“นิตินัย” ตอบทุกประเด็น! ทำไม? ทอท. เลือกประมูลดิวตี้ฟรีแบบรายเดียว ระบุไม่ผูกขาด เปิดกว้างดาวน์ทาวน์ดิวตี้ฟรี

นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.

ชัดเจนแล้วว่าบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ ทอท. กำหนดให้มีการขายซองทีโออาร์ประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และพื้นที่ร้านค้าปลอดอากร หรือ ดิวตี้ฟรี ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, เชียงใหม่, ภูเก็ต และหาดใหญ่ ในวันที่ 19 มีนาคม- 1 เมษายน 2562 นี้

พร้อมทั้งกำหนดวันฟังคำชี้แจงในวันที่ 2 เมษายน 2562 จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการดูสถานที่ประกอบกิจการ โดยกำหนดให้ยื่นข้อเสนอในวันที่ 30 เมษายน 2562 และเปิดซองเสนอค่าตอบแทนและประกาศผลคะแนนสูงสุดวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 นี้

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “นิตินัย ศิริสมรรถการ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ถึงรายละเอียดในประเด็นต่างๆ ที่ยังมีผู้กังขาสงสัยในทีโออาร์สำหรับการประมูลครั้งนี้ โดยเฉพาะในประเด็นการเลือกใช้โมเดลเปิดประมูลแบบสัญญาเดียว และการรวบเอาสัญญาดิวตี้ฟรีทั้ง 4 ท่าอากาศยานมารวมกันไว้ในสัญญาเดียว ไว้ดังนี้

@ในที่สุด ทอท. ก็เลือกโมเดลแบบรายเดียว หรือ Master Concession

การประมูลครั้งก่อนของท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้น เราประมูลทั้งพื้นที่เชิงพาณิชย์ และพื้นที่ร้านค้าปลอดอากร หรือดิวตี้ฟรีพร้อมกัน และสัญญาจะหมดพร้อมกันคือ วันที่ 27 กันยายน 2563

ก่อนอื่นผมขอย้อนนิดหนึ่งว่าก่อนหน้านี้ที่ทาง ทอท. ไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรมากนักนั้น เป็นเพราะว่าเกรงเรื่องการเข้าถึงข้อมูลที่ไม่เท่าเทียมกัน สมมุติว่าเราให้ข้อมูลทางประชาชาติธุรกิจไปแล้วคนที่เยอรมนีอยากประมูลแต่ไม่ได้อ่านประชาชาติก็จะบอกว่าการประมูลไม่แฟร์ เพราะได้ข้อมูลไม่เท่ากัน เป็นต้น

แต่วันนี้ผมพอให้ข้อมูลได้บ้างแล้ว เพราะมีประกาศออกไปชัดเจนว่ารูปแบบที่เราเลือกใช้นั้นเป็นการให้สัมปทานแบบสัญญาเดียว คือ สัญญาในส่วนดิวตี้ฟรี 1 สัญญา และสัญญาพื้นที่เชิงพาณิชย์ 1 สัญญา ส่วนประเด็นเรื่องจุดส่งมอบสินค้า หรือ Pick up Counter นั้นเรายังไม่ได้เปิดประมูลในรอบนี้

นั่นหมายความว่า สัญญาดิวตี้ฟรี 1 สัญญาดังกล่าวก็ตอบคำถามว่าไม่มีการแบ่งเป็นตามกลุ่มสินค้า หรือ by category ตามที่หลายฝ่ายอยากให้เป็นแน่นอน

ส่วนการที่เรารวบหรือ bundle ทั้ง 4 ท่าอากาศยานไว้ในสัญญาเดียวกันนั้น ต้องบอกว่าบอร์ด ทอท. ไม่ได้ฟังคอมเม้นต์มาแล้วเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ทางบอร์ดก็เห็นด้วยว่าประเทศเราก็ไม่ควรมีดิวตี้ฟรีรายเดียวผูกขาด เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ประชุมบอร์ดเลยออกมามติออกมาว่าถ้าเช่นนั้นในส่วนของ pick up counter ต้องเปิดกว้าง

หมายความว่าตอนนี้ใครอยากทำดาวน์ทาวน์ดิวตี้ฟรีทำไปเลย ลงทุนไว้รอได้เลย เพราะเราสัญญาไว้แล้วว่าจะเปิดกว้าง ฉะนั้นตรงนี้ต้องบอกว่าบอร์ดก็เป็นห่วง เพราะที่ผ่านมามันผูกขาด เดี๋ยวเสร็จการประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์และดิวตี้ฟรีเราก็จะเริ่มประมูล pick up ต่อเลย ซึ่งควรจะให้เสร็จภายในปีนี้ เพราะว่าดิวตี้ฟรีมันเป็นเรื่องของการรีโนเวตและอะไรต่างๆ

 @ประเด็นปัญหาที่หลักทำให้ไม่สามารถให้สัมปทานแบบกลุ่มสินค้า หรือ by category ตามที่หลายฝ่ายเรียกร้องคืออะไร

 พื้นที่ภายในสนามบินนั้นมีปัญหาเรื่องการจัดสถานที่ เพราะพื้นที่ข้างในแอร์ไซต์ไม่เหมือนห้างสรรพสินค้าที่ประตูอยู่ตรงไหนแล้วอยู่ตรงนั้นตลอดไป แต่ของ ทอท. ถ้าเปรียบงวงช้าง หรือ contact gate เปรียบเหมือนประตู บางกรณีก็เปิดกว้าง เช่น กรณีที่เครื่องแอร์บัส เอ 380 ลงจอด เพราะผู้โดยสารเยอะ บางทีประตูก็แคบเพราะมีเครื่องบินลำเล็กมาลง วันนี้ถ้าฟังข่าวเขาบอกว่าแอร์บัสกำลังจะเลิกผลิตเอ 380 แล้ว คราวนี้งวงช้างที่ทำรองรับเอ 380  เราจะปรับอย่างไร

สิ่งเหล่านี้ผมกำลังจะบอกว่า ถ้าแบ่งเป็นตามกลุ่มสินค้า กลุ่มสินค้าเอ อยู่ปีกซ้าย กลุ่มสินค้าบี อยู่ปีกขวา วันดีคืนดีเอ 380 ไม่ลงปีกขวาแล้ว แต่เปลี่ยนเป็นเครื่องเล็กมาลง เราจะทำอย่างไร

ดังนั้นจึงต้องเรียนว่าการไหลเวียน หรือ flow ของผู้โดยสารของสนามบินนั้นคาดเดายากว่าจะเปลี่ยนไปทางไหน flow ของผู้โดยสารจะเปลี่ยนไปอย่างไรในอนาคต  อันนี้ยังไม่รวม สมมุติว่าถ้ามีเครื่องบินรุ่นที่ลงได้ทั้งปีกซ้ายและปีกขวาแต่คน ทอท. ให้ไปลงทางขวา ก็จะมีการร้องเรียนว่าคน ทอท. เอื้อประโยชน์กับคนที่ได้พื้นที่ทางขวา แบบนี้ก็ตายครับ

ด้วยเหตุผลประการทั้งปวง บอร์ดทอท.ก็เลยบอกว่าถ้าเช่นนั้นขอพบกันครึ่งทางก็แล้วกัน ฟังกระแสสังคมเราก็ฟัง และก็ไม่อยากให้มีผูกขาดคนเดียว ก็เลยเลือกเปิดกว้างด้าน pick up counter แล้วเราก็มาบริหารด้วยเหตุผลที่กล่าวมา สุดท้ายต้องเป็นรายเดียว

อันนี้คือเหตุผลที่ว่า ทำไม ทอท. ถึงไม่แบ่งตามกลุ่มสินค้า หรือ by category

@แล้วเหตุผลในประเด็นเรื่องการผูก หรือ bundle 4 สนามบินอยู่ในสัญญาเดียวกัน

คราวนี้มาเรื่องการผูก 4 ท่าอากาศยานรวมกันเป็น 1 สัญญานั้นเป็นเพราะว่าบางท่าอากาศยานแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะทำดิวตี้ฟรี โดยใน 4 ท่าอากาศยานนี้มีสุวรรณภูมิใหญ่สุดด้วยส่วนแบ่งประมาณ 82% ของยอดขายทั้งหมด ท่าอากาศยานที่เล็กสุดคือ หาดใหญ่ มีสัดส่วนอยู่ที่ .04%% หรือแทบจะไม่มีเลย เรียกว่าในเชิงธุรกิจแล้วแทบเป็นไปไม่ได้เลย ส่วนท่าอากาศยานภูเก็ต และเชียงใหม่ 2 แห่งผมรวมกันที่ 18%

ถ้าเป็นเช่นนี้ ถามว่าหากแยกสัญญา ท่าอากาศยานในภูมิภาคเหล่านี้มีโอกาสที่จะมีสินค้าแบรนด์เนมขายไหมเราก็ประเมินว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เช่นกัน

ก่อนที่เราจะสรุปเราก็มีสมมิตฐานว่าควรจะแยกหรือรวม แต่ที่เราแยกหนึ่งในเหตุผลคือ หาดใหญ่เป็นไปไม่ได้ หรือจะเอาภูเก็ต หาดใหญ่ เชียงใหม่ ไปรวมกัน 1 สัญญา แล้วแยกสุวรรณภูมอีกมา 1 สัญญา  อันนี้ก็เป็นอะไรที่เราศึกษา ก็ปรากฎว่า ถ้าแยกท่าอากาศยานในภูมิภาคก็คงมีโลคอลแบรนด์ที่มาลง

ทอท. เองก็กลับมาดูว่าบิสซิเนสโมเดลเราจะเป็นอย่างไร เราจะเป็นการกระจายรายได้ หรือเป็นการหาแชมเปี้ยนไปแข่งโอลิมปิค เพราะถือว่าธุรกิจดิวตี้ฟรีนี้เราต้องชกกับเวทีระดับโลก ฉะนั้นเราจะหาตัวแทนทีมชาติไทยคนเดียวที่แข็งแรงที่สุดไปแข่งโอลิมปิก

ทั้งนี้ เพื่อให้ท่าอากาศยานในภูมิภาคทั้ง 3 แห่งของไทยมีแบรนด์เนมขายเหมือนที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพราะเวลาผู้ประกอบการสั่งเขาต้องสั่งมาเป็นล็อตที่สุวรรณภูมิอยู่แล้ว เขาสามารถกระจายไปที่เชียงใหม่ หรือภูเก็ต และหาดใหญ่ได้

ส่วนโมเดลการกระจายรายได้นั้นปัจจุบัน ทอท. ก็มีโมเดลการกระจายรายได้ตามท่าอากาศยานในต่างจังหวัดอื่นอยู่แล้ว

ดังนั้นในประเด็นเรืองการผูก 4 ท่าอากาศยานเข้าเป็น 1 สัญญานั้น ถ้าเราปักหมุดว่าเราจะแข่งกับเวทีโลก ทอท. ยืนยันว่าทีโออาร์ที่ออกไปถูกแล้ว แต่ความเห็นคนอาจไม่ตรงกันก็ว่ากันไป

เพราะคนเขาเดินทางมาทรานซิสเขาต้องตัดสินใจว่าเขาจะซื้อสินค้าที่ต้นทางหรือปลายทาง ถ้าต้นทางเรามีแต่โลคอลแบรนด์เราก็จะเสียโอกาส เพราะไม่มีแบรนด์เนม เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น คนที่เดินทางจากเยอรมนมีาทรานซิสที่สุวรรรณภูมิ หรือที่ภูเก็ตเพื่อเดินทางต่อไปเกาหลีเขากำลังตัดสินใจว่าจะซื้อแบล็กเลเบิ้ลที่สุวรรณภูมิ หรือภูเก็ต หรือที่เกาหลีดีกว่ากัน

@ไทม์ไลน์ในการประมูลรอบนี้วางไว้อย่างไรบ้าง

เราประกาศในหนังสือพิมพ์ 7 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา และกำหนดวันให้คนมาซื้อซอง 14 วัน  และให้เขาไปทำข้อเสนอ หรือ proposal บริหารอีก 1 เดือน  รวม 50 วัน ฉะนั้นใครอยากทำ proposal ได้เร็วก็มาซื้อซองให้เร็ว

อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าสิ่งที่ ทอท. กังวล (concern) คือ เราก็อยากให้มีดิวตี้ฟรีหลายๆ ราย ไม่อยากให้มีรายเดียวเลย ซึ่งก็ย้ำว่า ตอนนี้ทุกคนลงทุนดาวน์ทาวน์ดิวตี้ฟรีได้อย่างเสรีแล้ว

ส่วนกระบวนการทั้งหมด ผมคาดหวังว่าน่าจะเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเราระบุไว้วันที่ 10 พฤษภาคม แต่ผมก็ไม่รู้ว่าจะมีร้องเรียนหรือเปล่า ก็พยายามมองว่าถ้าดวงดี ไม่มีร้องเรียน ก็เข้าบอร์ดได้เลย แต่ถ้ามีร้องเรียนต่างๆ เราต้องชี้แจงเพิ่มก็จะพยายามให้เข้าบอร์ดไม่เกินเดือนมิถุนายน แต่ถ้าได้พฤษภาคมเลยก็จบครับ ไม่อยากให้ยื้อเยื้อ

@สำหรับ pick up counter นั้นได้ยินว่ามีผู้ตรวจการรัฐสภาได้ออกจดหมายระบุว่าห้ามไม่ให้ผู้ที่ชนะประมูลดิวตี้ฟรีเข้าร่วมประมูลนั้นข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ส่วนตัวได้เห็นหนังสือดังกล่าวหรือยัง

ต้องเรียนว่า ในส่วนของ pick up counter นั้นเรายังไม่ได้พิจารณา ถ้าฟังข้อมูลทั้งหมดที่ผมอธิบายมาจะเห็นว่าสิ่งที่บอร์ดกังวลคือ ประเด็นว่าจะผูกขาดคนเดียว ซึ่งเรื่องนี้เราเพิ่งมาเคาะกันเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งวันนั้นบอร์ดเห็นทีโออาร์แล้ว พอเห็นว่าเป็นสัมปทานแบบรายเดียวก็ซักผมเยอะมากว่าทำไมไม่เป็นตามกลุ่มสินค้า ตามที่มีสังคมคอมเม้นท์ และทำไมถึงมารวม 4 ท่าอากาศยานเข้าด้วยกัน

ทุกอย่างผมก็อธิบายไปตามที่เล่าให้ทาง “ประชาชาติธุรกิจ” ฟังไปทั้งหมดแล้ว

ดังนั้น บอร์ดก็เลยมีมติและกำชับว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น pick up counter ต้องเปิดกว้าง เพราะบอร์ดเป็นห่วงเรื่องการผูกขาดมาก และผมก็เพิ่งรับปากบอร์ดเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเช่นกัน แต่ถึงวันนี้ก็มัวแต่ยุ่งเรื่องทีโออาร์ เลยยังไม่ได้ดูรายละเอียดเรื่อง pick up counter

ส่วนประเด็นที่ว่า ผู้ตรวจการรัฐสภามีหนังสือออกมานั้น ส่วนตัวผมยังไม่เห็น แต่ประเด็นคือว่าก็ต้องดูตามอำนาจหน้าที่ สมมุตินะครับว่า…ผมไม่ได้พูดถึงผู้ตรวจการนะครับ สมมุติใครมีอำนาจสั่งแล้วเกิดคนที่เสียผลประโยชน์เขาร้องเรียนเขาก็จะไปร้องเรียนคนที่สั่ง ในทางกลับกันใครก็แล้วแต่มาสั่งผม แล้วผมทำตาม ตอนเกิดคดีแล้วคดีอยู่ที่ผมมันก็ไม่ถูก ถูกไหมครับ

ฉะนั้นต้องดูว่าคนที่สั่งนั้นเขามีอำนวจในการสั่งหรือเปล่า อันนี้ผมไม่ได้ดูถูกนะครับ เพราะว่าถ้ารับชอบก็ต้องรับผิดด้วย ฉะนั้นเวลามีคอมมเมนต์อะไรมาเราก็ต้องส่งฝ่ายกฎหมายว่าเป็นคำสั่งของใคร อย่างไร ก็ว่ากันไปนะครับ

ถ้าคอมเม้นต์มีกฎหมายรองรับเราก็ยินดีปฏิบัติตามกฎหมายที่รองรับ ถ้าไม่มีกฎหมายเราก็ต้องมาดูว่าคนเสียผลประโยชน์เขาร้องเรียนมาเราจะตั้งหลักอย่างไร คือ ถ้ามีกฎหมายรองรับ เรายินดีทำตามกฎหมายแน่นอน

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!