“ชัชชาติ” ดัน 2 ฝั่งเจ้าพระยา แหล่งเที่ยวกลางคืนฟื้นเศรษฐกิจ

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

“ชัชชาติ” เดินหน้าเพิ่มศักยภาพการเติบโตธุรกิจกลางคืน ขยายเวลาให้บริการแหล่งท่องเที่ยวกรุงเทพฯถึงเที่ยงคืน เตรียมผนึกภาคธุรกิจประดับไฟสถานที่ท่องเที่ยวริม 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา-เขตกรุงเทพฯชั้นใน หวังเพิ่มโอกาส กระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวกรุงเทพฯ พร้อมดันกรุงเทพฯติด 50 อันดับเมืองน่าอยู่

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม.มีแผนเพิ่มศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจกลางคืน และเพิ่มเวลาในการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อขยายเวลาและเพิ่มโอกาสด้านการท่องเที่ยว

การจ้างงาน และลดข้อจำกัดหลาย ๆ อย่างในการเที่ยวในช่วงเวลากลางวัน อาทิ สภาพอากาศที่ร้อน, การจราจรที่ติดขัด ทั้งนี้ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานคร

โดยหนึ่งในโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวกรุงเทพฯยามค่ำคืนคือ ร่วมกับสมาคมธุรกิจในแม่น้ำเจ้าพระยา ประดับไฟตามแนวสถานที่ท่องเที่ยวบริเวณ 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และเขตกรุงเทพฯชั้นใน เช่น คลองผดุงกรุงเกษม เพื่อสร้างสีสันและบรรยากาศให้เกิดการท่องเที่ยวในช่วงกลางคืน

พร้อมทั้งเปิดให้เข้าสถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งได้ถึงเวลาเที่ยงคืน เช่น วัด ขณะนี้ได้มีการพูดคุยร่วมกับผู้ประกอบการบางส่วนบ้างแล้ว ส่วนจะเป็นประดับไฟระยะยาวหรือเฉพาะฤดูกาลนั้น ต้องพิจารณาอีกที

นายชัชชาติกล่าวว่า แนวทางดังกล่าวเป็นไปตามนโยบาย “ผู้ว่าฯ เที่ยงคืน” สนับสนุนการใช้ชีวิตและเศรษฐกิจกลางคืน พร้อมพัฒนาเมืองในมิติต่าง ๆ เช่น ด้านความปลอดภัย การเดินทางที่มีรถเมล์สายหลักครอบคลุม ฯลฯ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ www.chadchart.com

รวมทั้งสนับสนุนแนวคิดการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึงเวลา 04.00 น. โดยกำหนดพื้นที่ควบคุมที่นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้นำเสนอไปในช่วงก่อนหน้านี้แล้วด้วย

อย่างไรก็ตาม ในหลักการดำเนินการนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมีการพูดคุยทำความเข้าใจและหาจุดร่วมที่สมดุลและเหมาะสมระหว่างชุมชน ผู้ประกอบการธุรกิจกลางคืน รวมถึงผู้ประกอบการโรงแรมในพื้นที่ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีไอเดียจับคู่กรุงเทพฯเป็นเมืองพี่เมืองน้องร่วมกับเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี เนื่องจากทั้ง 2 เมืองมีลักษณะคล้ายกัน เช่น มีคลองจำนวนมาก มีการบริหารจัดการน้ำที่เข้มข้น รวมถึงวัฒนธรรม ซึ่ง กทม.สามารถเชื่อมโยงวัฒนธรรมของทั้ง 2 เมืองได้ คาดว่าน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงต้นปี 2566

นายชัชชาติกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันแม้กรุงเทพมหานครจะเป็นเมืองที่ค่าครองชีพไม่สูงมาก และเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับ 1 ของโลกติดต่อกันมาหลาายปี แต่กรุงเทพฯ ยังต้องพัฒนาเรื่องคุณภาพชีวิตของคนใน กทม. โดยข้อมูลจากการจัดอันดับเมืองน่าอยู่ที่สุดในโลก จัดทำโดย Economic Intelligence Unit (EIU) แผนกวิจัยและวิเคราะห์ของกลุ่ม Economist ระบุว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่อันดับที่ 98 ของโลก

“ในสายตานักท่องเที่ยวมองว่าเราเป็นเมืองน่าเที่ยว แต่คนในกรุงเทพฯมองว่าไม่น่าอยู่ กทม.มีหน้าที่จะต้องพัฒนาให้ที่นี่เป็นเมืองที่น่าอยู่มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีกับคนในเมืองและการท่องเที่ยว เพราะจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวใหม่ ๆ เข้ามาด้วย ผมมีนโยบายจะพัฒนาให้กรุงเทพฯติดอันดับเมืองที่น่าอยู่ 50 อันดับแรกของโลก ภายในปี 2570 โดยเร่งพัฒนาความโปร่งใส เพิ่มพื้นที่สีเขียว แก้ไขปัญหาน้ำท่วม ฯลฯ” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวต่อไปอีกว่า หนึ่งในภารกิจสำคัญของกรุงเทพมหานคร คือ ช่วยอำนวยความสะดวกให้ธุรกิจการท่องเที่ยว เนื่องจากธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรมมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยธุรกิจ และตลาดแรงงาน โดยมองว่าเมืองที่ดีต้องสร้างงาน เพราะแรงงานเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเมือง อุตสาหกรรมโรงแรมเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่จ้างงานเป็นจำนวนมาก

โดยพบว่าปัจจุบันธุรกิจโรงแรมพบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน กทม.จึงมีแนวคิดแก้ปัญหาด้วยการส่งเสริมการฝึกอาชีพในสายงานที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็กยังประสบปัญหาการยื่นขออนุญาตก่อสร้างที่ล่าช้า รวมถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

“ที่ผ่านมากิจการที่มีการประกอบธุรกิจเหมือนโรงแรม หรือกลุ่มให้เช่าห้องพักเป็นรายวัน จะต้องเสียภาษี 0.3% โดยจะคิดภาษีรวมพื้นที่อาคารทั้งหมด ขณะที่กิจการที่จดทะเบียนเป็นอาคารที่พักอาศัยรวม เช่น อพาร์ตเมนต์ เสียภาษี ที่อัตรา 0.02% ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ต้องมาหารือเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาต่อไป” นายชัชชาติกล่าว