ฉีกกฎห้องสมุด NAP LAB Co-napping Workspace

เรื่อง-ภาพ กนกวรรณ มากเมฆ

 

คงจะดีไม่น้อย หากมีพื้นที่ทำงานที่เราไม่ต้องรู้สึกเกร็งว่าจะส่งเสียงดังรบกวนใคร เปิดตลอด 24 ชั่วโมง มีคาเฟ่ไว้รองรับยามหิว มีเกมให้เล่นคลายเครียด มีโต๊ะปิงปองให้ออกกำลังกายแก้เมื่อย หรือแม้กระทั่งมีที่ให้เอนหลังงีบหลับพักสายตา ถึงแม้ว่าจะไม่ค่อยมีให้เห็นกันนัก แต่พื้นที่สำหรับทำงานแบบที่ว่ามามีอยู่จริงในกรุงเทพมหานครนี่เอง

“ประชาชาติธุรกิจ” พารู้จัก “NAP LAB” สถานที่ทำงานแห่งใหม่บนทำเลกลางเมืองอย่างจุฬาฯ ซอย 6 ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ที่เขาให้คำนิยามตัวเองว่าเป็น Co-napping Workspace หรือสถานที่ทำงานสุดผ่อนคลาย มีพื้นที่ให้ผู้มาใช้บริการเปลี่ยนอิริยาบถได้เหมือนอยู่บ้าน

“ป๋อง-อาทิตย์ เสมอกาย” เจ้าของโครงการ NAP LAB วัย 37 ปี เล่าที่มาที่ไปให้ฟังว่า ที่ดินบริเวณนี้และรอบ ๆ เป็นที่ดินส่วนหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสมัยก่อนย่านนี้เรียกว่าย่านหลังสนามศุภฯ เป็นแหล่งขายอุปกรณ์กีฬา เสื้อกีฬา ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศก็ว่าได้ แต่เมื่อ 5 ปีก่อน จุฬาฯมีแผนจะขอคืนพื้นที่เพื่อปรับปรุงใหม่ เนื่องจากอาคารเดิมมีสภาพทรุดโทรม แต่เมื่อขอคืนพื้นที่มาแล้ว แผนดังกล่าวกลับถูกพับไปก่อน พื้นที่ตรงนี้จึงถูกปล่อยร้างมาถึง 3 ปี

ด้วยอาชีพของ “ป๋อง” ที่สืบทอดธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของที่บ้าน เมื่อ 2 ปีก่อน เขาจึงได้เข้ามามีโอกาสรีโนเวตอาคารชุดในย่านนี้ ซึ่งมีพื้นที่หอพักนานาชาติ ศึกษิตนิเวศน์ หอพักนิสิตปริญญาโท ปริญญาเอก และนิสิตแลกเปลี่ยนของจุฬาฯอยู่ด้วย

“สิ่งที่เตะตาเราแต่แรกไม่ใช่อาคาร 8 ชั้นที่ทรุดโทรมแต่โครงสร้างยังดีนี้ แต่กลับเป็นต้นไม้ด้านหน้าที่ดูทรงคุณค่า เนื่องจากมีขนาดใหญ่จนไม่น่าเชื่อว่าจะอยู่ตรงนี้ได้ ทำให้คิดว่าเราจะต้องปรับที่นี่ให้กลับมามีชีวิตชีวา จึงยื่นแผนกับจุฬาฯ ตอนแรกยังไม่รู้จะทำเป็นอะไร ถอดโจทย์ทีละข้อ เริ่มจากสัญญา 5 ปี ซึ่งสั้นมาก เลยคิดว่าอะไรที่เป็นของเดิมแล้วยังดีอยู่ ก็คงไว้ เช่น ตึก 8 ชั้น ชั้น 5-8 เป็นอพาร์ตเมนต์ที่มีห้องน้ำในตัว เราจึงยังคงความเป็นอพาร์ตเมนต์ไว้”

ขณะที่บริเวณชั้น 1-4 ที่เดิมเป็นหอพักพร้อมห้องน้ำรวม ทางเลือกตอนนั้นดูเหมือนว่าโฮสเทลจะตอบโจทย์รูปแบบอาคารมากที่สุด แต่ด้วยความที่ยังไม่พร้อมจะทำโฮสเทล

เขาจึงมองหาทางเลือกอื่น วิเคราะห์แต่ละชั้น จนได้คำตอบว่าชั้น 1 ควรจะเป็นรีเทล เพื่อสอดรับกับอาคารโดยรอบที่กำลังรีโนเวต รวมถึงอุทยาน 100 ปีจุฬาฯที่กำลังสร้าง ส่วนชั้น 2 ก็มีพรรคพวกสนใจทำฟิตเนส โจทย์ของเขาจึงเหลืออยู่ที่ชั้น 3-4

ความที่บริเวณนี้เป็นย่านโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ทำให้ “อาทิตย์” มุ่งทาร์เก็ตไปที่กลุ่มนักศึกษา เขาจึงมองว่าสิ่งที่ตอบโจทย์น่าจะเป็นพื้นที่ทำงาน หรือโคเวิร์กกิ้งสเปซ ซึ่งเมื่อ 2 ปีก่อนในไทยมีโคเวิร์กกิ้งสเปซหลายที่ เขาจึงศึกษารูปแบบข้อดีและข้อเสียของแต่ละที่ จนพบว่าบางที่ก็น่าจะเหมาะกับกลุ่มสตาร์ตอัพมากกว่า เพราะมีโต๊ะเยอะ ทำให้ดูจริงจัง ขณะที่บางแห่งที่ใช้โมเดลร้านกาแฟก็ยังไม่ตอบโจทย์ เพราะเขาต้องการให้คนที่มาโคเวิร์กกิ้งสเปซ ยอมจ่ายเงินเพื่อที่จะมาใช้พื้นที่มากกว่า

“เราทำแบบสอบถามนักศึกษา ทุกคนบอกว่าอยากได้ที่ทำงาน โดยที่ทุกคนมีหมดคือห้องสมุด แต่เหตุผลอะไรที่จะทำให้เขามานั่งของเรา ไม่ไปนั่งห้องสมุด นั่นคือเราต้องทำอะไรที่ห้องสมุดทำไม่ได้ จึงมานั่งดูว่าอะไรที่ทำในห้องสมุดไม่ได้ ลิสต์มาหมดและคัดว่าอะไรที่ทำได้บ้าง ได้แก่ เปิด 24 ชั่วโมง มีที่ทำงาน มีคาเฟ่ขายของกินอยู่ข้างใน มีห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ ล็อกเกอร์ มีโต๊ะปิงปอง มีเกมให้เล่น มีที่นั่งที่นอนได้ จากนั้นนำโจทย์ที่ได้ไปให้เพื่อนทีมตื่นสตูดิโอออกแบบและพัฒนาแบบร่าง จนกลายมาเป็นที่เห็นทุกวันนี้”

เมื่อโจทย์แรกของ NAP LAB คือ เปิด 24 ชั่วโมง ทำให้ที่นี่ถูกออกแบบมาให้เข้าถึงง่าย ปลอดภัย ทำบันไดใหม่บริเวณด้านหน้า ตั้งอยู่ท่ามกลางความร่มรื่นของไม้ใหญ่ เมื่อเดินขึ้นจะผ่านเรือนกระจกที่เป็นคาเฟ่เล็ก ๆ แต่ถึงกระนั้นก็มีลิฟต์ไว้รองรับสำหรับผู้พิการด้วย

ด้านในตกแต่งสไตล์ลอฟต์ใช้สีเหลือง ขาว เทา และสีไม้ ให้ดูอบอุ่นสบายตา เจาะพื้นที่ระหว่างชั้น 3 และ 4 เป็นดับเบิ้ลสเปซ ทำให้เพดานดูโปร่ง ไม่อึดอัด ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย

การใช้บริการเริ่มจากลงทะเบียนที่เคาน์เตอร์ รับตั๋วที่มีรหัสคิวอาร์โค้ดและรหัส WiFi สแกนรหัสที่ช่องทางเข้า ดังนั้นระบบจะรู้ว่าภายในมีคนกี่คน แล้วจะตัดยอด ทำให้จะไม่พบปัญหาคนเข้ามาแล้วไม่มีที่นั่งแน่นอน

ผ่านประตูเข้ามาจะพบคาเฟ่เล็ก ๆ ขายเครื่องดื่ม ขนม อาหารแช่แข็ง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซ้ายมือเป็นโซนนั่งกินอาหาร มีตู้เกม โต๊ะปิงปอง สไลเดอร์จากชั้นบน และกระสอบทราย

ส่วนพื้นที่ด้านขวาเป็นที่นั่งทำงานชิล ๆ สไตล์ญี่ปุ่น มีโซนเบาะนั่งกึ่งเอนหลัง ที่มีวิวพาโนรามาเป็นต้นไม้ใหญ่ด้านหน้า และที่พิเศษคือโซนที่นั่งทำงานที่เรียกว่า “เคฟ (cave)” สีเหลืองเด่นตรงกลาง ซึ่ง “อาทิตย์” ให้เหตุผลของการเลือกใช้สีเหลืองไว้ว่า “สีเหลืองเป็นสีที่ทำให้ดูมีพลังงานและดูไม่ร้อนแรงจนเกินไป สามารถรีแลกซ์ก็ได้ หรือดูมีพลังก็ได้” โดยในแต่ละเคฟมีเบาะนุ่ม ๆ ให้แวะงีบ หรือใครจะนอนจริงจังก็ไม่ว่ากัน หากใครต้องการหมอน ที่นี่ก็มีให้บริการด้วย ทำให้บรรยากาศการนั่งทำงานในชั้นนี้ไม่ต้องจริงจังมากนัก

ชั้นบนมีโต๊ะทำงานเรียงราย ทำให้พื้นที่ส่วนนี้ดูจริงจังมากขึ้น แต่ก็ยังมีส่วนของเคฟไว้ให้บริการ นอกจากนี้ยังมีห้องคุยโทรศัพท์ และห้องสเปรย์รูมซึ่งเป็นบริเวณสูบบุหรี่

เนื่องจากการฉีกทุกกฎของห้องสมุด ทำให้ NAP LAB อาจจะไม่ตอบโจทย์สำหรับคนที่ต้องการความเงียบสงบ เพราะจะมีเสียงเครื่องชงกาแฟ คนเล่นปิงปอง เสียงพูดคุย เสียงคนเล่นสไลเดอร์ คนเดินไปมา รวมถึงเสียงเพลง ซึ่งเป็นความตั้งใจของ “ป๋อง” ที่ต้องการให้ที่นี่ไม่เงียบ เพราะความเงียบจะทำให้คนเกร็ง ดังนั้นลูกค้าที่ตั้งใจเข้ามาอ่านหนังสือก็อาจจะแย้งกับโจทย์ที่ตั้งไว้แต่แรก แต่เขาก็รับได้กับการที่จะต้องเสียลูกค้ากลุ่มนี้ซึ่งมีอยู่ราว 5%

แต่หากใครต้องการความเป็นส่วนตัว ที่นี่ยังมีห้องมีตติ้งรูมให้บริการ 3 ขนาด แบ่งเป็นห้องขนาด 7-12 คน 30-40 คน และ 60-120 คน มีพร้อมทั้งจอ เครื่องเสียง และไมโครโฟนสำหรับค่าบริการมีแพ็กเกจให้เลือกคือ 4 ชั่วโมง 100 บาท สำหรับนักศึกษา และ 150 บาท

สำหรับบุคคลทั่วไป จากนั้นอัพเป็นแพ็กเกจ 12 ชั่วโมง และ 24 ชั่วโมง หรือใครใช้บริการบ่อยก็มีราคาสมาชิกด้วย โดยสามารถเข้า-ออกได้ตลอดเวลา และใช้พื้นที่ได้ทุกส่วน

นับเป็นการออกแบบพื้นที่ที่ตรงใจผู้ใช้งาน จึงไม่แปลกที่จะเห็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา มาใช้บริการอย่างไม่ขาดสาย เพราะนอกจากจะได้พื้นที่ทำงานสุดชิลในราคาย่อมเยาแล้ว ยังอาจจะตื่นมาพร้อมไอเดียสุดบรรเจิดด้วยก็ได้