“ศุภจี” ชี้ธุรกิจท่องเที่ยว ก้าวสู่ยุค Experience Economy

“ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกและเทคโนโลยีอย่างไม่หยุดนิ่งในขณะนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงในเชิงธุรกิจที่เกิดขึ้นในอนาคตคือ ความต้องการของคนที่ต้องได้รับการตอบสนองโดยเทคโนโลยีที่เหมาะสมและในรูปแบบที่ลงตัวเท่านั้น”

คำกล่าวของ “ศุภจี สุธรรมพันธุ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DTC ในงานสัมมนา Thailand 2019 เมื่อคนเปลี่ยนแลนด์สเคปธุรกิจโลกเปลี่ยน ธุรกิจไทยจะก้าวไปอย่างไร ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา

“ศุภจี” บอกว่า เทคโนโลยีไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว เพราะหากผู้ประกอบการสามารถนำเทคโนโลยีมาใส่ในความต้องการของคนทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างเหมาะสม ก็จะทำให้เกิดประสิทธิภาพและสามารถเดินต่อไปได้แบบที่เราก็อาจคาดไม่ถึง

ในส่วนของธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการนั้น เทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปัจจุบันมีมากมายหลายอย่าง แต่หลัก ๆ ที่น่าสนใจและเกี่ยวกับธุรกิจในประเทศไทยในเซ็กเมนต์นี้อย่างมีนัยสำคัญมีอยู่ 10 อย่างคือ

1.โมเดลธุรกิจใหม่ การเปลี่ยนส่วนนี้ไม่ได้เกิดจากเทคโนโลยีเป็นตัวตั้งแต่เริ่มต้น ยกตัวอย่างกรณีของ Airbnbที่มีจุดเริ่มต้นเกิดจากคน 2 คนที่เข้าใจถึงความต้องการของคนแล้วนำเอาห้อง

ที่ตัวเองมีอยู่ เอามาให้คนอื่นพักในช่วงที่ตัวเองไม่ได้พักมาหารายได้ และใช้เทคโนโลยีมาเติมเต็มด้านการขาย

วันนี้บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในธุรกิจโรงแรมที่มีเครือข่ายมากกว่า 1 หมื่นโรงแรมคือ กลุ่มแมริออท ซึ่งใช้เวลาสร้างมาหลาย 10 ปี แต่ Airbnb เกิดขึ้นในปี 2005 ปัจจุบันมีเครือข่ายห้องพักทั่วโลกกว่า 2-3 ล้านแห่ง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพราะ

ผู้ประกอบการสามารถให้บริการที่ตรงความต้องการของคนได้มากกว่า

2.เรื่องของเทคโนโลยีอนาคต หรือ AI

ที่มีความฉลาดขึ้นเรื่อย ๆ มีความเหมือนคนมากขึ้น ปัจจุบันก็พบว่ามีโรงแรมหลาย ๆ

แห่งในญี่ปุ่นหรือสิงคโปร์ เริ่มนำหุ่นยนต์หรือเทคโนโลยี AI เข้ามาให้บริการแล้ว

3.นักเดินทางในโลกปัจจุบันและในอนาคตจะไม่เหมือนเดิม เพราะนักเดินทางจะไม่ใช่กลุ่มเดิมที่เคยมาในอดีตอย่างมีนัยสำคัญ ในอดีตเป็นการเดินทางของคนในโลกตะวันตกมาโลกตะวันออก แต่ปัจจุบันการเติบโตของเศรษฐกิจ นักเดินทางถูกแทนด้วยคนชั้นกลางและคนในประเทศในย่านเอเชีย นั่นหมายความว่า ความสำเร็จในอดีตไม่สามารถตอบโจทย์ในอนาคตได้

4.การรวมสิ่งต่าง ๆ แบบ coeverything ตอนนี้คนเริ่มเปิดกว้างมากขึ้นที่จะใช้พื้นที่บางอย่างร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นส่วนของออฟฟิศหรือโคเวิร์กกิ้งสเปซ 5.เซ็กเมนเตชั่น (personalization of marketing)เพราะความชอบที่แตกต่างกันทำให้รูปแบบการทำมาร์เก็ตติ้งแคมเปญในยุคนี้มุ่งเจาะเซ็กเมนต์ตามไลฟ์สไตล์และความชื่นชอบของแต่ละบุคคล ไม่ใช่เจาะตามเพศ หรือตามวัยอีกต่อไป

6.ระบบโครงสร้างพื้นฐานทุกอย่างต้องได้รับการพัฒนา เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักเดินทางที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสนามบิน หรือการเดินทางสู่เมืองรอง 7.การเกิดขึ้นของระบบเก่ากับนักท่องเที่ยวใหม่ ซึ่งต้องปรับปรุงระบบเพื่ออำนวยความสะดวกและสอดรับความต้องการของนักท่องเที่ยวยุคใหม่

8.กระแสของเวลเนสได้รับการตอบรับที่ดีขึ้นทั่วโลก ซึ่งธุรกิจเวลเนสนั้นครอบคลุมสินค้าและบริการที่กว้างมาก รวมถึงเรื่องสุขภาพ ที่กลายเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน 9.แรงงานไม่พอ เพราะระบบการศึกษาทั่วโลกมุ่งเน้นใบปริญญา แต่สำหรับธุรกิจบริการนั้นไม่จำเป็นต้องจบปริญญาก็สามารถทำงานได้ สามารถไปเรียนฝึกฝนทักษะที่เหมาะสมได้ และ 10.การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ปัจจุบันเป็นเทรนด์ที่เป็นที่สนใจมากในธุรกิจท่องเที่ยว

“ศุภจี” บอกว่า ทั้ง 10 ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเทรนด์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และทำให้ธุรกิจเกิดการเปลี่ยนจากที่เรียกว่า service economy มาสู่ experience economy คือเป็นเศรษฐกิจที่นำโดยการให้ประสบการณ์กับคนที่มารับบริการ ซึ่งมีส่วนประกอบ 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ การทำให้มี connectionและ participation หากสามารถเชื่อมทั้ง 2 ส่วนเข้าด้วยกันได้ก็จะทำให้เกิดประสบการณ์ที่ดีและเกิดความต่อเนื่องในการให้บริการ ลูกค้าที่เคยใช้บริการก็จะกลับมาอีก

นอกจากนี้ หัวใจสำคัญที่ธุรกิจจะต้องมีอีก 3 ส่วนนี้คือ ความสะดวกสบาย เพื่อให้คนเข้าถึงสินค้าและบริการได้ง่าย ต้องให้ประสบการณ์ที่ดีและตรงกลุ่มเป้าหมาย และต้องมีคุณค่า หรือมีความคุ้มค่า ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าต้อง “ถูก” เสมอไป แพงก็ได้แต่ต้องสร้างประสบการณ์ให้ผู้ใช้บริการรู้สึกว่า “คุ้มค่า”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือ การทำการตลาดที่จำเป็นต้องมีอินโนเวชั่น ทำอย่างไรให้แปลกใหม่และได้รับความสนใจ หรือจะเปลี่ยนตัวเองอย่างไรให้สามารถตอบโจทย์อนาคตได้ ขณะเดียวกันองค์กรก็ต้องปรับเปลี่ยนแบบทรานส์ฟอร์มทั้งระบบ และมีการบริหารจัดการที่เป็นยูนีคและโดดเด่น

อย่างไรก็ตาม ในภาคของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยนั้นยังมีอีกหลายส่วนที่ยังต้องฝากไว้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากรที่ยังขาดแคลน ความปลอดภัย กฎระเบียบต่าง ๆ รวมถึงแนวทางในการทำให้นักเดินทางใช้เวลาอยู่ในประเทศไทยให้นานขึ้น เป็นต้น


พร้อมทิ้งท้ายว่า การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจเกิดขึ้นมากมาย และเทคโนโลยีก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ สิ่งที่ภาคธุรกิจต้องเข้าใจคือ positioning เอกลักษณ์ รากฐานความเป็นไทยที่ชัดเจนของตัวเองนั้นจะเป็นตัวผลักดันให้ธุรกิจเปลี่ยนไปอย่างมีตัวตนในอนาคต