลกระทบเชิงลบ และสร้างผลกระทบเชิงบวกกับสิ่งแวดล้อม
เริ่มจากการพัฒนาให้มีพื้นที่สีเขียวจำนวน 14 ไร่ หรือคิดเป็น 32% ของพื้นที่โครงการ ในรูปแบบ multi-level garden park โดยมุ่งหวังจะคืนพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชน รวมไปถึงระบบนิเวศของสัตว์เล็กสัตว์น้อย เช่น นก ผีเสื้อ กระรอก ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ในโครงการ
นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สาธารณะให้บุคคลภายนอกและชุมชนโดยรอบสามารถเข้ามาพักผ่อนหรือทำกิจกรรมทางสังคมได้ เช่น E- Library ห้องสมุดสาธารณะ, พื้นที่สาธารณะ รวมถึงพื้นที่สีเขียว โดยมีสวนขนาดใหญ่กว่า 3 ไร่ ในส่วนพื้นที่อาคารพาณิชย์ รวมไปถึงการมีลู่วิ่งและเลนจักรยานลอยฟ้า ความยาว 1.3 กิโลเมตร บนอาคาร ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น ตู้ล็อกเกอร์ ห้องอาบน้ำ ที่เปิดให้บุคคลทั่วไปใช้ด้วย เพื่อสนับสนุนให้ทุกคนออกกำลังกาย
ขณะเดียวกันยังตอบโจทย์ชีวิตคนเมืองของผู้อยู่อาศัยด้วยการมีร้านค้าปลีกกว่า 200 ร้านค้า และมีส่วนที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตอย่าง ธนาคาร ไปรษณีย์ เป็นต้น
ในเรื่องของพลังงาน วิสซ์ดอม วัน-โอ-วัน ออกแบบมาให้เป็นอาคารที่ประหยัดพลังงานทั้งด้าน Passive และ Active คาดว่าทุกอาคารในโครงการจะผ่านหลักเกณฑ์ขั้นต่ำ TREEs ระดับโกลด์ของสถาบันอาคารเขียวไทย นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด มีการเชื่อมโครงสร้างพื้นฐานเข้าด้วยกันทั้งประปา ไฟฟ้า คมนาคมขนส่ง บริการสาธารณะของเมือง โดยจะมี Smart Application ที่จะบอกได้ว่ามีการใช้พลังงานไปเท่าไหร่
นอกจากนี้ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จํากัด บริษัทผู้พัฒนาวิสซ์ดอม วัน-โอ-วัน ยังได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) ในการพัฒนา “ทรู ดิจิทัล พาร์ค” ศูนย์กลางสร้างสรรค์งานวิจัย นวัตกรรม เพื่อสังคมดิจิทัลที่ครบวงจร และสมบูรณ์แบบแห่งแรกของประเทศไทย และแห่งแรก ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อบ่มเพาะสตาร์ตอัพในการสร้างสรรค์นวัตกรรม ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาลด้วย
ขอนแก่น Smart City (ระยะที่ ๑) : ขนส่งสาธารณะเปลี่ยนเมือง
จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2504 – 2509) ที่ จ.ขอนแก่น ถูกกําหนดให้เป็นเมืองสําคัญและเป็นเมืองศูนย์กลางด้านต่างๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผนวกกับวิสัยทัศน์ของเทศบาลนครขอนแก่นที่ต้องการพัฒนาเมืองที่มีการบริหารจัดการในรูปแบบของความเป็นเมืองสร้างสรรค์ (Smart City) เทศบาลนครขอนแก่นจึงร่วมกับภาคเอกชนในการพัฒนาเมือง ซึ่งมองว่าจะใช้ระบบขนส่งมวลชนเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนา
ในระยะแรกนี้แนวคิดการพัฒนาจึงมุ่งไปที่การก่อสร้างระบบขนส่งสาธารณะ 5 เส้นทาง ได้แก่ รถไฟฟ้ารางเบา (LRT), สมาร์ทบัส ซึ่งเป็นรถบัสไฟฟ้า, จักรยาน และอื่นๆ ด้วย
ซึ่งทำให้การพัฒนาตัวเมืองจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เมืองใหม่ ที่เกิดจากการระบบขนส่งมวลชน โดยจะพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าให้เป็นเมืองอนุรักษ์พลังงาน เหมาะแก่การพักผ่อน และเป็นครีเอทีฟ สเปซด้วย ขณะที่เมืองเก่า ซึ่งคือพื้นที่ใจกลางเมืองที่มีตึกแถวเป็นจำนวนมาก แนวคิดจึงเป็นเรื่องของการพัฒนาเมืองให้มีชีวิต เริ่มจากพื้นที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ย้ายสำนักงานออกไป ทำให้มีการปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าวมาเป็นพิพิธภัณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย และครีเอทีฟสเปซที่คนเมืองสามารถเข้ามาใช้ร่วมกันได้
อีกส่วนสำคัญคือบริเวณศูนย์ราชการ ซึ่งจะออกแบบให้มีการใช้พื้นที่ให้มีศักยภาพสูงขึ้น ด้วยการดีไซน์ให้มีพื้นที่พักผ่อนอาศัยของข้าราชการอยู่ในพื้นที่ของข้าราชการ
ส่วนในด้านการอนุรักษ์พลังงาน เนื่องจากเป็นเมืองขนาดใหญ่ จึงจะใช้การบริหารจัดการผ่าน Smart Microgrid ซึ่งจะมีศูนย์บริหารจัดการพลังงานทั้งเมือง นอกจากนี้ยังมีการติดตั้ง Solar Roof Top ในพื้นที่ ซึ่งคำนวณแล้วอาจจะไม่เพียงพอ จึงมีแนวคิดสร้าง Solar Floating ซึ่งเป็นโครงการแผ่นโซลาร์เซลล์ลอยน้ำที่บึง ซึ่งจะป้อนพลังงานเข้ามากว่า 30% ขณะเดียวกันในเรื่องของการผลิตพลังงานยังมีส่วนที่ผลิตพลังงานเพิ่ม คือ ไบโอแก๊สด้วย
นอกจากนี้ยังมีระบบ Smart Building Management ที่ช่วยประหยัดพลังงานได้ราว 10% มีการออกแบบอาคารให้เป็นไปตามมาตรฐาน TREEs ซึ่งจะมีพื้นที่สีเขียวบริเวณอาคารที่จะช่วยเพิ่มความร่วมรื่นให้กับเมือง ขณะที่รถที่เข้ามาในพื้นที่ต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้า EV เท่านั้น โดยบริเวณสถานีชาร์จจะมี Solar Roof เพื่อจ่ายพลังงานด้วย
โครงการเมืองใหม่อัจฉริยะบ้านฉาง
สำหรับเมืองใหม่อัจฉริยะบ้านฉาง ซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยมีการออกแบบพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ว่างเปล่าซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจต่ำ ให้กลายเป็นเมืองใหม่ซึ่งเป็นเมืองแห่งธุรกิจและที่อยู่อาศัยของ จ.ระยอง มีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นทางหลวงพิเศษหมายเลข 7, สนามบินอู่ตะเภา, ท่าเทียบเรือน้ำลึกมาบตาพุด, โครงการรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เมืองใหม่อัจฉริยะบ้านฉางเป็นศูนย์กลางของธุรกิจยุคใหม่สําหรับภาคเอกชนและนักลงทุน
ด้านพลังงาน เมืองใหม่อัจฉริยะบ้านฉางถูกออกแบบมาให้เป็น net zero energy city โดยบ้านทุกหลังจะต้องเป็น net zero energy home สามารถเก็บพลังงานไว้ใช้เองได้ ภายใต้การนำระบบไมโครกริดเข้ามาใช้ นอกจากนี้ ยังออกแบบมาให้เป็นเมืองที่ใช้รถไฟฟ้าทั้งเมือง มีรถไฟฟ้าสาธารณะให้บริการแก่คนทุกกลุ่ม มีสถานีชาร์จไฟกระจายทั่วเมือง
ขณะเดียวกันยังสนับสนุนการเดินทางด้วยการเดินเท้าและทางจักรยาน โดยจะมี Bike Sharing ให้บริการด้วย นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ลดการใช้ขวดพลาสติกด้วยการผลิตน้ำประปาดื่มได้ มีการบริหารจัดการขยะโดยใช้ระบบถังเก็บขยะอัจฉริยะที่เก็บข้อมูลปริมาณขยะและความถี่ในการรวบรวมขยะ ส่วนน้ำเสียจะถูกรวบรวมและบําบัดจนถึงระดับตติยภูมิ (tertiary treatment) เก็บกักในบึงประดิษฐ์ที่จะนํากลับมาใช้ใหม่ได้อีก
ด้านการสื่อสาร โครงสร้างพื้นฐานจะใช้เทคโนโลยี IoT และโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง เพื่อการติดต่อสื่อสารและบริหารจัดการที่ทั่งถึง นอกจากนี้ยังมีบริการ Free WiFi ที่มี WiFi ความเร็วสูงให้ใช้ในย่านธุรกิจและท่องเที่ยวในเมืองอีกด้วย รวมถึงมีการจัดตั้งสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ ฝึกอบรมวิชาชีพและการดูแลสุขอนามัยให้กับประชาชนด้วยโซเชียลเน็ตเวิร์ก, แอปพลิเคชั่น และเว็บ พอร์ทัล อีกด้วย
ส่วนการบริหารจัดการเมืองจะอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น ภายใต้คณะกรรมการบริหารเมืองใหม่อัจฉริยะบ้านฉาง โดยมีนายกเทศมนตรีตําบลบ้านฉางเป็นประธาน ที่มีกรรมการร่วมจากเจ้าของที่ดิน ภาคประชาชน เอกชน หน่วยงานราชการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้จัดการเมืองใหม่ เป็นผู้บริหารจัดการ
ได้เห็นกันไปแล้วว่า 7 เมืองอัจฉริยะที่ผ่านการคัดเลือกของคณะกรรมการมีรูปแบบเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งโดยรวมของทุกโครงการก็มีเป้าประสงค์ที่คล้ายคลึงกันในเรื่องของการลดการใช้พลังงานในชุมชนด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการ โดยจะประกาศผลโครงการชนะเลิศในเดือนสิงหาคมนี้
อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าการจะพัฒนาให้เป็นสมาร์ทซิตี้ได้ แต่ละโครงการต้องเผชิญกับอุปสรรคหรือความท้าทายต่างๆ ที่ทำให้การขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น ส่วนจะมีอุปสรรคอะไรบ้างนั้น ติดตามต่อได้ตอนหน้า!