ททท.เร่งเคลียร์ปัญหา”โอทีเอ” จ่อหารือรายใหญ่งดขายห้องพักผิดกฎหมาย

ททท.เร่งแก้ปัญหายักษ์ “โอทีเอ” ขายห้องพัก-บริการท่องเที่ยวผิดกฎหมาย เตรียมเรียกผู้ให้บริการ 3 รายใหญ่ “บุ๊กกิ้งดอทคอม-อะโกด้า-เอ็กซ์พีเดีย” หารือขอความร่วมมือให้ขายโรงแรมที่พักเฉพาะที่ถูกต้องตามกฎหมายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ หวังสร้างมาตรฐานความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว พร้อมต้อนโรงแรมที่นอกรีตเข้าระบบ

จากปัญหาของออนไลน์ แทรเวล เอเย่นต์ (OTA : Online Travel Agent) ที่ทำการขายห้องพัก และบริการด้านการท่องเที่ยวที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายและขายในราคาต่ำกว่าต้นทุนมากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้ประกอบการบางกลุ่มที่ทำธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งยังสวนทางกับแนวทางการทำการตลาดของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ต้องการยกระดับตลาดไปสู่กลุ่มคุณภาพ

เรียก OTA รายใหญ่หารือ

ล่าสุด นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ททท.มีแผนจะขอหารือร่วมกับผู้ประกอบการธุรกิจตัวแทนจองห้องพักและสินค้าท่องเที่ยวออนไลน์ หรือ OTA จำนวน 3 รายใหญ่ ได้แก่ บุ๊กกิ้งดอทคอม อะโกด้า และเอ็กซ์พีเดีย ในประเด็นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการไม่อนุญาตให้โรงแรมและที่พักไม่ถูกต้องตามกฎหมายมาขายห้องพักบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ในช่วงประมาณปลายเดือนมิถุนายนนี้

โดยเหตุผลที่ ททท.ขอหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้กับผู้ประกอบการ OTA ทั้ง 3 รายใหญ่ให้เปิดขายเฉพาะโรงแรมถูกกฎหมายเท่านั้น เพราะต้องการเร่งรัดให้โรงแรมที่ยังผิดกฎหมายอยู่เข้าสู่ระบบให้ถูกต้อง จะได้เข้ามาขายห้องพักใน OTA ทั้ง 3 รายใหญ่ดังกล่าวได้ นอกจากนี้ยังมีเหตุผลด้านความปลอดภัย ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์พื้นฐานที่โรงแรมต้องมี ซึ่งทาง ททท.มองว่าเป็นความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างโรงแรม และ OTA ต้องช่วยกันดูแลนักท่องเที่ยวด้วย

ขอความร่วมมือขายสินค้าถูก กม.

“เรามองในประเด็นการสร้างการท่องเที่ยวให้เติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต ซึ่งตอนนี้เมืองไทยถูกจัดเรื่องความปลอดอยู่ในอันดับ 118 จาก 130 กว่าประเทศ หากเราช่วยกันยกระดับได้ นักท่องเที่ยวที่มาประเทศไทยก็จะรู้สึกปลอดภัยในทุก ๆด้าน” นายยุทธศักดิ์กล่าวและว่า ททท.ต้องอธิบายและขอความร่วมมือให้กับกลุ่มโอทีเอดังกล่าวรับทราบว่าจะขายสินค้าแบบไม่มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคไม่ได้ ซึ่งในแนวทางการดำเนินงานคงไม่ใช่เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 5-7 วัน แต่จะค่อย ๆ ทำ เพื่อดึงให้กลุ่มผู้ประกอบการโรงแรม ที่พัก ที่ยังไม่เข้าระบบหันมาเข้าระบบซึ่งหาก OTA ทั้ง 3 รายใหญ่ยินดีให้ความร่วมมือ ททท.ก็จะช่วยทำตลาดส่งเสริมการขายด้วย

โรงแรมนอกรีตยังตรึม

ด้านนางสาวศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า หลังจากก่อนหน้านี้ทางเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการจับกุมโรงแรมผิดกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายเล็กจำนวนกว่า 40-50 ราย และเปิดให้บริการในต่างจังหวัด เช่น หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นอกจากนี้ยังมี 10 กว่ารายที่ทางโรงแรมได้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรมแล้ว แต่เป็นใบอนุญาตปลอม ขณะที่รายใหญ่ ๆ ที่เปิดโรงแรมแบบผิดกฎหมายนั้นก็ยอมรับว่ายังมีอยู่

“เนื่องจากยังมีช่องว่างทางกฎหมายอยู่ พอเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจว่ามีใบอนุญาตหรือไม่ เมื่อพบว่าไม่มี ก็ดำเนินการจับและปรับ แต่กฎหมายไม่ได้ระบุให้ปิดการดำเนินงานของสถานประกอบการด้วย ทำให้โรงแรมที่ถูกจับส่วนมากกลับมาเปิดให้บริการเหมือนเดิม ส่งผลให้ปัญหาวนมาที่เดิม ทีเอชเอจึงอยากให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานภาครัฐดำเนินการให้เบ็ดเสร็จไปเลย ด้วยการผลักดันให้โรงแรมผิดกฎหมายเหล่านั้นกลับไปทำโรงแรมตัวเองให้ถูกต้องตามกฎหมายจนแล้วเสร็จเสียก่อน ค่อยมาเปิดให้บริการอีกครั้ง”

ส.โรงแรมไล่ต้อนต่อเนื่อง

นางสาวศุภวรรณกล่าวว่า ที่ผ่านมาทีเอชเอได้ร่วมมือกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยมาตลอด เพื่อผลักดันให้โรงแรมผิดกฎหมายเข้าไปขอใบอนุญาต เข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม โรงแรมที่เจ้าหน้าที่เข้าไปจับ ทางทีเอชเอไม่ได้เป็นคนชี้เป้าแต่อย่างใด เพราะไม่มีสิทธิ์ทำอย่างนั้น การจับกุมเป็นเรื่องของผู้มีอำนาจในการจับกุมซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับโรงแรมผิดกฎหมายในพื้นที่นั้น ๆ อยู่แล้ว

“ในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งทีเอชเอและกระทรวงมหาดไทยได้พยายามผลักดันให้โรงแรมผิดกฎหมายเข้าสู่กระบวนการทำให้ถูกต้อง เพื่อเข้าสู่การแข่งขันอย่างเท่าเทียม โดยมีโรงแรมต่าง ๆ ยื่นขอใบอนุญาต แต่ผลการขอยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากอาจติดขัดจากหลายสาเหตุ เช่น มีโรงแรมยื่นขอจำนวนมาก หรือตัวโรงแรมเองยังไปแก้ไขไม่แล้วเสร็จตามที่กฎหมายกำหนด จึงยังไม่ได้ใบอนุญาต”

นายกทีเอชเอกล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านค่าคอมมิสชั่นของธุรกิจ OTA ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโรงแรม โดยทางทีเอชเอเองก็ไม่อยากให้ OTA เข้ามามีบทบาทมากเกินไป โดยอาจต้องตั้งหลักด้วยการคิดและตกผลึกให้ดีก่อน เพื่อนำข้อเสนอไปหารือร่วมกับ OTA เช่น กำหนดเพดานค่าคอมมิสชั่นไม่ให้เกิน 25% เนื่องจากสถานการณ์โรงแรมในไทยนั้นประสบปัญหาห้องพักล้นตลาด (โอเวอร์ซัพพลาย) แค่แข่งกันขาย บางรายมีตัดราคาก็แย่แล้ว และยังต้องมาโดนค่าคอมมิสชั่นในอัตราสูงจาก OTA

จับตาคอนโดฯปล่อยเช่า

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับคอนโดมิเนียมที่มีการนำห้องพักมาปล่อยเช่ารายวันแข่งกับโรงแรมตามเว็บไซต์รับจองที่พักต่าง ๆ เช่น แอร์บีแอนด์บี (Airbnb) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมจากเจ้าของคอนโดฯ จำนวนมาก และมีนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่กลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (เอฟ.ไอ.ที.) สนใจเช่าผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าวจำนวนมากนั้นปัจจุบันมีคอนโดมิเนียมหลาย ๆ แห่งโดยเฉพาะแบรนด์ที่มีชื่อเสียง ที่นิติบุคคลจับตาและมีนโยบายเข้มกับเรื่องนี้มากขึ้น ด้วยการประกาศภายในคอนโดมิเนียมว่าไม่อนุญาตให้ขายห้องพักรายวัน ส่งผลให้ลูกบ้านนำห้องพักออกมาขายรายวันยากขึ้น

นับว่าเป็นความร่วมมือที่ช่วยทีเอชเอและผู้ประกอบการโรงแรมถูกกฎหมายได้ดีมาก ๆ โดยทีเอชเอเตรียมหารือกับสมาคมอาคารชุดไทยเพิ่มเติม เพื่อยกระดับความร่วมมือแก้ปัญหาคอนโดมิเนียมปล่อยเช่าห้องพักรายวันแข่งโรงแรมให้เข้มข้นมากขึ้น