เร่งแก้โจทย์เที่ยวในประเทศ บูสต์รายได้ปี’67 ทะลุ 1 ล้านล้าน

เที่ยวในประเทศ

กระตุ้นตลาดการท่องเที่ยวในประเทศถือเป็น 1 ในนโยบายหลักของรัฐบาล โดยนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ได้เน้นย้ำและมุ่งหวังกระตุ้นเมืองรองสู่การท่องเที่ยวเมืองหลัก

ทั้งนี้ เพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว

เป้าปี’67 รายได้ 1.08 ล้านล้าน

“สมฤดี จิตรจง” รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า ปี 2566 ที่ผ่านมาการท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือไทยเที่ยวไทย (ยังไม่เป็นทางการ) จะมีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยประมาณ 185 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ราว 9 แสนล้านบาท

สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ว่าจะมีจำนวนผู้มาเยือนชาวไทย 135 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 8.8 แสนล้านบาท

โดยในปีนี้ 2567 นี้ ททท.ตั้งเป้ามีจำนวนผู้มาเยือนชาวไทย 200 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 1.08 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีที่ผ่านมาถึง 25% (Best Case Scenario และได้รับงบประมาณปี 2567 เต็มวงเงิน)

แบ่งเป็น ภาคกลาง เป้าสร้างรายได้ 464,613 ล้านบาท เติบโต 40% มีจำนวนนักท่องเที่ยว 103.07 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 55% ภาคเหนือ เป้ารายได้ 186,537 ล้านบาท เติบโต 21% มีจำนวนนักท่องเที่ยว 25.14 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 17%

ADVERTISMENT

ภาคตะวันออก เป้ารายได้ 178,098 ล้านบาท เติบโต 23% มีจำนวนนักท่องเที่ยว 22.31 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 23% ภาคใต้ เป้ารายได้ 165,918 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54% มีจำนวนนักท่องเที่ยว 21.50 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 33%

และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป้ารายได้ 92,834 ล้านบาท เติบโต 35% มีจำนวนนักท่องเที่ยว 27.95 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 23%

ADVERTISMENT

ชี้ไม่ง่าย-ข้อจำกัดเพียบ

“สมฤดี” บอกว่า เป้าหมายดังกล่าวนี้เป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างมาก ที่สำคัญไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบโดยตรง กล่าวคือปี 2566 ที่ผ่านมาคนไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาวะอัดอั้นเรื่องการเดินทาง และออกเที่ยวไปมากแล้ว บวกกับในปี 2567 นี้หลายประเทศทั่วโลกมีการแข่งขันเพื่อดึงคนไทยไปเที่ยวเมืองนอกมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า ทำให้ ททท.ยังใช้งบไปพลางก่อน ซึ่งมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก ทำให้ไม่สามารถเดินหน้าทำการตลาดเชิงรุกได้ตามแผน

รวมทั้งยังมีปัญหาเรื่องระบบโลจิสติกส์การขนส่งนักท่องเที่ยว เนื่องจากเที่ยวบินภายในประเทศและเส้นทางบินข้ามภาคของสายการบินต่าง ๆ ในปี 2567 ก็ยังไม่กลับมา 100% เมื่อเทียบกับปี 2562

ขณะเดียวกัน ททท.ยังมีแผนส่งเสริมการขับรถเที่ยวด้วยตัวเอง เช่น ร่วมกับเกรท วอลล์ มอเตอร์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เป็นต้น รวมถึงคุยกับการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางรถไฟด้วย

เน้นทำการตลาดร่วมพันธมิตร

“สมฤดี” บอกอีกว่า สำหรับปี 2567 นี้จะเน้นในประเด็นของการส่งเสริมให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยว 365 วัน ซึ่งประกอบด้วย เที่ยวเมืองรอง, เที่ยววันธรรมดา และเที่ยวข้ามภูมิภาค ภายใต้ธีม “สุขทันทีที่เที่ยว…” เช่น สุขทันทีที่เที่ยวพัทยา, สุขทันทีที่เที่ยวเชียงราย, สุขทันทีที่เที่ยวตรัง ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการจดจำในธีมเดียวกัน

โดยย้ำว่า หลักทำการตลาดของ ททท.ขณะนี้คือ เน้นใช้คอนเน็กชั่นเป็นหลัก เนื่องจากมีปัญหาเรื่องงบประมาณ อาทิ 1.กรุงศรีออโต้ ชวนคนไทยขับรถเที่ยวในโครงการ Amazing ทุกเส้นทาง เที่ยวเมืองไทยกับกรุงศรีออโต้ผ่านแอปพลิเคชั่น Go Travel by Krungsri Auto ที่มีฐานสมาชิกจำนวนกว่า 3 ล้านคน

2.ไปรษณีย์ไทย ประชาสัมพันธ์และกระตุ้นการเดินทางแก่สมาชิกในเครือข่าย Social Media ของไปรษณีย์ไทยทุกช่องทาง (Line Official, Facebook, Instagram, X) ที่มีฐานสมาชิกจำนวนรวม 3.8 ล้านคน

3.อพท.ร่วมกันส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 9 แห่ง 12 จังหวัด และส่งเสริมท่องเที่ยวโดยชุมชนและการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ พร้อมขายตามเกณฑ์มาตรฐาน CB Thailand 64 แห่ง ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของ ททท. อพท. และเครือข่ายพันธมิตร

4.หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกันสร้างสรรค์ Happy Model เส้นทางท่องเที่ยวแห่งความสุข และส่งเสริมให้เกิดการเดินทางผ่านการใช้งานแอปพลิเคชั่น TAGTHAI (ทักทาย)

5.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวเมืองรองภายใต้แคมเปญ “สุขทันทีที่เมืองรอง” โดยใช้พอยต์ใน Application Big C Plus รับส่วนลดในการจองโรงแรม/ที่พักเมืองรองผ่าน Application Plus รวมทั้งรับส่วนลดในการรับประทานอาหารถิ่นในร้านอาหารในพื้นที่เมืองรอง ในช่วงเดือนธันวาคม 2566-พฤษภาคม 2567 เป็นต้น

เที่ยวในประเทศ

“ตอนนี้เรามีปัญหาเรื่องงบประมาณปี 2567 ในช่วง 8 เดือนแรก (ตุลาคม 2566-พฤษภาคม 2567 ต้องใช้งบฯปี 2566 ไปพลางก่อน ซึ่งได้รับจัดสรรเพียงแค่ประมาณ 400 ล้านบาท จากงบฯ บูรณาการปี 2567 ที่ขอไป 1,190 ล้านบาท เราจึงยังไม่สามารถออกแคมเปญส่งเสริมการตลาดได้เต็มรูปแบบนัก”

หนุนเมืองรองสร้างรายได้ 50%

สำหรับแผนยกระดับเมืองรองในปี 2567 นั้น ททท.จะยังโปรโมต “55 เมืองรอง” โดยมีเป้าเพิ่มนักท่องเที่ยวไทยเดินทางมากขึ้นเป็น 91 ล้านคน-ครั้ง มีสัดส่วนเกือบ 50% ของเป้าหมายนักท่องเที่ยวไทยทั้งหมด (200 ล้านคน-ครั้ง)

เน้นการสร้างประสบการณ์เดินทางท่องเที่ยวผ่านโปรดักต์ Soft Power 5Fs และ ททท.จะเป็นหน่วยทำการตลาด ซึ่งเชื่อว่าหากรัฐบาลช่วยพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ทั้ง 11 สาขา ตามแผนจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างมาก

โดยแผนงานหลัก ๆ ในปี 2567 คือ การร่วมมือกับหอการค้าไทยจัดทำโครงการ “ยกเมืองรองสู่เมืองหลัก” นำร่อง 10 จังหวัด ใน 5 ภูมิภาค ประกอบด้วย ภาคอีสาน ได้แก่ นครพนม ศรีสะเกษ ภาคเหนือ ได้แก่ แพร่ ลำปาง นครสวรรค์ ภาคกลาง ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี ภาคตะวันออก ได้แก่ จันทบุรี และภาคใต้ ได้แก่ ตรัง นครศรีธรรมราช

โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-เมษายน) ททท.ได้วางธีมการโปรโมตท่องเที่ยวแต่ละเดือนให้สอดรับกับเทศกาลและพฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยวไทย โดยเดือนมกราคมโปรโมต “เส้นทางสายศรัทธา” เสริมสิริมงคลต้อนรับปีใหม่

เดือนกุมภาพันธ์โปรโมตเทศกาล “ตรุษจีน” และ “วาเลนไทน์” นำเสนอเส้นทางแห่งความรัก เดือนมีนาคมโปรโมต “เทศกาลเที่ยวเมืองไทย” (วันที่ 28 มีนาคม-1 เมษายน 2567) เพื่อบอกเล่าพลัง “ซอฟต์พาวเวอร์” ของไทย

และเดือนเมษายนจะโปรโมต “งานเทศกาลสงกรานต์” เฟสติวัลระดับโลก โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอนโยบายของรัฐบาลว่าจะโปรโมตแบบไหน

ส่วนแผนการตลาดในเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2567 นั้น ททท.จะมาคุยกันอีกครั้ง เพื่อให้สอดรับกับงบประมาณปี 2567 ต่อไป

แนะแก้โจทย์ “ต้นทุน” เดินทาง

“สมฤดี” ยังระบุด้วยว่า โจทย์ใหญ่สำหรับการท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือไทยเที่ยวไทยคือ ปัญหาเรื่องโลจิสติกส์ หรือการขนส่ง ซึ่งยังเป็นอุปสรรคสำหรับการเดินทางท่องเที่ยว

เช่น การจองตั๋วโดยสารสายการบินที่มักจะมีราคาที่สูงเมื่อจองวันใกล้เดินทาง ขณะที่พฤติกรรมของคนไทยส่วนใหญ่นิยมจองตั๋วใกล้ช่วงเวลาเดินทาง ในเวลาเดียวกัน สายการบินก็ไม่สามารถทำราคาตั๋วโดยสารที่ถูกได้ เนื่องจากราคาน้ำมันที่แพงขึ้น

หรือส่งเสริมการเดินทางโดยรถยนต์ แต่ราคานั้นก็ยังอยู่ในอัตราที่สูง และมีประเด็นเรื่องมาตรฐานด้านความปลอดภัย เช่นเดียวกับซัพพลายไซด์ ที่ต้องมีอะไรมาจูงใจให้นักท่องเที่ยวเกิดการเดินทาง และทำให้เกิดการเดินทางแบบกระจาย ไม่กระจุกอยู่เฉพาะในวันธรรมดา เป็นต้น

ดังนั้น ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องต้องพัฒนาสินค้าให้ได้รับความนิยม รวมถึงจัดกิจกรรมทางการตลาดเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเดินทางไปในพื้นที่เป้าหมายด้วย