‘สุโขทัย’ ต้นแบบท่องเที่ยวเชิงอาหาร หนุน ‘อาหารท้องถิ่น’ ปั้นรายได้ชุมชน

ปัจจุบันการท่องเที่ยวเชิงอาหาร หรือ Gastronomy Tourism ได้กลายมาเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวโลกไปเรียบร้อยแล้ว เพราะการท่องเที่ยวเชิงอาหารเป็นการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงลึกซึ้งไปถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ที่แปลกใหม่ ผ่านการสัมผัสวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในชุมชน

อีกทั้งยังมีพลังในการกระจายรายได้สู่ชุมชน ที่สำคัญ ว่ากันว่าค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวประมาณ 1 ใน 3 ของการเดินทาง เป็นการจับจ่ายเรื่องอาหาร

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและแนวโน้มของการท่องเที่ยวเชิงอาหารว่าจะเป็นเครื่องมือในการช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชน จึงได้ร่วมสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย หรือทีต้า (TEATA) พัฒนาต่อยอดการท่องเที่ยวเชิงอาหารด้วยการใช้ตลาดเชิงกลยุทธ์และการมีส่วนร่วม โดยเลือกจังหวัด สุโขทัย มาเป็นเมืองต้นแบบสำหรับส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร

ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการ อพท. ให้ข้อมูลว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวนี้ อพท.ได้ใช้องค์ความรู้ด้านการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน นำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาการท่องเที่ยว และสร้างการเชื่อมต่อกับผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทนำเที่ยวด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์ตลาด และสามารถนำไปขายในตลาดท่องเที่ยวได้จริง

พร้อมทั้งนำเกณฑ์มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลมาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวในระดับท้องถิ่น สามารถบริหารจัดการการท่องเที่ยวได้อย่างเป็นระบบ

“ทวีพงษ์” บอกว่า ก่อนหน้านี้ อพท.เคยพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหารแห่งแรกที่จังหวัดกำแพงเพชร โดยเข้าไปศึกษาและวิเคราะห์อัตลักษณ์วัฒนธรรมอาหารพื้นถิ่นของจังหวัดกำแพงเพชร คือ บะหมี่ชากังราว ให้เป็นสัญลักษณ์ในการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวของจังหวัด และเพิ่มมูลค่าทางการท่องเที่ยวเชิงอาหาร และจะนำไปสู่มิติของความยั่งยืนของชุมชน

สำหรับปีนี้ อพท.เลือกจังหวัดสุโขทัยมาเป็นต้นแบบ เพราะเล็งเห็นถึงศักยภาพและความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีอาหารอร่อยขึ้นชื่อ มีอัตลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น และไม่สามารถหารับประทานที่อื่นได้

โดย อพท. และทีต้า ได้นำเสนอเส้นทางท่องเที่ยว 4 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.Evening Countryside Sunset Tour เส้นทางชมเมือง 2.Ancient Sukhothai Dessert Hopping เส้นทางขนมหวาน 3.Sawankhalok Art & Food Tour เส้นทางอาหารและศิลปะ และ 4.Historical Sukhothai Food Tour by Local Truck นั่งรถท้องถิ่นชิมอาหารพื้นถิ่น

โดยก่อนนำเสนอขายจริง ทาง อพท.และทีต้า ได้นำสื่อและบริษัทนำเที่ยวลงพื้นที่สำรวจเส้นทางเพื่อนำไปปรับปรุงก่อนเสนอขายต่อนักท่องเที่ยว ซึ่งเป้าหมายหลักจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยวคนไทยที่สนใจ รวมทั้งทำให้ชุมชนในท้องถิ่นได้ทดลองนำเสนอผลิตภัณฑ์และการให้บริการจริง เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และสัมผัสประสบการณ์จริง สามารถนำไปปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ สำหรับให้บริการกับนักท่องเที่ยวจริงต่อไปได้

ทวีพงษ์ ยังบอกด้วยว่า เชื่อว่ากิจกรรมดังกล่าวนี้จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาสัมผัสประสบการณ์การทำอาหารและลิ้มลองรสชาติ ความอร่อยตามเอกลักษณ์ของจังหวัดสุโขทัย ชุมชนเห็นคุณค่าของอาหารประจำถิ่นซึ่งมีความเป็นอัตลักษณ์ เกิดเป็นการอนุรักษ์ สืบสานวัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่งดงามให้คงอยู่ในชุมชน เกิดเป็นการสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชนอีกทางหนึ่ง

ขณะที่นักท่องเที่ยวเมื่อเกิดความประทับใจก็จะเกิดการบอกต่อและกลับมาเที่ยวซ้ำ สร้างรายได้เพิ่มให้แก่ชุมชนอย่างแท้จริง


พร้อมทั้งทิ้งท้ายด้วยว่า หากโครงการที่สุโขทัยประสบความสำเร็จ อพท.ก็พร้อมนำโมเดลนี้ไปเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่น ๆ ต่อไปด้วย