นับถอยหลังรับสังคม “สูงวัย” แก่ไป…ใครดูแล?

เกษียณ-ผู้สูงวัย

เมื่อเร็วๆ นี้ ค่ายรถยนต์รายใหญ่อย่างโตโยต้า ประกาศโครงการเออร์ลี่ รีไทร์ โดยให้สิทธิ์พนักงานตั้งแต่อายุ 45 ปี จะได้รับเงินตอบแทนสูงสุด 54 เดือน ในมุมหนึ่งคืออิสระที่รวดเร็วทันใจในวันที่สุขภาพยังดีอยู่ แต่อาจจะต้องแลกกับความมั่นคงด้านหน้าที่การงานและเงิน ปัจจัยหลักที่ยากจะปฏิเสธว่ามีความจำเป็นไม่มากก็น้อย

ข้อเสนอเออร์ลี่ รีไทร์ที่ว่านั้นจึงอยู่ที่การวางแผนและตัดสินใจของแต่ละบุคคลว่าจะเลือกเกษียณ “ช้า” หรือ “เร็ว”

แต่ท้ายที่สุดการเกษียณเป็นสิ่งที่ต้องมาถึงก็จำเป็นต้องวางแผนรับมือการเกษียณ และนั่นจึงเป็นคำถามถัดมาว่า “แล้วจะอยู่อย่างไร?” ลูกหลาน ชุมชน รัฐบาล หรือ ตัวคุณเอง?

แต่ก่อนที่ ประชาชาติธุรกิจ” จะพาไปหาคำตอบว่า “แล้วใครกันจะดูแลคุณเมื่อเกษียณ” เราขอพาคุณย้อนกลับไปมองภาพสังคมไทยและการเปลี่ยนผ่านของสังคมในเชิงครอบครัวและประชากร เพื่อทำความเข้าใจถึงปัญหาและปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงเมื่อคำถาม “สูงวัย…ใครดูแล” ผุดมาในหัวของคุณครั้งต่อไป

ลูกไม่ได้พึ่งพา…หลานยังต้องเลี้ยง

รศ.ดร.วัฒนา สุกัณศีล

“รศ.ดร.วัฒนา สุกัณศีล” อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าย้อนถึงภาพสังคมไทยว่า แต่เดิมสังคมไทยเป็นแบบครอบครัวขยายที่มีคนอย่างน้อย 3 รุ่นอาศัยอยู่ร่วมกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไปตามยุคสมัย คนหนุ่มสาวเลือกออกจากบ้านไปสู่โรงเรียน ที่ทำงาน เกิดการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานห่างไกลจากสถานที่ซึ่งเกิดและเติบโต เป็นผลให้หนุ่มสาวอยู่ห่างจากครอบครัวในรุ่นพ่อแม่ และรุ่นปู่ย่าตายาย

ทั้งนี้ แต่เดิมที่ผู้หญิงมีบทบาทดูแลพ่อแม่ แต่เมื่อผู้หญิงไปเรียนหนังสือและทำงาน รวมทั้งไปมีครอบครัวและมีลูกในถิ่นฐานอื่น ด้วยปัจจัยการทำงาน คนหนุ่มสาวจึงมักฝากลูกไปให้ตายายช่วยเลี้ยง จนกระทั่งเด็กโตพอที่จะพึ่งพาตัวเองในระดับหนึ่งจึงเปลี่ยนไปอยู่กับพ่อแม่

นอกเหนือจาก “ผู้สูงวัย” จะขาดคนดูแลในวัยเกษียณแล้ว ยังต้องรับภาระ “หลาน” มาดูแลเพิ่ม วลีที่ว่า “มีลูกหวังพึ่งพายามแก่เฒ่า” จึงอาจจะใช้ไม่ได้ในยุคสมัยนี้ เพราะเมื่อสังคมเปลี่ยนไปเช่นนี้ โอกาสที่ผู้สูงวัยจะอาศัยใครก็น้อยลง

คน

ส่องสวัสดิการรัฐของไทย…ตอบโจทย์?

เมื่อหน่วยครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยเล็กที่สุดในสังคมไม่อาจเป็นแหล่งพึ่งพิงได้ “รัฐ” ในฐานะตัวแทนผู้ดูแลสังคมจึงอาจจะเป็นตัวเลือกที่เราหันกลับมามองว่า จะสามารถเป็นที่พึ่งพาให้ผู้สูงวัยได้มากน้อยเท่าใดและอย่างไร

“อย่าลืมว่าผู้สูงวัยก็คือคน เขาเคยเป็นอดีตแรงงานที่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติมาก่อน” อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวและต่อว่า แม้ว่ารัฐจะมีการดูแล เช่น การให้เบี้ยยังชีพรายเดือน แต่ในภาพใหญ่ เรื่องรัฐกับการดูแลผู้สูงวัยในประเทศยังเป็นเรื่องที่ไม่มีการพูดถึงอย่างจริงจัง

กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้นิยามคำว่า ผู้สูงอายุคือ บุคคลที่มีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีสัญชาติไทย โดยระบุให้ผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การแพทย์และสาธารณสุข, การศึกษา การศาสนา และข้อมูลข่าวสาร, การประกอบอาชีพ ฝึกอาชีพที่เหมาะสม, การลดหย่อนค่าโดยสารและการอํานวยความสะดวกในการเดินทาง และด้านการช่วยเหลือด้านที่พักอาศัย อาหารและเครื่องนุ่งห่มให้ตามความจําเป็นอย่างทั่วถึง เป็นต้น

ทั้งนี้ ยังรวมถึงการช่วยเหลือทางการเงินในรูปแบบของ “เบี้ยยังชีพ” ซึ่งรัฐสั่งแบ่งจ่ายรายเดือนตลอดชีพตามช่วงอายุแบบขั้นบันได คือ อายุ 60-69 ปี จะได้รับเดือนละ 600 บาท, อายุ 70-79 ปี จะได้รับเดือนละ 700 บาท, อายุ 80-89 ปี จะได้รับเดือนละ 800 บาท และอายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับเดือนละ 1,000 บาท

ทั้งนี้ รศ.ดร.วัฒนา เสนอให้มีการ “เก็บภาษี” ตามอัตราก้าวหน้า เพื่อที่รัฐจะมีเงินสำรองสำหรับคืนกลับมาเป็นรัฐสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุ ในรูปแบบที่ดีพร้อมเฉกเช่นประเทศฝั่งตะวันตก

รัฐสวัสดิการกับความเปราะบางสังคมสูงวัยญี่ปุ่น

หากจะมองหาโมเดลต้นแบบเพื่อเตรียมรับสังคมสูงวัย “ญี่ปุ่น” อาจะเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่หลายคนนึงถึง เพราะเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่ามีประชากรสูงวัยมากที่สุดในโลกมานับทศวรรษ โดยปัจจุบันมีผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ ทั้งรัฐบาลเองยังให้ความสำคัญกับมาตรการความมั่นคงทางสังคมมากขึ้น

ทว่างานวิจัยของ “เวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรัม” (WEF) กลับจี้ปมปัญหาสังคมญี่ปุ่นที่ใครหลายคนอาจจะยังไม่รู้ นั่นคือผู้สูงวัยชาวญี่ปุ่นหลายรายเลือกที่จะก่ออาชญากรรมเล็กๆ น้อยๆ แลกกับการที่ได้เข้าไปอยู่ในเรือนจำ เนื่องจากค่าใช้จ่ายสำหรับบ้านพักคนชราในญี่ปุ่นค่อนข้างสูงและตัวเลือกที่สามารถอยู่ได้ก็เป็นเพียง “บ้านพักเกรดล่าง” ไม่สะดวกสบายอย่างที่ควรจะเป็นเมื่อเทียบกับเรือนจำในญี่ปุ่นที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกค่อนข้างครบครัน

ข้อมูลสถิติ ระบุว่า มากกว่าร้อยละ 50 ของผู้สูงอายุในเรือนจำไม่มีบ้านและขาดรายได้ ขณะที่ร้อยละ 40 ขาดปฏิสัมพันธ์จากเครือญาติทำให้บ้านไม่ใช่บ้านตามอย่างที่คาดหวัง

เงินออม

เงินออม : กับดักทุนนิยม

ในฐานะนักวิชาการด้านผู้สูงวัย และเจ้าของมูลนิธิบ้านอารีย์ “ผศ.ดร.วีรณัฐ โรจนประภา” ชี้ว่า ไอเดียของการเก็บออมเงินคือกับดักทุนนิยมที่ทำให้คนยึดติดตัวชี้วัดความมั่นคงยามเกษียณด้วย “เงิน” ที่มี

ผศ.ดร.วีรณัฐ โรจนประภา“โดยประมาณว่ากันว่าต้องเก็บเงินออม 4-7 ล้านบาท หากเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี และมีชีวิตโดยเฉลี่ยที่ 81-83 ปี บางทฤษฎีบอกว่า 40-50 ปี แต่จริงๆ แล้วนั้นไม่มีตัวเลขตายตัว เพราะความมั่นคงจริงๆ แล้วไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงิน เงินต้องไม่ใช่ตัวชี้วัด

คนเราต้องการปัจจัยสี่เท่านั้น ลองคิดดูว่าในอนาคตถ้าเงินเฟ้อขึ้นมา มีเงินเท่าไหร่ก็อาจจะรู้สึกไม่มั่นคง แต่หากคุณมีปัจจัยสี่ เริ่มจากอาหาร ลองปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกสมุนไพรไว้เป็นยารักษาโรค มีที่อยู่ตั้งแต่ก่อนเกษียณ มีเสื้อผ้าเพียงพอต่อความจำเป็น คนที่ทำได้สำเร็จเท่านี้จะรู้สึกมั่นคงจริงๆ” ผศ.ดร.วีรณัฐ กล่าว

สังคมสวัสดิการแห่งอนาคต

นักวิชาการด้านผู้สูงวัย ระบุว่า สังคมสวัสดิการ (Society welfare) จะเป็นภาคส่วนที่สำคัญในยุคต่อไป เนื่องจากในอดีตรัฐถือครองทรัพยากรและดำเนินการจัดสรร แต่ต่อไปคือภาคส่วนประชาสังคม

“ต่อไปพื้นที่เล็กลงเรื่อยๆ การบริหารต้องเล็กลง แต่รัฐนั้นใหญ่เกินไป ภาคชุมชนจึงต้องปรับขึ้นมามีบทบาทแทน เพราะชุมชนมีขนาดเล็ก สามารถจัดแบ่งกลุ่มเพื่อให้ตรงกับความชื่นชอบ ความสนใจ และความต้องการของแต่ละกลุ่มคนได้ง่าย” ผศ.ดร.วีรณัฐ กล่าว

อัตราเกิดต่ำ-สูงวัยล้นเมือง

ผศ.ดร.ศุทธิดา ชวนวัน นักวิจัยสถาบันประชากรศาสตร์และสังคม เผยว่า อัตราการเกิดเปลี่ยนแปลงไปทำให้โครงสร้างครอบครัวจึงเปลี่ยนแปลงตาม คาดการณ์ว่าปี 2562 จะมีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่าจำนวนเด็กเป็นครั้งแรก เนื่องจากอัตราการเจริญพันธุ์รวมบุตรต่อสตรี 1 คนอยู่ที่ 1.55 คน หรือหมายความว่า คนนิยมมีลูก 1-2 คน ในขณะที่ภาวะเจริญพันธุ์ทดแทนคือ ขั้นต่ำของประชากรที่จะมีลูก 2 คนเพื่อทดแทนพ่อแม่ 2 คนที่จะจากไปในอนาคต

ทั้งนี้ นักประชากรศาสตร์ยังคาดการณ์ว่า ปี 2564 สังคมไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์(Completed aged society) และจะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด(Super aged society)ในปี 2574 เนื่องด้วยสัดส่วนประชากรสูงวัยที่มีขนาดมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นในสังคม

โอกาสทองแรงงานวัยเกษียณ

เจ้าของมูลนิธิบ้านอารีย์ มองว่า แนวโน้มอัตราการเกิดที่ต่ำลงนั้น กลับเป็นผลให้ภาคธุรกิจต้องการแรงงานสูงอายุ ประกอบกับกระแสแรงงานวัยแอคทีฟหันไปทำอาชีพอิสระอย่างงานขายของออนไลน์มากขึ้น ช่องว่างแรงงานในภาคส่วนบริการก็อาจจะเป็นโอกาสทองให้กับกลุ่มผู้สูงวัยที่ยังมีศักยภาพและประสิทธิภาพมากพอ แล้วจึงให้มีการอบรมสั้นๆ ก่อนการทำงานอีกครั้งก็เพียงพอ

ที่ผ่านมาเร็วๆ นี้ บรรดาบริษัทต่างเปิดโอกาสให้กับแรงงานสูงวัยที่ยังแข็งแรงและมีใจรักงานบริการให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตำแหน่งงานบริการ อาทิ “ซีเอ็ดบุ๊ค” ร้านหนังสือและผู้ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ และ “อิเกีย” แบรนด์ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์สัญชาติสวีเดน

สูงวัย

ดังนั้น เมื่อ “ลูกหลาน” ก็อยู่ห่างไกลจากพ่อแม่ด้วยเพราะรูปแบบสังคมที่เปลี่ยนไป จะไปหวังพึ่ง “รัฐ” ก็อาจจะยังไม่พร้อมดูแลอย่างเป็นระบบ มองไปยัง “ชุมชน” ที่เหมือนว่าจะลงตัว ก็กลับกลายเป็นว่ามองไปทั้งชุมชนก็อาจจะมีแต่ผู้สูงวัยด้วยกัน แต่หากจะมองกลับมายัง “ตัวเอง” ก็กลับกลายเป็นว่าต้องวางแผนทางการเงินและความมั่นคงทั้งทางกาย-ใจให้ดี!

จนเมื่ออ่านมาถึงบรรทัดนี้ ก็ดูเหมือนจะยังไร้ซึ่ง “คำตอบ” ที่ชัดเจนว่า “ใครจะดูแลเรายามเกษียณ”

นับถอยหลังรับสังคม “สูงวัย” จึงไม่ใช่ปัญหาที่ต้องแก้เฉพาะตัวบุคคล แต่เพราะทุกอย่างล้วนเกี่ยวพันสอดคล้องต่อกัน ทั้งจำนวนประชากร กำลังแรงงาน ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ตลอดจนภาคประชาสังคม… คำตอบสำหรับคำถามข้างต้น จึงต้องมีการพูดคุยเพื่อหาคำตอบร่วมซึ่งกันและกัน

 


ไม่ว่าวันใดวันหนึ่งคำว่า “เกษียณ” ก็ต้องมาเยี่ยมเยือนคุณอยู่ดี!