สารพัด “ปัจจัยลบ” ทุบอุตฯท่องเที่ยวปี’62 กระอัก !

จากรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาระบุว่า ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา (มกราคม-มิถุนายน 2562) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย จำนวน 19.6 ล้านคน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และสร้างรายได้คิดเป็นมูลค่า 1.01 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.3%

“อินเดีย” มาแรง

โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีจำนวนมากที่สุดสูงสุด 3 อันดับแรก คือ จีน รองลงมา คือ มาเลเซีย และอินเดีย ตามลำดับ เรียกว่าในเชิงจำนวนนักท่องเที่ยว จีนยังคงเป็นตลาดที่มีจำนวนมากที่สุด คิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ผลจากมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าหน้าด่านตรวจคนเข้าเมือง (visa on arrival) ได้ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวชาวอินเดียเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีจำนวนถึง 1.8 แสนคน ขยายตัว 22.2%

ขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวอินเดียยังเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพค่อนข้างสูง มีการใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ราว 50,000 บาทต่อคนต่อครั้ง ซึ่งสูงกว่าการเดินทางต่อครั้งของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วไป ที่มีการใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 45,000 บาทต่อคนต่อครั้ง

ขณะที่ตลาดในประเทศ หรือไทยเที่ยวไทย พบว่าคนไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ 76 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้คิดเป็นมูลค่า 5.4 แสนล้านบาทขยายตัวเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปีก่อนและจังหวัดที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยขยายตัวสูงสุด 3 อันดับแรก คือขอนแก่น ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.44% ตามด้วย บุรีรัมย์ ขยายตัว 5.69% และจันทบุรี ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.24% ตามลำดับ

ครึ่งปีแรกรายได้ 1.55 ล้านล้าน

ทั้งนี้ หากประเมินรายได้รวมทั้งหมดพบว่าในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยสร้างรายได้ให้กับประเทศรวม 1.55 ล้านล้านบาท

“โชติ ตราชู” ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า สถานการณ์ท่องเที่ยวในครึ่งปีแรกที่ผ่านมาพบว่า อัตราการเติบโตด้านการท่องเที่ยวของไทยยังอยู่ในภาวะทรงตัว ประกอบกับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา การท่องเที่ยวของไทยเริ่มเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซั่น

โดยเชื่อว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวจะกลับมาเติบโตได้ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เนื่องจากบรรยากาศจะเริ่มกลับเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวอีกครั้งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ประกอบกับรัฐบาลใหม่อาจมีมาตรการต่าง ๆ ออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอีกเป็นระยะด้วยสั่งจับตาสถานการณ์ใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มดังกล่าวนี้ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯมองว่า ควรต้องเฝ้าจับตาดูสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการเดินทางท่องเที่ยวขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งภายในประเทศและภายในนอกประเทศ รวมถึงความกังวลและความเชื่อมั่นในเชิงจิตวิทยา

โดยคาดว่าประเทศไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท (จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะมีรายได้รวมที่ประมาณ 3.4 ล้านล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 4.3% โดยแบ่งเป็นนักท่องเที่ยว ชาวต่างชาติที่ราว 2.1 ล้านล้านบาท และรายได้จากการท่องเที่ยวภายในประเทศ 1.1 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ ตัวเลขประมาณการดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่คาดการณ์ว่า ตลอดทั้งปี 2562 นี้ ประเทศไทยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวที่ประมาณ 40.06 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.35% เมื่อเทียบ กับปีที่ผ่านมา และสร้างรายได้ที่ประมาณ 2.13 ล้านล้านบาท

ขณะที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ว่าในปี 2562 นี้ ประเทศไทยจะมีรายได้รวมจากการท่องเที่ยวที่ 3.38 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 9.5% แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.21 ล้านล้านบาท และรายได้จากการท่องเที่ยวภายในประเทศ 1.17 ล้านล้านบาท

ใช้รถสาธารณะลดลงกว่า 50%

การลดลงของปริมาณนักท่องเที่ยวยังสะท้อนผ่านปริมาณการใช้รถสาธารณะด้วย โดยสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย(สปข.) ได้ออกจดหมายเตือนผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกให้ระมัดระวังในการทำธุรกิจให้มากยิ่งขึ้น โดย “ดร.วสุเชษฐ์ โสภณเสถียร” นายก สปข.บอกว่า จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงและการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวภายในประเทศลดลง

รวมถึงการเดินทางของหน่วยงานภาครัฐไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานของกระทรวง ทบวง กรม รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ได้รับคำสั่งให้ชะลอการเดินทาง ส่งผลให้ภาคตลาดการใช้รถโดยสารเพื่อสาธารณะหายไปกว่า 50% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ประกอบกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่ซบเซา ทำให้คาดการณ์ได้ว่าจะส่งผลให้ธุรกิจการท่องเที่ยวโดยรถโดยสารลดลง โอกาสที่ผู้ประกอบการจะประสบกับปัญหา NPL ค่อนข้างสูง อีกทั้งกฎระเบียบหน่วยงานภาครัฐที่บังคับใช้ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ จะเป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจด้วย

ปัจจัยเสี่ยง (ยัง) เพียบ

ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯยังกล่าวด้วยว่า ในช่วงครึ่งปีหลังนี้สถานการณ์โดยรวมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงค่อนข้างมาก เช่น การแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของค่าเงินบาท, การชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวที่มีความอ่อนไหวด้านรายได้และราคา

รวมถึงการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวที่รุนแรง เช่น การดึงดูดนักท่องเที่ยวยุโรปของประเทศตุรกี และการดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนของประเทศญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม เป็นต้น

ในทางกลับกันก็ยังมีปัจจัยสนับสนุนเช่นกัน อาทิ มาตรการต่าง ๆ เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวจากรัฐบาลใหม่, การคลี่คลายของปัญหาสงครามการค้าจีน-สหรัฐ การฟื้นตัวของตลาดท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสสุดท้าย และความมั่นคงทางการเมืองภายในประเทศ

ดังนั้นประเทศไทยควรส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านมาตรการสิทธิประโยชน์ด้านภาษี และกิจกรรมการตลาดในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ขยายระยะเวลาการคืนภาษีให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ, เพิ่มจุดคืนภาษี (VAT refund) ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ, ประชาสัมพันธ์เมืองหลักควบคู่เมืองรอง เป็นต้น